เผยแพร่ |
---|
บรรดารายชื่อผู้นำกรีกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก “เพริคลีส” (Pericles) ชนชั้นผู้นำ(ทางการเมือง)ของเอเธนส์ น่าจะเป็นอีกรายที่ยังอยู่ในความทรงจำของทั้งนักประวัติศาสตร์และผู้สนใจเรื่องราวในอดีตของกรีก เขาคือผู้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้มีอำนาจทางการเมืองของเอเธนส์ แต่จากหลักฐานที่พบ เชื่อว่าเขาติดโรคระบาด ก่อนเสียชีวิตท่ามกลางช่วงสงครามส่งผลต่อสภาพโดยรวมของเอเธนส์ ในยุคนั้น
แหล่งข้อมูลหลายแห่งยกให้ช่วงยุคทองที่วัฒนธรรมชาวเอเธนส์รุ่งเรืองนั้น ห้วงหนึ่งในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การดูแลของเพริคลีส นักการเมือง นายพล เจ้าของวาทะอันลือลั่น และเป็นพลเมืองกลุ่มแรกๆ ในยุคประชาธิปไตยของเอเธนส์ การทำงานของเขาทั้งในแง่การเมืองและการสงครามส่งอิทธิพลต่อตำแหน่งแห่งหนของเอเธนส์อย่างมาก สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงของเอเธนส์อย่าง “อโครโปลิส” (Acropolis) ที่มีวิหารและสถาปัตยกรรมสำคัญบนเนินหินทางตอนเหนือของเมือง เริ่มก่อสร้างในช่วง 447 ปีก่อนคริสตกาล ก็เริ่มก่อสร้างในยุคที่เขามีบทบาท
บทบาทและเส้นทางช่วงต้น
แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าเพริคลีส มีชีวิตระหว่าง 495-429 ปีก่อนคริสตกาล อันเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยในเอเธนส์เริ่มพัฒนาจากรากฐานเดิม ควบคู่ไปกับความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ สถาปัตยกรรม ปรัชญา และโครงสร้างของเมืองกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง
รูปปั้นของเพริคลีสซึ่งหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันมักพบเห็นว่าบนศีรษะมีสวมหมวกเหล็ก Plutarch นักปรัชญากรีกมีความเห็นว่า หมวกนี้เป็นการปกปิดข้อบกพร่องเชิงกายภาพที่คนจดจำและมักนำไปล้อกันว่าเขามีศีรษะขนาดใหญ่ ซึ่งดูเป็นความคิดเห็นที่ไม่มีน้ำหนักเท่าที่ควร เสียงอีกฝั่งหนึ่งมองว่า หมวกเป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำบทบาทเชิง “นายพล” ของเขามากกว่า
ในวัยหนุ่ม เพริคลีส เป็นที่จดจำในฐานะผู้มั่งคั่งและมีการศึกษา อุปถัมภ์สนับสนุนงานด้านศิลปะ จากนั้นในช่วง 461 ปีก่อนคริสตกาลก็เริ่มมีบทบาททางการเมืองจากการเป็นตัวตั้งตัวตีให้ลงคะแนนล้างอำนาจของสภาขุนนางในระบอบเก่า นักวิชาการบางรายมองว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นของยุคประชาธิปไตยแห่งเอเธนส์ โดยหลังจากนั้น เพริคลีส ยังอนุมัตินโยบายจ่ายเงินชดเชยให้ทหาร และเจ้าหน้าที่ทางการที่ได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย นโยบายที่เริ่มปรับเปลี่ยนไปส่งอิทธิพลต่อการเมืองและเชิงสังคมของเอเธนส์ ชนชั้นล่างเริ่มมีบทบาทในฐานะ “พลเมือง” ที่มีทรัพย์สินได้แล้ว
ภายหลังนักการเมืองที่มีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองในเอเธนส์ ถูกลอบสังหาร เพริคลีส จึงก้าวขึ้นมาเป็นนักการเมืองดาวโรจน์อีกราย ซึ่งนับตั้งแต่นั้น เขาจะมีบทบาทในทางการเมืองภายในไปจนถึงการเมืองระดับภูมิภาคตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
