ชะตากรรมตำรวจบนเกาะ Guernsey ที่ขโมยของจากนาซี เอามาแจกพลเรือนช่วงอาหารขาดแคลน

ภาพประกอบเนื้อหา - กองทัพนาซีเยอรมันเดิน parade ใน Saarland เมื่อ 1 มีนาคม 1935 ภาพจาก FRANCE PRESSE VOIR / AFP

ในช่วงที่กองทัพนาซีเข้ายึดครองเกาะเกิร์นซีย์ (Guernsey) หนึ่งในหมู่เกาะแชนเนล (Chanel Island) มีกลุ่มตำรวจที่กล้าขโมยข้าวของจากนาซี เพื่อแจกจ่ายให้พลเรือนแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร แน่นอนว่า หลายคนถูกจับและถูกส่งตัวไปใช้แรงงานในค่ายที่อยู่ในการควบคุมของนาซี แต่ยังมีผู้รอดชีวิตอยู่ แม้จะไม่มากนัก

เกาะเกิร์นซีย์ เป็นเกาะหนึ่งใน 4 เกาะหลักในหมู่เกาะแชนเนล (Chanel Island) ที่เหลือคือ เจอร์ซีย์ (Jersey), อัลเดอร์นีย์ (Alderney) และ ซาร์ก (Sark) เกาะเกิร์นซีย์ ถือเป็นดินแดนปกครองตนเอง มีสถานะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของราชวงศ์แห่งบริติช แต่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในสหราชอาณาจักร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ที่อาศัยบนเกาะจำนวนมากเดินทางหลบหนีเข้ามาในอังกฤษก่อนหน้าทหารเยอรมันจะเข้ายึดครองเกาะระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 1940 ถึง พฤษภาคม ปี 1945

ระหว่างอยู่ภายใต้การยึดครองของนาซีเยอรมัน ช่วงปี 1941-1942 รายงานข่าวจากสำนักข่าว BBC เปิดเผยว่า ประชาชนประสบปัญหาอาหารขาดแคลน ตรงกันข้ามกับความเป็นอยู่ของชาวเยอรมันที่มีอาหารครบถ้วนสมบูรณ์

รายงานข่าวอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.จิลลีย์ คาร์ (Gilly Car) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ซึ่งใช้เวลาศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับหมู่เกาะแชนเนลภายใต้การยึดครองของนาซี ดร.จิลลีย์ ชี้ว่า การกระทำอันน่าเสื่อมเสียเกิดขึ้นกับบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่แพ้เหล่าพลเรือนในเกาะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกบังคับให้ทำความเคารพเจ้าหน้าที่จากเยอรมนี

รายงานข่าวยังระบุพฤติกรรมของ คิงสตัน เบลีย์ (Kingston Bailey) และแฟรงค์ ทัค (Frank Tuck) สองนายตำรวจที่เคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพซึ่งเข้ามายึดครองเกาะโดยนำทรายไปใส่ในพาหนะของฝ่ายตรงข้าม และพ่นสี “V” (for victory) เป็นเชิงสัญลักษณ์ไปรอบเกาะ

ช่วงเวลานั้น ปรากฏนายตำรวจกลุ่มหนึ่งถูกส่งตัวไปยังค่ายแรงงานในยุโรปที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนาซี ด้วยข้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรม อาทิ ขโมยอาหารจากฝั่งเยอรมันเพื่อบรรเทาปัญหาอาหารขาดแคลนบนเกาะ บางรายไม่รอดชีวิตกลับมาเนื่องมาจากได้รับบาดเจ็บหรือป่วยเป็นโรคต่างๆ หลายคนยังมีสถานะเป็น “อาชญากร” และไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ทายาทของพวกเขาที่เชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงพยายามเคลื่อนไหวเพื่อกู้ชื่อคนในตระกูลกลับมา

รายงานข่าวจาก BBC อธิบายว่า คิงสตัน และแฟรงค์ ยังปฏิบัติการบุกรุกร้านขายสิ่งของต่างๆ เพื่อหยิบฉวยอาหารไปแบ่งปันกับผู้ที่หิวโหย เอกสารบันทึกความทรงจำของเบลีย์ ว่า เมื่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1942 สถานการณ์เริ่มบานปลาย เจ้าหน้าที่ตำรวจแทบทั้งหมดร่วมดำเนินการด้วย

