เผยแพร่ |
---|
ภายหลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) และปฏิญญาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 ซึ่งประกันความเป็นกลางและอธิปไตยของสยามเหนือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ทำให้เกิดแรงสั่นคลอนต่ออำนาจของสยาม รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราโชบายที่จะถ่วงดุลอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศส โดยการกระชับสัมพันธไมตรีกับรัสเซียและเยอรมนี
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2440 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในทางการเมือง โดยเฉพาะการเสด็จฯ เยือนเยอรมนี ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดํารัสว่า การมาพบจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 จักรพรรดิเยอรมนีสำคัญไม่น้อยไปกว่าไปรัสเซีย “การที่ไปหาเอมเปอเรอนี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับดาวเล็ก ๆ เข้าไปใกล้พระจันทร์มันโจทกันจ๊อบแจ็บไปทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดีทำให้เราเป็นคนสำคัญขึ้นได้มาก”
ในระหว่างการเสด็จฯ เยอรมนี เป็นโอกาสที่รัชกาลที่ 5 จะทรงปรึกษาข้อราชการลับต่าง ๆ มากมาย เพื่อขอแรงสนับสนุนจากจักรพรรดิเยอรมนีในการปกป้องเอกราชของสยาม โดยทรงถือว่าจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 เป็นพันธมิตรที่สำคัญมากเทียบเท่าพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 เลยทีเดียว
เอกสารหนึ่งของเยอรมนีซึ่งตีพิมพ์ ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) ได้เผยเรื่องราวเกี่ยวกับการเสด็จฯ ครั้งนั้นว่า “เคอนิกจุฬาลงกรณ์จะได้ร่วมโต๊ะเสวยอีกครั้งกับพระเจ้าไกเซอร์ของเรา หลังจากที่เข้าเฝ้าเป็นส่วนพระองค์แล้วอีกรอบหนึ่ง หัวข้อการหารือคงไม่พ้นเรื่องการเมืองและการค้าขายในสยาม เป็นที่รู้กันอยู่ว่าทรงได้รับการสนับสนุนในเรื่องนี้อยู่”
เอกสารอีกชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) ได้ระบุถึงเหตุผลของการเสด็จประพาสยุโรปว่า “เป็นการเสด็จทางการเมืองไปแสวงหาการสนับสนุนจากมหาอำนาจชาติยุโรป เพื่อหาทางคลี่คลายความตึงเครียดจากการคุกคามอธิปไตย ที่พวกฝรั่งเศสดำเนินการอยู่ตามนโยบายล่าอาณานิคม”
รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติยศจากจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทั้งสองพระองค์มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก จนสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีการตีความกันไปต่าง ๆ ถึงขั้นวิจัยผลประโยชน์ได้เสียของการเสด็จฯ เยือนในครั้งนี้ เช่น อังกฤษกล่าวถึงการเสด็จฯ เยอรมนีว่า เหมือนกับการปลุกสิงโตให้ตื่นขึ้นมาคำรามอย่างน่าสะพรึงกลัว ในฝรั่งเศส นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมต่างกำลังปลุกระดมเพื่อขัดขวางการเสด็จฯ เยือนกรุงปารีส ส่วนในรัสเซียและเยอรมนีต่างก็สนับสนุนและเห็นอกเห็นใจสยาม
ย้อนไปเมื่อหลายเดือนก่อน ในเวลาที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ถึงยุโรปในช่วงแรก ๆ ทรงมีพระราชโทรเลขด่วนถึงพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม ผู้ทรงทำหน้าที่ราชเลขานุการของคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ในกรุงเทพฯ ความว่า
