“พระยาสัจจาภิรมย์” เจ้าเมืองหัวก้าวหน้า กับปัญหาราชการ สั่งงานแต่ไม่มีงบ-ไม่ยอมให้เบิก

พระยาสัจจาภิรมย์อุมราชภักดี ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2467 ประกอบกับฉากหลัง
พระยาสัจจาภิรมย์อุมราชภักดี ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2467 ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหา

“พระยาสัจจาภิรมย์ อุดมราชภักดี” เป็นข้าราชการในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีความสามารถทั้งด้านการปกครอง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เป็นคนเก่ง กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เรียกได้ว่าเป็นข้าราชการยุคใหม่ มีความคิดหัวก้าวหน้า ไม่ยึดติดกับระเบียบแบบแผนของระบบราชการ จนบางครั้งท่านได้ฝ่าฝืนกฎระเบียบบางประการ เพื่อแก้ไขเรื่องฉุกเฉิน โดยไม่สนใจว่าตนเองจะได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจถึงขั้นถูกปลดจากตำแหน่งราชการ

พระยาสัจจาภิรมย์ หรือ สรวง ศรีเพ็ญ เกิดเมื่อปี 2427 ท่านเริ่มเข้ารับราชการเมื่ออายุได้เพียง 15 ปีเท่านั้น โดยเริ่มเป็นเสมียนกองมหาดไทย เมืองนครนายก ด้วยเป็นคนขยันศึกษาหาความรู้ จึงก้าวหน้าในทางราชการรวดเร็วกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกัน พระยาสัจจาภิรมย์รับราชการถึงที่ “เจ้าเมือง” (ฉะเชิงเทรา) ในปี 2457 นับว่าเป็นเจ้าเมืองที่มีอายุน้อยกว่าใคร ๆ ในสมัยนั้น และยังได้เป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ เช่น ราชบุรี อุทัยธานี ชลบุรี ชุมพร

Advertisement

ในหนังสือ “เล่าให้ลูกฟัง” บันทึกชีวประวัติของพระยาสัจจาภิรมย์ ได้ฉายให้เห็นชีวิตราชการของท่าน ที่ต้องฝ่าฝืนกฎระเบียบทางราชการอย่างน้อยถึง 3 ครั้งด้วยกัน ดังนี้

ครั้งแรก ในปี 2459 ขณะที่พระยาสัจจาภิรมย์เป็นเจ้าเมืองราชบุรี รัชกาลที่ 6 ทรงนำเสือป่ามาซ้อมรบที่บ้านโป่ง พระยาสัจจาภิรมย์จึงมีหน้าที่จัดเตรียมสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ ตลอดจนข้าราชบริพารและเสือป่านับร้อยชีวิต ซึ่งนับเป็นงานใหญ่มิใช่น้อย จึงทำให้ขาดแคลนแรงงาน พระยาสัจจาภิรมย์จึงเกณฑ์นักโทษ (ซึ่งมีโทษไม่ร้ายแรง) จากเรือนจำเมืองราชบุรีมาใช้แรงงานต่าง ๆ เช่น สร้างสนามฟุตบอล และสร้างเรือนพักสำหรับเสือป่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงนครบาลทราบเรื่องจึงได้ส่งหนังสือตำหนิพระยาสัจจาภิรมย์ว่า กระทำความผิดตามพ.ร.บ.เรือนจำ เพราะเจ้าเมืองไม่มีอำนาจย้ายนักโทษไปนอกเรือนจำได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงนครบาล

พระยาสัจจาภิรมย์ได้แต่นิ่งเฉยเสียไว้ก่อน เพราะยังอยู่ในระหว่างซ้อมรบเสือป่า จนเมื่อได้เข้ากรุงเทพฯ จึงเข้าไปชี้แจงต่อกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมก็ตำหนิ แต่ก็ยอมให้พระยาสัจจาภิรมย์เสียครั้งหนึ่ง เพราะท่านก็ยอมรับผิดและว่าจะไม่ทำผิดซ้ำ

ในปีถัดมา รัชกาลที่ 6 ทรงนำเสือป่ามาซ้อมรบที่บ้านโป่งอีกครั้ง ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พระยาสัจจาภิรมย์ทำการซ่อมสนามฟุตบอล ท่านก็เกณฑ์นักโทษไปทำ และยังตั้งกองปราบสุนัข โดยให้นักโทษทำหน้าที่ถือกระบองคอยไล่สุนัขจากภายนอกที่มักจะเข้ามารบกวนสุนัขของรัชกาลที่ 6

เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงบครบาลจึงเรียกพระยาสัจจาภิรมย์มาพบ และตำหนิเรื่องการกระทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 พระยาสัจจาภิรมย์นั่งฟังเทศน์ครั้งใหญ่จบจึงกราบเรียนเสนาบดีว่า “กระผมทราบว่าเป็นความผิด แต่ไม่ใช่เป็นการทุจริตฉ้อโกงเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว…ที่กระผมทำครั้งนี้เพราะความจำเป็นจริง ๆ ทางการสั่งให้ทำโน่นทำนี่ แต่เงินไม่มีจ่ายให้ สั่งว่าทำแล้วให้เบิกเอา ครั้นตั้งเบิกไปก็ยังไม่จ่าย จนกระผมต้องเป็นหนี้พวกพ่อค้าอยู่เวลานี้มิใช่น้อย เงินส่วนตัวนั้นก็ทดรองจนหมดแทบจะไม่มีซื้อกิน เช่น ในหลวงสั่งให้ทำสนามฟุตบอลข้างพระที่นั่ง เงินก็ไม่ให้ จะเกณฑ์จ้าง เงินก็ไม่มีจ่าย เกณฑ์เฉย ๆ เล่าก็เป็นความผิดอีก นี่แหละขอรับกระผม เป็นการจำเป็นดังนี้…”

แต่เจ้าพระยายมราชยืนกรานให้ส่งนักโทษกลับเรือนจำทันที หากไม่ทำตามพ.ร.บ. กฎหมายก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ พระยาสัจจาภิรมย์ก็รู้สึกฉุนในใจว่า ท่านไม่เห็นอกเห็นใจผู้น้อยบ้างเลย จึงงัด “ไม้ตาย” มาใช้ โดยกล่าวว่า “ถ้าพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถามเรื่องที่พระองค์ท่านได้สั่งให้ทำสนามฟุตบอล กระผมยังทำไม่แล้ว กระผมจำต้องกราบบังคมทูลว่า ใต้เท้ากรุณามาสั่งให้ส่งนักโทษซึ่งเป็นผู้ทำสนามฟุตบอลกลับราชบุรีหมดแล้ว จะเกณฑ์คนก็ผิดพระราชบัญญัติ จะเกณฑ์จ้างก็ไม่มีเงิน กระผมจำต้องกราบบังคมทูลดังนี้แน่ ๆ…”

“ไม้ตาย” ของพระยาสัจจาภิรมย์ คือการอ้าง “ในพระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งทรงมีรับสั่งลงมาถึงพระยาสัจจาภิรมย์ให้ซ่อมสนามฟุตบอลจริง หากพระยาสัจจาภิรมย์นำนักโทษกลับแล้ว จะเอาแรงงานจากที่ไหนทำ ซ้ำเงินจะจ้างก็ไม่มี เจ้าพระยายมราชได้ยินดังนั้นก็นิ่งชั่วครู่ ถามเพื่อความแน่ใจอีกครั้งว่า “ในหลวงสั่งเองหรือ” พระยาสัจจาภิรมย์ก็ยืนยัน เจ้าพระยายมราชจึงยอมให้นักโทษทำงานต่อไปจนเสร็จงาน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงซ้อมรบเสือป่า ณ ค่ายหลวงบ้านไร่ เมืองราชบุรี (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ครั้งที่สอง ในปี 2462 ขณะที่พระยาสัจจาภิรมย์เป็นเจ้าเมืองอุทัยธานี ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดมาแต่เมืองพิษณุโลก ท่านได้พยายามตั้งด่านตรวจสะกัดโรค แต่กระนั้นก็ไม่อาจต้านโรคร้ายนี้ได้ อหิวาตกโรคคร่าคนตายไปกว่า 70 คน แพทย์หลวงได้ใช้ยาน้ำขาวและฉีดน้ำเกลือรักษา ก็พอช่วยเหลือคนที่เพิ่งป่วยช่วงแรก ๆ ได้บ้าง แต่หากคนที่ป่วยหนัก ยาเหล่านี้ก็รักษาไม่ไหว