พวกเขาดำเนินการได้ไม่นานก็ถูกทหารเยอรมันจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ 17 นายยังถูกนำตัวขึ้นศาลแห่งเกิร์นซีย์ บางรายถูกตัดสินมีความผิดในข้อหาขโมยไวน์และเครื่องดื่มจากเจ้าของร้านบนเกาะ รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่เยอรมันหลายรายถูกกล่าวหาว่า ทรมานผู้ถูกดำเนินคดีระหว่างการสอบสวน หลายรายถูกพิจารณาสอบสวนจากทั้งศาลทหารเยอรมนี และศาลเกิร์นซีย์ในพระองค์ (ในเวลานั้นยังถือเป็นศาลของบริติชอยู่) พวกเขาถูกลงโทษให้ไปใช้แรงงานหนักในค่ายเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง

มีข้อมูลปรากฏว่า ตำรวจ 16 นายถูกส่งตัวไปเรือนจำ และถูกใช้แรงงานในแคมป์ที่อยู่ในยุโรป หลายรายอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ บันทึกของทัค ส่วนหนึ่งเล่าว่า เขาถูกผู้คุมเตะ และทุบตี

ทัค เล่าถึงสภาพของเฮอร์เบิร์ต สมิธ ที่เสียชีวิตไปว่า “ขาดอาหารและเครื่องนุ่งห่มในช่วงที่อากาศหนาวมาก” และ “ถูกทุบตีด้วยอุปกรณ์อย่างพลั่ว” สมิธ ถูกปล่อยให้เสียชีวิตอยู่ในเรือนจำของเกสตาโป (ตำรวจลับยุคนาซี)

เมื่อสงครามจบลง ข้อหาที่ผู้ต้องหาเหล่านี้ได้รับทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับเข้ารับตำแหน่งตำรวจหรือขอรับบำเหน็จบำนาญ ลูกชายของชาร์ลส เฟรนด์ (Charles Friend) นายตำรวจรายหนึ่งเล่าถึงความขุ่นเคืองใจที่พ่อของเขารู้สึกต่อเจ้าหน้าที่บนเกาะเกิร์นซีย์ เนื่องจากพ่อของเขาถูกบอกว่า “พวกเขาจะหาทางออกให้เมื่อถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว พ่อของเขารู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่เหล่านี้หลอกลวงโดยไม่ทำตามคำสัญญา

“ผมเห็นว่าพวกเขาทำพฤติกรรมแนวโรบิดฮูด ซึ่งไม่ใช่อาชญากรรมในข้อหาทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว มันเป็นไปเพื่อเลี้ยงปากท้องผู้หิวโหย และในฐานะตำรวจ พวกเขาอยู่ในฐานะที่ทำอะไรแบบนั้น” คีธ เฟรนด์ ลูกชายของชาร์ลส แสดงความคิดเห็นในบทสัมภาษณ์ของ BBC

รายงานข่าวเผยว่า หลังสงครามจบลง ตำรวจส่วนใหญ่ยื่นเรื่องถึงรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกเพื่อขอรับค่าชดเชย ในปี 1955 มีผู้ยื่นเรื่อง 8 รายที่ล้มเหลวจากการยื่นเรื่องอุทธรณ์ในเกือบทุกข้อหา ในปี 2018 มีความพยายามยื่นเรื่องถึงสภาองคมนตรีเพื่อให้นำเรื่องในปี 1955 กลับมาพิจารณาใหม่สำหรับผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย กระทั่งในปี 2020 การยื่นเรื่องถูกปฏิเสธเมื่อเดือนมีนาคม เรื่องนี้ถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการทางกฎหมายของสภาองคมนตรีซึ่งถือเป็นระดับขั้นสูงสุดของการยื่นเรื่องสำหรับพื้นที่ภายใต้ความรับผิดชอบในบริติช

สภาองคมนตรีให้เหตุผลว่า “การจัดการเรื่องนี้มีความยากลำบากหลายประการ รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อให้นำมาสู่การรับสารภาพน่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาถึงสภาองคมนตรีในปี 1955 แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้น”

คีธ เฟรนด์ แสดงความผิดหวังต่อเรื่องนี้ และมองว่าเป็นเรื่องอยุติธรรมที่ครอบครัวเขายังมีความด่างพร้อยซึ่งไม่ควรจะมีอยู่แล้ว

“มันไม่สำคัญว่าพวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว บันทึกข้อมูลทางคดีเหล่านั้นมันยังปรากฏอยู่” เฟรนด์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

Clahane, Patrick. “The ‘Robin Hood’ policemen who stole from the Nazis”. BBC. Online. Published 29 NOV 2020. Access 7 DEC 2020. <https://www.bbc.com/news/world-europe-guernsey-54106579>

https://www.britannica.com/place/Guernsey-island-and-bailiwick-Channel-Islands-English-Channel

https://www.britannica.com/place/Channel-Islands-English-Channel


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2563