แต่บทบาทที่ทำให้เพริคลีส เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือส่วนร่วมกับสันนิบาตเดเลียน (Delian League) อันเป็นการรวมตัวของนครรัฐอื่นๆ ในดินแดนกรีซ เพื่อรับมือกับชาวเปอร์เซีย กระทั่งเมื่อ 449 ปีก่อนคริสตกาล สันนิบาตเดเลียนตกลงสงบศึกเปอร์เซียน นำมาสู่สันติภาพในภูมิภาคราว 2 ทศวรรษ และในช่วงเวลาแห่งความสงบสุข เอเธนส์ก็เริ่มก่อสร้างกลุ่มสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่าแถบ “อโครโปลิส” เมื่อ 447 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งยังหลงเหลือซากให้เห็นจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรีซในวันนี้ มีความสำคัญทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมจนมีสถานะมรดกโลก
อย่างไรก็ตาม สภาพสุขสงบของเอเธนส์ มาชะงักลงเมื่อ 431 ปีก่อนคริสตกาล “สงครามเพโลพอนนีเซียน” (Peloponnesian War) เกิดขึ้นระหว่าง 431–404 ปีก่อนคริสตกาล อันเป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิเอเธนส์ (พัฒนามาจากสันนิบาตเดเลียน) และกลุ่มสปาร์ตาพร้อมเหล่าพันธมิตรที่ส่วนใหญ่มาจากแถบเพโลพอนนีสหรือเรียกกันว่า “สันนิบาตเพโลพอนนีส” ฝั่งเอเธนส์ ก็มี “เพริคลีส” เป็นผู้นำคนสำคัญ
ชนวนสงคราม
ชนวนของสงครามจากการอธิบายของโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ระบุไว้ว่า จุดแตกหักเริ่มมาจากนครรัฐคอรินธ์ ซึ่งเป็นสมาชิกสันนิบาตเพโลพอนนีส (ฝั่งสปาร์ตา) เริ่มสร้างฐานการค้าทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แข่งกับเอเธนส์ เวลาต่อมา นครรัฐคอรินธ์ ไม่ลงรอยกับนครรัฐคอร์ซิรา แห่งสันนิบาตเดลอส (ฝั่งเอเธนส์)
เอเธนส์ ที่เป็นผู้นำกลุ่มจึงเข้ามาช่วยเหลือนครรัฐคอร์ซิรา ส่วนสปาร์ตา ก็เข้ามาช่วยเหลือคอรินธ์ ภายหลังจึงเกิดสงครามปะทุกลายเป็นมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน ซึ่งแบ่งออกได้เป็นหลายช่วง
เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้นไม่นาน ปีที่ 2 ของสงครามก็เริ่มมีโรคระบาดเข้ามาส่งผลกระทบต่อสงครามที่กินเวลายาวนาน 30 ปี จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ โรคระบาดเข้ามาเล่นงานฝั่งเอเธนส์ ซึ่งขณะนั้นกำลังถูกปิดล้อมโดยสปาร์ตา ภายในเวลา 3 ปีต่อมา ประชาการส่วนใหญ่ติดโรคระบาด คาดว่าประชากรราวร้อยละ 25 หรือประมาณ 75,000 ถึง 100,000 คน เสียชีวิตลงเพราะโรคระบาด แต่นี่เป็นอีกหนึ่งข้อมูลตัวเลขจากยุคโบราณซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังตั้งคำถามถึงน้ำหนักความน่าเชื่อถืออยู่ บันทึกของทิวซิดิดีสก็ไม่ได้เอ่ยถึงตัวเลขผู้เสียชีวิต
บันทึกของทิวซิดิดีส ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับโรคระบาดค่อนข้างละเอียด และเชื่อว่าบันทึกเกี่ยวกับโรคระบาดของเอเธนส์ ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ภูมิภาคตะวันตกมาอีกหลายพันปี อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยโดยนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่พบว่า ในรอบ 100 ปีหลังมานี้ นักฟิสิกส์และนักวิจัยไม่เห็นด้วยกับต้นตอและลักษณะของโรคระบาด
ข้อมูลเบื้องต้นของโรคระบาดนั้น เนวิลล์ มอร์ลีย์ (Neville Morley) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คลาสสิกและยุคโบราณจากมหาวิทยาลัย Exeter เล่าไว้ว่า มีจุดเชื่อมโยงกับช่วงเริ่มต้นสงคราม เพริคลีส (Pericles) ผู้นำเอเธนส์ และเป็นผู้นำเอเธนส์ เข้าสู่สภาวะสงคราม โดยเขามองว่า ฝั่งสปาร์ตา แข็งแกร่งอย่างมากในการรบบนบก ขณะที่เอเธนส์ มีพื้นที่ใกล้ชิดทะเล เอเธนส์ ไม่เพียงมีกำแพงล้อมรอบเมืองเท่านั้น กำแพงยังล้อมรอบไปถึงท่าของเมืองด้วย