พระยาสัจจาภิรมย์เคยป่วยอหิวาตกโรคมาก่อน ตอนนั้นท่านถูกรักษาด้วยยาวิสัมพยาใหญ่ เป็นยาน้ำอย่างหนึ่ง กับบรั่นดีอีกอย่างหนึ่ง ท่านจึงให้เงินแก่แพทย์หลวงนำไปซื้อยาขนานนี้มาใช้ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก รักษาชีวิตคนได้มาก นอกจากนั้น พระยาสัจจาภิรมย์ยังได้ให้เก็บสถิติการรักษาด้วยยาทั้งสองขนานนี้ไว้ด้วย ราวเดือนเศษ อหิวาตกโรคจึงหมดไป โดยสรุปแล้วได้ใช้ยาวิสัมพยาใหญ่ 40-50 ขวด ขวดละ 1 บาท และบรั่นดี 25 ขวด ขวดละ 3 บาท รวมเป็นเงินราว 100 บาทเศษ แล้วพระยาสัจจาภิรมย์จึงนำไปเบิกเงินกับกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม กรมสาธารณสุข (ขณะนั้นขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย) ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า การซื้อยาจะต้องซื้อจากโอสถศาลา ซื้อที่อื่นไม่ได้ จนเมื่อพระยาสัจจาภิรมย์เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้าพบเจ้ากรมสาธารณสุข เจ้ากรมได้กางระเบียบให้ดูแล้วบอกว่า เขาห้ามแล้วยังขืนทำ พระยาสัจจาภิรมย์ก็ตอบว่า นั่นเป็นระเบียบปกติยามสงบ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสามัญ จะจ่ายเงินให้ไม่ได้หรือ? เจ้ากรมสาธารณสุขก็ยืนกรานไม่จ่ายเงินให้

พระยาสัจจาภิรมย์จึงเข้าพบเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นำสถิติการรักษามาแสดงให้เห็นว่า ยาน้ำขาวและฉีดน้ำเกลืออย่างของกรมสาธารณสุขนั้น คนตายตก 80% แต่ยาวิสัมพยาใหญ่และบรั่นดี คนหาย 80% แล้วกราบเรียนว่า “กระนั้นท่านเจ้ากรมก็ไม่ยอมสั่งจ่ายเงินค่ายาเพียง 100 กว่าบาทให้เกล้ากระผม จึงตกลงใจออกเงินนี้เป็นส่วนตัว โดยหวังกุศลซึ่งได้ช่วยชีวิตคนไว้ได้หลายสิบคน”

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงเรียกเจ้ากรมสาธารณสุขมาพบ แล้วสั่งโดยทันทีว่า “ให้จ่ายเงินแก่พระยาสัจจา” เมื่อพระยาสัจจาภิรมย์ออกมาพบเจ้ากรมสาธารณสุข เจ้ากรมก็ร้องขึ้นว่า เจ้าคุณฟ้องเอาได้ พระยาสัจจาภิรมย์จึงตอบว่า ผมไม่ได้ฟ้องกรมหรือเจ้าคุณ ผมฟ้องตัวผมเองต่างหากว่า ผมกระทำผิดระเบียบของกรม

การรักษาพยาบาลคนไข้จากอหิวาตกโรคระบาด ไม่ทราบสถานที่ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ศิริราชพยาบาล)

ครั้งที่สาม ปลายปี 2473 ขณะที่พระยาสัจจาภิรมย์เป็นเจ้าเมืองชุมพร ได้เกิดวาตภัยครั้งใหญ่ ส่งผลให้บ้านเรือนพังเสียหาย ปัจจัย 4 ขาดแคลน และมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก พระยาสัจจาภิรมย์และข้าราชการเมืองชุมพรช่วยเหลือราษฎรอย่างสุดความสามารถ บ้านของพระยาสัจจาภิรมย์เองก็ได้แจกจ่ายข้าวสาร เสื้อผ้า เงิน แก่ราษฎร แต่ความเสียหายนั้นมีมาก โดยเฉพาะบ้านเรือนพังเสียหายมิอาจเข้าไปอาศัยได้ ราษฎรต้องนอนตากน้ำค้าง วัดบางแห่งพระต้องนำใบตาลมาทำที่กันน้ำค้าง นอนกันตามพุ่มไม้ก็มี

