เปิดวิธีเนรเทศนักการเมืองยุคกรีกโบราณพ้นถิ่น 10 ปี ใครโดนขับไล่บ้าง?

รูปปั้นหินอ่อนสัดส่วนครึ่งตัวของ เพริคลีส (Pericles) ฉากหลังคือภาพวาด อโครโพลิส (Acropolis) ภาพจาก Wikimedia Common / public domain

ระบอบการปกครองหลายรูปแบบในทุกวันนี้มีจำนวนไม่น้อยที่พัฒนาต่อยอดมาจากผลผลิตยุคโบราณ สำหรับระบอบประชาธิปไตยในยุคแรกเริ่ม แทบทุกคนย่อมนึกถึงกรีกโบราณ เมื่อครั้งระบอบการปกครองนี้กำลังเริ่มต้นพัฒนา ไม่เพียงแค่ปรากฏหลักฐานเรื่องการมีส่วนร่วมของ “พลเมือง” ในกระบวนการบริหารจัดการทางการเมืองแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีส่วนหนึ่งยังบ่งชี้เรื่องกระบวนการโหวตเนรเทศนักการเมืองออกจากเอเธนส์เป็นเวลา 10 ปี

บทความของ Megan Gannon จากเว็บไซต์ Smithsonian ยกข้อมูลเรื่องการค้นพบทางโบราณคดีในยุค 60s สิ่งที่พบในยุคนั้นคือกองกระดาษลงคะแนนเสียงราว 8,500 ชิ้น ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มจะถูกใช้ในช่วง 471 ปีก่อนคริสตกาลในหลุมแถบเอเธนส์ ชิ้นส่วนในกองนี้คือเศษเครื่องปั้นดินเผาซึ่งถูกแยกชิ้นส่วนอย่างจงใจ หากเทียบกับสิ่งของที่ใช้ในปัจจุบันก็อาจเทียบได้กับกระดาษลงคะแนนเสียงก็ว่าได้

แต่ชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่ค้นพบครั้งนั้นไม่ได้ใช้สำหรับโหวตเลือกคนเข้ามาทำงาน แต่เป็นการลงคะแนนเสียงขับไล่คนออกไปต่างหาก ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นปรากฏชื่อของบุคคลซึ่งผู้ร่วมลงคะแนนต้องการให้ถูกเนรเทศออกจากเมืองเป็นเวลา 10 ปีจารึกลงไปด้วย ชิ้นส่วนที่ใช้ลงคะแนนนี้เรียกกันว่า Ostraca

ชิ้นส่วน ostraca ที่ชาวเอเธนส์สลักชื่อคนที่จะลงคะแนนเสียงขับไล่ออกจากเมือง ในชิ้นส่วนสลักชื่อ Themistocles (ภาพถ่ายไม่ปรากฏเจ้าของชัดเจน ไฟล์ Public Domain)

กระบวนการที่ว่านี้เชื่อกันว่าปรากฏในเอเธนส์ระหว่าง 487-416 ปีก่อนคริสตกาล เป็นกระบวนการที่ “ชาวเอเธนส์” สามารถเนรเทศบุคคลได้โดยไม่ได้ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณา นักประวัติศาสตร์มองกระบวนการนี้เสมือนการหยั่งเสียงเชิงลบจากพลเมือง และเป็นอีกหนึ่งวิธีกำจัด “ทรราช”

บทความยกคำกล่าวของ James Sickinger จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดาที่อธิบายในตอนหนึ่งว่า

“ในยุคแรกๆ มันเหมือนกับถูกใช้ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อาจไม่ได้มีความผิดในข้อหาเชิงอาชญากรรม กรณีนี้จึงไม่สามารถนำคนนั้นขึ้นไต่สวนได้ แต่บุคคลนั้นอาจละเมิดล่วงล้ำมาตรฐานทางสังคมและมีแนวโน้มเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย”

กล่าวได้ว่า กระบวนการนี้เป็นกลไกป้องกันจากบุคคลที่ดูมีแนวโน้มมีอำนาจหรืออิทธิพลมากเกินไป ครั้งหนึ่งเพริคลีส (Pericles) นักการเมืองผู้มากอิทธิพลของเอเธนส์ ก็ยังตกเป็นเป้า แต่เขาไม่เคยถูกโหวตขับไล่ออกจากเมืองได้สำเร็จ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เพริคลีส” ผู้นำคนสำคัญของเอเธนส์ ติดโรคระบาด กระทบเมือง แบ่งฝั่งปชต.-เผด็จการในภายหลัง