กลยุทธ์ของเพริคลีส คือใช้กำแพงเป็นเกราะกำบัง พวกเขามีเสบียงเพียงพอ ตราบใดที่พวกเขามีทัพเรืออันเป็นที่เลื่องลือเป็นกำลังสำคัญในการรบ พวกเขาย่อมไม่ได้รับอันตรายใดๆ จากการบุกของสปาร์ตัน เมื่อสปาร์ตัน บุกไม่สำเร็จก็จะเหนื่อยหน่ายไปเอง ขณะเดียวกันพวกเขาจะส่งกองเรืออ้อมไปโจมตีฝั่งตรงข้ามทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรรายเล็กรายน้อยของสปาร์ตา
ปีแรกของสงครามออกมาในรูปแบบข้างต้น พวกสปาร์ตัน รุกรานมาเรื่อย แต่เมื่อไม่พบอะไรก็เผาพืชผลและจากไป ส่วนทัพเรือของเอเธนส์ ก็ยึดพื้นที่ทะเล และสปาร์ตันกับพันธมิตรก็ไม่กล้าเข้าเผชิญหน้ารบกันทางทะเล ช่วงเวลานั้นฝั่งเอเธนส์ ก็มีสูญเสียกำลังคนบ้างจนปรากฏสุนทรพจน์ของเพริคลีส ซึ่งนักการเมืองสหรัฐฯ ยังหยิบยกไปใช้อย่างวาทะว่า
“นี่คือประชาธิปไตยที่พวกเราต่อสู้เพื่อ นี่คือสิ่งที่เราเตรียมพร้อมเสียสละตัวเองเพื่อมัน”
(เอเธนส์ เป็นนครที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีเสรีภาพมากกว่าสปาร์ตา ซึ่งเป็นเผด็จการทหาร)
แต่หลังจากสุนทรพจน์นี้ผ่านไป โรคระบาดก็ตามมา
โรคระบาดช่วงสงคราม
ทิวซิดิดีส (Thucydides) นักประวัติศาสตร์กรีกผู้จดบันทึกสงคราม (ในประวัติศาสตร์มีทิวซิดิดีส 2 ราย รายหนึ่งคือ ทิวซิดิดีส บุตรแห่ง Melesias ขณะที่ “ทิวซิดิดีส” ซึ่งเป็น “นักประวัติศาสตร์” คือ ทิวซิดิดีส บุตรแห่ง Olorus) ทิวซิดิดีส ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ เล่าถึงโรคระบาดว่า เป็นโรคระบาดที่เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป กินเวลารวมประมาณ 4-5 ปี เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ทิวซิดิดีส บอกเล่าพุ่งเป้าไปยังปีแรกของโรคระบาดมากกว่า เขาชี้ให้เห็นว่ามันส่งผลทุกข์ทรมานอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ทิวซิดิดีส บอกเล่าเกี่ยวกับโรคระบาดนั้น ระบุว่าโรคที่ชาวเอเธนส์ พบเจอเป็นสิ่งใหม่และเน้นชัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน อีกประการหนึ่งที่พอสังเกตได้คือ หากเกิดระบาดในวงกว้าง ประชากรติดโรคจำนวนมากก็อาจชี้อีกทางว่า พวกเขาไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมาก่อน
ทิวซิดิดีส เล่าว่า โรคเริ่มจากเอธิโอเปีย (ไม่มีคำยืนยันใดๆ ทางวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงสิ่งที่ทิวซิดิดีส บอกเล่าสิ่งที่เขาเชื่อ) เขาเล่าว่ามันระบาดเข้าสู่อียิปต์ และแถบชายฝั่งแอฟริกันไปทางตะวันตกมาสู่ลิเบีย (ชื่อเรียกตามพื้นที่ปัจจุบัน)
ทิวซิดิดีส ยังบอกเล่าว่าโรคระบาดส่งผลกระทบต่อ “ดินแดนของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่” (เข้าใจกันว่าน่าจะหมายถึงเปอร์เซีย) โรคระบาดแพร่ไปทางตะวันออกในเวลาต่อมา แต่ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่า ระบาดไปไกลแค่ไหน จากนั้นก็มาถึงตาของเอเธนส์ โรคระบาดแพร่กระจายไปทั่วเอเจียน อย่างน้อยก็มีเกาะแห่งหนึ่งที่โดนระบาดใส่ขณะที่โรคระบาดแพร่กระจายไปตามเส้นทาง และค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เอเธนส์ จะพลอยมีโรคระบาดไปด้วยเนื่องจากเอเธนส์ เป็นศูนย์กลางการค้า มีเรือเข้าออกมากมาย
ขณะที่บางพื้นที่ของกรีซโบราณยังเป็นพื้นที่แยกออกมา ส่วนฝั่งสปาร์ตา และพันธมิตรได้รับผลกระทบจากโรคระบาดน้อยมาก พวกเขาไม่โดนระบาดใส่ก็ว่าได้ แต่สำหรับเอเธนส์ ที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอก มีประชากรจำนวนมาก หนำซ้ำประชากรยังอยู่แต่ในกำแพงด้วย บริบทแวดล้อมนี้นำมาสู่การระบาดของโรคติดต่อไม่มากก็น้อย
โรคที่เป็นไปได้?