“ฉันมีความปรารถนาที่จะให้เธอแบ่งย่อโทรเลขของฉันที่มีไปถึงสมเด็จพระบรมราชินีนารถนั้น ลงพิมพ์ให้ทราบทั่วไปแก่มหาชนอันเป็นที่รักใคร่ของเราเนือง ๆ จึงเป็นน่าที่ของเธอที่จะนำคำแปลโทรเลขนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนารถจะทรงเห็นควรว่าส่วนใดเป็นการลับ ซึ่งไม่ควรจะปรากฏเปิดเผยตามแต่จะวินิจฉัยได้ทุกประการ วิธีซึ่งจะให้เป็นสดวกต่อไปภายน่านั้น บรรดาโทรเลขสำคัญ เซนสยามินทร์นั้นประสงค์จะให้ปรากฏในหนังสือพิมพ์ราชการ แต่โทรเลขที่เซนจุฬาลงกรณ์นั้น ประสงค์ว่าเป็นส่วนเฉพาะตัวแลเป็นการลับ
จุฬาลงกรณ์”
หมายความว่า ให้ทางกรุงเทพฯ วินิจฉัยจากลายพระบรมนามาภิไธยว่า ถ้าเป็น “สยามินทร์” คือไม่ใช่ความลับ แต่ถ้าเป็น “จุฬาลงกรณ์” นั่นคือข้อราชการลับอย่างยิ่งยวด
รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริอุบายแฝงความลับในข้อราชการบางอย่างไว้ในตัวอักษรเพื่อให้ราชสำนักที่กรุงเทพฯ ตีความ อุบายนี้ถือเป็น “โค้ดลับ” ที่ไม่เคยทรงใช้มาก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากหากส่งข้อความผ่านโทรเลข ซึ่งมีชุมสายอยู่ที่ เมืองมอลแมงในพม่า (อาณานิคมอังกฤษ) และเมืองไซ่ง่อนในเวียดนาม (อาณานิคมฝรั่งเศส) ก็อาจทำให้ความลับต่าง ๆ ถูกสองชาติมหาอำนาจดักอ่านได้ก่อนส่งไปสยาม
โดยหากเป็นเรื่องราวที่อยู่นอกเหนือจากข้อราชการเร่งด่วนที่ต้องส่งทางโทรเลขแล้ว ความลับอื่นรวมถึงพระราโชบายและบทวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ จะพระราชทานไว้ในพระราชหัตถเลขา หรือจดหมาย ซึ่งมีถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถโดยตรง
นอกจากการพบจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แล้ว รัชกาลที่ 5 ยังเสด็จฯ ไปพบบิสมาร์ก เสนาบดีผู้ยิ่งใหญ่ของเยอรมนี ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองอย่างมาก จนหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งลงข่าวซึ่งเขียนไว้แบบตีวัวกระทบคาด ความว่า
“แน่นอนพระเจ้ากรุงสยามคงจะลืมเยอรมันไม่ได้หรอก ขนาดพระจักรพรรดิยังจัดกองทัพซ้อมรบถวายให้ดูเล่น และถึงจะเหน็ดเหนื่อยปานใดก็ยังทรงอุตส่าห์เสด็จเยี่ยมท่านบิสมาร์คถึงประตูบ้าน เดี๋ยวนี้เจ้าชายทรงชรามากแล้ว การไปเยือนทำให้ท่านกระปรี้กระเปร่าขึ้นอีกหลายปี คงเป็นการไปคารวะผู้อาวุโสที่น่าเคารพ กษัตริย์สยามควรจะได้ความรู้ไปมากพอดู นี่ถ้าท่านรัฐบุรุษหนุ่มกว่านี้อีกสักหน่อย น่าจะได้รับทาบทามให้กลับไปคุมหัวเรืออีกสักครั้ง!”
ไกรฤกษ์ นานา อธิบายว่า การเข้าพบครั้งนั้นเพื่อขอ “เซเกินโอพีเนียน” (Second Opinion) แต่ด้วยเรื่องอะไรนั้นยังไม่มีผู้ใดล่วงรู้จนบัดนี้ สันนิษฐานเพียงว่า เกี่ยวกับข้อราชการลับ ซึ่งในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งที่ลงพระปรมาภิไธยว่า “จุฬาลงกรณ์” นั้นตรัสบอกอย่างลับ ๆ แต่ไม่ลับว่า
“แต่ในเรื่องไมตรีเยอรมันกับรัสเชียนี้ ฉันได้ถามความเห็นปรินซ์บิสมาร์คท่านกล่าวว่าเห็นหายั่งยืนไม่ เรื่องนี้จะได้เขียนไปฉบับหนึ่งต่างหาก” พระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งต่างหากนั้นยังไม่มีใครพบเห็นจนบัดนี้ บางทีอาจจะไม่ได้ทรงเขียนขึ้นเลย หรืออาจมีรายละเอียดปลีกย่อยพอสมควรและอาจทรงนำกลับมาเล่าเมื่อเสด็จกลับถึงเมืองไทยแล้วก็เป็นได้
อ้างอิง :
ไกรฤกษ์ นานา. (2551). ประวัติศาสตร์นอกพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5 พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2563