ขั้นตอนในกระบวนการนี้ แรกเริ่มชาวเอเธนส์จะต้องลงคะแนนเสียงกันก่อนว่าจะจัด “กระบวนการลงคะแนนเสียงเพื่อเนรเทศ” หรือไม่ หากผลออกมาว่า “ใช่” ชาวเอเธนส์จึงกำหนดวันดำเนินการลงคะแนน

บุคคลที่จะโดนเนรเทศต้องมีผู้ลงคะแนนเสียงอย่างน้อย 6,000 เสียง ซึ่งบทความนี้ระบุด้วยว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีผู้ถูกลงคะแนนเสียงจนโดนเนรเทศสำเร็จหลายคน

ผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงคือ “พลเมือง” ในนครรัฐ ซึ่งยุคนั้นยังไม่ได้หมายรวมถึงสตรี, แรงงานทาส และชาวต่างชาติที่มาพำนักอาศัยในเมือง

อย่างไรก็ตาม การค้นพบหลักฐานชิ้นส่วนที่เขียนชื่อผู้ถูกโหวตในกระบวนการนี้ยังถือว่า เป็นการค้นพบโบราณวัตถุหายาก ชิ้นส่วนที่ใช้ในการลงคะแนนไม่ค่อยถูกพบเห็นในระบอบประชาธิปไตยในเอเธนส์ เมื่อพลเมืองมารวมตัวกันก็มักใช้การชูมือเพื่อแสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อกฎหมาย ขณะที่การคัดเลือกผู้เข้ารับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางการหลายตำแหน่งก็ใช้วิธีคัดเลือกแบบสุ่ม

นับตั้งแต่การค้นพบชิ้นส่วนที่ลงคะแนนเสียงครั้งแรกๆ ในโลกเมื่อปี 1853 ล่วงเลยถึงอีกหลายศตวรรษต่อมา ชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกค้นพบแล้วราว 1,600 ชิ้นในบริเวณแถบเอเธนส์ ในภายหลังทีมนักโบราณคดีเยอรมันยังพบชิ้นส่วนเหล่านี้ในเมือง Kerameikos ซึ่งอยู่ละแวกใกล้เคียงกับเอเธนส์เมื่อปี 1966 เมืองแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องการผลิตเครื่องปั้นดินเผา

ชิ้นส่วนสำหรับใช้ลงคะแนนเสียงทำจากวัสดุหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแจกันในครัวเรือน หรืออาจมีเศษหลังคาบ้าน และโคมไฟเซรามิก การขุดค้นทางโบราณคดีดำเนินเรื่อยมานับจากยุค 60s อีกหลายสิบปี กระทั่งเมื่อปี 2018 มีนักวิชาการเผยแพร่รายงานผลการศึกษาชิ้นส่วนเหล่านี้ รายงานดังกล่าวจัดทำโดย Stefan Brenne จากมหาวิทยาลัยแห่ง Giessen (University of Giessen) มีเนื้อหาอธิบายรายละเอียดของกลุ่มชิ้นส่วนที่ขุดค้นพบราว 9,000 ชิ้นที่ขุดได้จาก Kerameikos ระหว่างปี 1910-2005

กลุ่มชิ้นส่วนที่มีชื่อ Megakles ปรากฏเป็นส่วนใหญ่ ทำให้พอเห็นได้ว่า Megakles เป็นนักการเมืองที่ชาวเอเธนส์ไม่ชอบหน้าเท่าไหร่ และอาจสืบเนื่องมาจากวิถีชีวิตติดหรูและนิสัยชอบโอ้อวดของเขา รายงานอธิบายว่าจากหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์รวบรวมได้ Megakles น่าจะถูกลงคะแนนเสียงขับไล่เมื่อ 486 ปีก่อนคริสตกาล แต่หลักฐานทางโบราณคดีออกมาขัดแย้งกับปีที่ระบุข้างต้น โดยชิ้นส่วนที่ใช้ลงคะแนนและถูกพบใน Kerameikos ปรากฏชื่อบุคคลซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองจนกว่าจะถึงช่วง 470 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่ลักษณะของเศษชิ้นส่วนกลับสอดคล้องกับลักษณะของเครื่องปั้นดินเผายุคต่อจากนั้น