หากวิเคราะห์เบื้องต้นจากอาการของโรค เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของการที่ทิวซิดิดีส บันทึกไว้ มีความเป็นไปได้ 2 ชนิดที่โรคระบาดในเอเธนส์ จะเป็นโรคเหล่านี้ในยุคโมเดิร์น คือ ไข้ทรพิษ กับโรคไข้รากสาดใหญ่
แต่หากพิจารณาจากระเบียบวิธีสมัยใหม่ อาทิ นิติเวชทางมานุษยวิทยา, ประชากรศาสตร์, ระบาดวิทยา รวมถึงการวิเคราะห์ดีเอ็นเอแล้ว การระบาดในบันทึกของทิวซิดีดีส มีข้อน่าสงสัย
จากการสร้างโมเดลตัวอย่างผ่านการคำนวณทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับอัตราการติดเชื้อและผู้มีอาการ ประกอบกับการจำลองระยะเวลาว่า เชื้อโรคใช้เวลาแพร่กระจายจากเมืองสู่เมืองนานแค่ไหน และระบาดในพื้นที่หนึ่งได้นานเพียงใด ทำให้มองว่า โรคทั้ง 2 กลุ่มมีความเป็นไปได้น้อยที่จะเป็นโรคต้องสงสัยในสมัยนั้น
งานวิจัยหยิบยกผลการขุดค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่เมื่อปี 2001 ที่เชื่อว่าเป็นหลุมของผู้เสียชีวิตในช่วงที่เกิดการระบาดในบันทึก ทีมงานสามารถสกัดจุลินทรีย์ไทฟอยด์ (Salmonella enterica serovar Typhi) จากกระดูกกะโหลก 3 ชิ้น แต่เนื่องด้วยโรคไทฟอยด์เป็นโรคระบาดทั่วไปในกรีก จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคระบาดลุกลามในครั้งนั้น
มีคำถามที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า ไฉนโรคนี้ไม่ระบาดไปถึงฝั่งสปาร์ตา และพันธมิตร เนวิลล์ อธิบายว่า ไม่มีข้อมูลใดเกี่ยวกับโรคระบาดในฝั่งสปาร์ตา ปรากฏเพียงแค่ข้อกล่าวอ้างที่บอกว่ากระทบสปาร์ตา เล็กน้อยเท่านั้น และน่าจะสืบเนื่องมาจากสปาร์ตา เป็นชนที่นิยมการแยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว ชาวสปาร์ตัน ไม่ได้ทำการค้าขาย เท่าที่มีข้อมูล พวกเขาเป็นกลุ่มที่พึ่งพาตนเอง ถ้าจะพบชาวสปาร์ตัน ได้ก็ต้องบนสมรภูมิ โดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยได้เผชิญหน้ากับสปาร์ตัน ในตลาดการค้าแถบเอเจียน แต่นี่เป็นเพียงสันนิษฐานเท่านั้น เหตุผลตามความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมดก็ได้หากพิจารณาร่วมกับกรณีโครินเธียนส์ อีกหนึ่งพันธมิตรของสปาร์ตา ซึ่งแข็งแกร่งในการรบทางเรือและเป็นมหาอำนาจอีกรายในทางการค้า ทิวซิดิดีสก็บอกว่า โครินเธียนส์ ไม่ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน
สงครามท่ามกลางโรค
เมื่อเกิดโรคระบาดท่ามกลางสงครามแล้ว ดูเหมือนว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังพุ่งเป้าก็คือ สงครามอยู่ดี พวกเขายังไม่มีท่าทีขอสงบศึก ไม่ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การรบ จนกระทั่งเพริคลีสติดโรคระบาดและเสียชีวิตลง ซึ่งการสูญเสียแบบนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่
ในภาพรวมแล้ว นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดไม่น่าจะกระทบต่อกลยุทธ์การรบ
แต่เป็นการเสียชีวิตของเพริคลีส มากกว่าที่กระทบต่อกลยุทธ์ นำมาซึ่งสภาพเมืองเอเธนส์ แบบที่ไม่สามารถควบคุมได้ หิวกระหาย นิยมความรุนแรง ซึ่งนำมาสู่กลยุทธ์ที่ไม่เหมาะสม (เพริคลีส และบุตรชาย 2 คนเสียชีวิตในช่วงโรคระบาด)
น่าเสียดายที่ทิวซิดิดีส ไม่ได้เอ่ยถึงทางการของเอเธนส์ ว่าพวกเขาทำอย่างไรต่อ แต่เนวิลล์ สันนิษฐานว่า ในเวลานั้น ทางการเอเธนส์ก็คงไร้หนทางเหมือนคนอื่นๆ