พระยาสัจจาภิรมย์ซึ่งมีอำนาจในการใช้เงินของราชการเพียง 2,000 บาทก็หมดลง จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่คลังจังหวัดหาเงินนอกบัญชีเงินคงคลังมา แต่ก็ได้มาเพียงไม่กี่ร้อยบาทซึ่งไม่พอใช้จ่ายช่วยเหลือราษฎร จะโทรเลขติดต่อข้อความช่วยเหลือจากกระทรวงหรือมณฑลก็ไม่ได้เพราะสายโทรเลขขาด ซ้ำรถไฟก็หยุดเดิน ดังนั้น พระยาสัจจาภิรมย์จึงเรียกประชุมข้าราชการหลายฝ่าย โดยท่านมีความต้องการสั่งจ่ายเงินคงคลังในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แล้วจะตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาการใช้จ่าย โดยมีท่านเองเป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คลังจังหวัดแย้งว่าผิดกฎและระเบียบการคลัง และกลัวว่าหากตนทำตาม ตนจะถูกไล่ออก พระยาสัจจาภิรมย์จึงอธิบายกับเจ้าหน้าที่คลังผู้นี้ว่า “เขาตั้งเจ้าเมืองมาก็เพื่อจะให้แก้ไขเหตุการณ์ฉุกเฉินโดยใช้สติปัญญาความสามารถ ไม่ใช่ตั้งไว้เพื่อปฏิบัติตามระเบียบอย่างเดียว ถ้าเช่นนั้นเขาคงตั้งคนมีความรู้เพียงชั้นมัธยม 6 มาเป็นเจ้าเมือง เพื่อปฏิบัติกันตามระเบียบข้อบังคับก็พอ แต่นี่มันเป็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของประชาชน จะเอาระเบียบธรรมดามาใช้ไม่ได้”

พระยาสัจจาภิรมย์กล่าวกับเจ้าหน้าที่คลังจังหวัดอย่างหนักแน่นว่า หากเจ้าหน้าที่คลังจังหวัดถูกไล่ออก ท่านก็จะออกด้วย หากเรื่องนี้จะเป็นความผิดก็เป็นเพียงความผิดทางแพ่ง มิใช่อาญาที่ต้องติดคุก ถ้าเจ้าหน้าที่คลังจะต้องชดใช้เงิน 30,000 บาท ท่านก็จะใช้ให้เองทุกบาททุกสตางค์ เจ้าหน้าที่คลังจังหวัดก็เกิดความรู้สึกมั่นใจเจ้าเมืองของตน จึงยินยอมตามความต้องการของพระยาสัจจาภิรมย์

ราชการจึงนำเงินนั้นมาซื้อยาและข้าวสารแจกจ่ายตามท้องที่ต่าง ๆ โดยสุดท้ายแล้วได้ใช้เงินคงคลังไปราว 20,000 บาท ต่อมา พระยาสัจจาภิรมย์ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย บรรยายเหตุการณ์เมืองชุมพรที่เผชิญกัยวาตภัยพร้อมแนบรูปถ่ายประกอบ และขออนุญาตเบิกเงินที่ได้ใช้จ่ายไป ซึ่งภายหลัง กระทรวงมหาดไทยก็อนุญาตให้เบิกเงินนั้นทั้งหมด และไม่ได้มีการตำหนิพระยาสัจจาภิรมย์แต่อย่างใด รวมทั้งยังมีหนังสืออีกฉบับ กล่าวชื่นชมพระยาสัจจาภิรมย์และข้าราชการที่ได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือราษฎรและราชการเป็นอย่างดี

พระยาสัจจาภิรมย์อธิบายความรู้สึกหลังจากเหตุการณ์นี้ว่า “พ่อรู้สึกว่าแต่นั้นมา ข้าราชการโดยมากเพิ่มความนิยมนับถือโดยคุยกันในสโมสรว่า พ่อกล้าเสี่ยงทั้งตำแหน่งหน้าที่ และการเงินทองอย่างน่ากลัว เราจะหานายได้อย่างนี้ยากนัก”

เมื่อพระยาสัจจาภิรมย์ไปเป็นเจ้าเมืองที่ไหน ข้าราชการตลอดจนราษฎรทั่วไปต่างก็รักใคร่ท่านเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ท่านถูกย้ายไปเป็นเจ้าเมืองอื่น ข้าราชการและราษฎรต่างก็พากันเสียดายและเสียใจมาก จึงมักมาร่วมกันส่งท่านโดยพร้อมเพรียง และมอบสิ่งของตอบแทนให้เสมอ บ้างครั้งสิ่งของนั้นก็มีมูลค่ามาก งาช้างหนึ่งคู่ก็มี

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2563