หลักฐานเหล่านี้พอจะนำมาสู่สันนิษฐานว่า Megakles เดินทางกลับมาเอเธนส์ และถูกขับไล่อีกครั้งในช่วง 471 ปีก่อนคริสตกาล

ชื่อของบุคคลอีกรายที่ปรากฏในชิ้นส่วนที่ขุดค้นพบคือ Themistocles ชื่อนี้ค่อนข้างคุ้นหูคนทั่วไปซึ่งจดจำยุทธการสำคัญในประวัติศาสตร์ได้ Themistocles คือนายพลที่สู้รบในยุทธการมาราธอน (Battle of Marathon) และปีต่อมาก็โดนม้วนเข้าไปในกระบวนการลงคะแนนเสียง

นอกจากนามของบุคคลอันโด่งดังและเป็นที่รู้จักแล้ว จากชุดหลักฐานดังกล่าวยังมีรายชื่อของบุคคลอีกกลุ่มซึ่งนักวิชาการไม่คุ้นเคยมาก่อนด้วย นอกจากนี้ หลักฐานที่พบยังช่วยบอกเล่าทัศนคติของชาวเมืองที่มีต่อบุคคลเหล่านั้นได้เช่นกัน

อักษรบนชิ้นส่วนเหล่านั้นมีข้อความอีกว่า

Leagros Glaukonos, slanderer (Leagros Glaukonos, จอมให้ร้าย)

หรือ Callixenus the traitor (Callixenus คนทรยศ)

หรือ Megakles Hippokratous, adulter  (Megakles Hippokratous ผู้เป็นชู้)

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ข้อความว่า “Kimon Miltiadou, take Elpinike and go!” (Kimon Miltiadou, นำ Elpinike ไปด้วยแล้วจากไปซะ”

Stefan Brenne อธิบายว่า Kimon เป็นวีรบุรุษสงครามที่เกิดในตระกูลสูงศักดิ์ และตกเป็นข่าวลือว่าเขามีความสัมพันธ์กับ Elpinike ซึ่งเป็นสตรีที่กำเนิดจากพ่อหรือแม่เดียวกัน ชื่อของ Elpinike เป็นนามของสตรีไม่กี่รายที่ปรากฏในชิ้นส่วนลงคะแนน

มีหลักฐานว่า ชิ้นส่วนหลายชิ้นเขียนด้วยลายมือเดียวกัน หรือมาจากเครื่องปั้นดินเผาชิ้นเดียวกัน สันนิษฐานว่า ชาวเอเธนส์บางรายอาจช่วยเขียนให้คนรู้จัก นอกจากนี้ นักโบราณคดียังพบชิ้นส่วนที่ปรากฏชื่อ Themistocles มีลักษณะเหมือนกับยังไม่เคยถูกใช้งานอยู่จำนวนมากในบ่อน้ำ

บันทึกของ Plutarch ระบุไว้ว่า การลงคะแนนเสียงขับไล่ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 416 ปีก่อนคริสตกาล ครั้งนั้น Alcibiades และ Nicias คู่แข่งทางการเมืองพบว่า พวกเขาตกเป็นเป้าโดนโหวตขับไล่ ทั้งคู่จึงจับมือกันหวังพลิกผลโหวตไปลงที่คู่แข่งรายอื่น เมื่อ Hyperbolus กลายเป็นถูกโหวตให้ขับไล่ออก ดูเหมือนว่าผลลัพธ์ครั้งนี้ยังเป็นจุดจบของกระบวนการนี้ไปด้วย


อ้างอิง:

Gannon, Megan. “Ancient Greeks Voted to Kick Politicians Out of Athens if Enough People Didn’t Like Them”. Smithsonian. Online. Published 27 OCT 2020. Access 28 OCT 2020. <https://www.smithsonianmag.com/history/ancient-athenians-voted-kick-politicians-out-if-enough-people-didnt-them-180976138/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2563