เนวิลล์ คาดว่า เพริคลีส น่าจะติดโรคหลังผ่านปีแรกของสงครามไปแล้ว เนื่องจากทิวซิดิดีส เล่าถึง ปีแรกแล้วกระโดดไปเอ่ยถึงเพริคลีส ที่เอ่ยสุนทรพจน์ปกป้องการวางกลยุทธ์ของตัวเอง (ใช้กำแพงเมืองกำบัง และอาศัยความแข็งแกร่งทัพเรือกระจายออกไปเล่นงานฝั่งตรงข้าม) ซึ่งถูกวิจารณ์ จากนั้นเขาติดโรคและเสียชีวิตลง ทิวซิดิดีส ยังสดุดีผู้นำรายนี้อยู่บ้างเมื่อเอ่ยถึงการปกครองของเขา
เมื่อผู้นำเสียชีวิตลง โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เล่าว่า ผู้นำคนใหม่ของเอเธนส์ ไม่มีความสามารถและบารมีเหมือนกับเพริคลีส จนเอเธนส์แตกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ประชาธิปไตยและนิยมเผด็จการ
ทิวซิดิดีส เอ่ยถึงอิทธิพลของเพริคลีส ว่า “ในเวลานี้ เอเธนส์เป็นประชาธิปไตยในนาม แต่ที่จริงแล้วอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้นำสูงสุด (the first man)” นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเพริคลีส ที่สามารถโน้มน้าวใจประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ เขาสั่งการว่าให้ใครทำอะไรและพวกเขาก็ทำตาม แต่เมื่อผู้นำรายนี้จากไปก็ไม่มีใครเทียบเท่าเขามาสานต่อ
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งปรับปรุงและเรียบเรียงมาจากบทความ “โรคระบาดกลางสงครามเอเธนส์ VS สปาร์ตา นำมาสู่ยุคประชาธิปไตยกลายพันธุ์?” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับออนไลน์
อ้างอิง :
David Malcolm Lewis. “Pericles Athenian statesman”. Britannica. Online. <https://www.britannica.com/biography/Pericles-Athenian-statesman>
KRISTIN BAIRD RATTINI. “Who was Pericles?”. National Geographic. Online. <https://www.nationalgeographic.com/culture/people/reference/pericles/>
Katherine Kelaidis. “What the Great Plague of Athens Can Teach Us Now”. The Atlantic. Online. Published 23 MAR 2020. Access 7 APR 2020. <https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/03/great-plague-athens-has-eerie-parallels-today/608545/>
Littman RJ. “The plague of Athens: epidemiology and paleopathology”. Mt Sinai J Med. 2009 OCT;76(5):456-67. Online. Access 7 APR 2020. <https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19787658?fbclid=IwAR01rcsVYBbcqLw2lS5uE3N1APlQO81ItHB7pj6El8NZzQNdskzBtd5FahU>
NEVILLE MORLEY, RYAN EVANS. “THE PLAGUE AND THE PELOPONNESIAN WAR”. War On The Rocks. Online. Published 23 MAR 2020. Access 7 APR 2020. <https://warontherocks.com/2020/03/the-plague-and-the-peloponnesian-war/>
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. กับดักทิวซิดิดีส (Thucydides). มติชน. ออนไลน์. เผยแพร่ 11 เมษายน 2561. เข้าถึง 7 เมษายน 2563. <https://www.matichon.co.th/columnists/news_910236>
“โรคระบาดกลางสงครามเอเธนส์ VS สปาร์ตา นำมาสู่ยุคประชาธิปไตยกลายพันธุ์?”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เข้าถึง 2 ตุลาคม 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_48099>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2563