ไขปมตัวตน “คลีโอพัตรา” จากดราม่าต้านดาราอิสราเอลรับบทผู้ครองอียิปต์

(ซ้าย) กัล กาโดต์ นักแสดงชาวอิสราเอล ถ่ายเมื่อ ก.พ. 2020 ภาพจาก Jean-Baptiste Lacroix / AFP (ขวา) รูปปั้นคลีโอพัตรา ในนิทรรศการจัดแสดงที่ British Museum เมื่อ 2001 ภาพจาก AFP

บรรดารายชื่อผู้หญิงซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ ในลิสต์นั้นย่อมมีคลีโอพัตรา สตรีผู้ปกครองอียิปต์รวมอยู่ด้วย จากความทรงจำในอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพจำเกี่ยวกับพระนางค่อนข้างแตกต่างหลากหลายกันออกไป มีผสมทั้งข้อเท็จจริงและเติมแต่งไปตามเนื้อหาของสื่อบันเทิงซึ่งมักหยิบยกตัวตนคลีโอพัตรา มาผลิตซ้ำอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุด เพิ่งปรากฏรายงานข่าวถึงชื่อนักแสดงผู้มารับบทคลีโอพัตรา ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ผลมาออกที่ กัล กาโดต์ (Gal Gadot) นักแสดงชื่อดังและอดีตนางงามชาวอิสราเอล ข่าวนี้ทำให้เกิดกระแสหลายแง่มุมตามมา

แม้ว่าภาพยนตร์ที่จะเอ่ยถึงคลีโอพัตรา เรื่องล่าสุดจะยังไม่ทันได้เริ่มกระบวนการถ่ายทำ ดูเหมือนว่า กระแสข้อถกเถียงเกี่ยวกับตัวละครอิงประวัติศาสตร์รายนี้จะสร้างข้อถกเถียงให้ชาวโลกได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันท่ามกลางอุณหภูมิระอุเล็กน้อยแล้ว ประเด็นการถกเถียงครั้งนี้วนเวียนอยู่กับเชื้อชาติของนักแสดงที่มารับบท เป็นที่ทราบกันดีว่า กัล กาโดต์ เติบโตในครอบครัวของชาวอิสราเอล และก้าวไปถึงนางงามระดับประเทศ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางกลุ่มวิจารณ์ว่า ตัวเลือกนี้เข้าข่าย “ฟอกขาวทางวัฒนธรรม” (cultural whitewashing) โดยใช้นักแสดงผิวขาวเล่นเป็นบุคคลชาติพันธุ์อื่น ขณะที่บางรายเห็นว่า บทบาทนี้ควรให้นักแสดงเชื้อชาติอาหรับ หรือแอฟริกันมาแสดง

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์แล้ว คลีโอพัตรา เป็นผู้ปกครองที่กำเนิดในอียิปต์แต่สืบเชื้อสายมาจากผู้ปกครองจากภายนอกนั่นคือกลุ่มผู้ปกครองเชื้อสายกรีกจากราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemy) ซึ่งเป็นชาวกรีกจากมาซิโดเนีย นักวิชาการหรือนักเขียนในแวดวงประวัติศาสตร์หลายรายก็มองว่า พระนางไม่ได้เป็น “ชาวอียิปต์” โดยแท้

ก่อนหน้ากัล กาโดต์ จะตกเป็นข่าว นักแสดงที่รับบทคลีโอพัตรา และเป็นที่จดจำมาจนถึงปัจจุบันคือเอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor) ในภาพยนตร์ที่สร้างเมื่อปีค.ศ. 1963 ในข้อเท็จจริงแล้ว เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ก็มีเชื้อสายกรีก(เช่นเดียวกับพระนางคลีโอพัตรา)

เจมส์ ฮอลล์ (James Hall) นักเขียนที่มีผลงานหนังสือตีพิมพ์เกี่ยวกับแอฟริกามาแล้วหลายเล่มเป็นอีกหนึ่งคนที่เห็นว่า ผู้สร้างภาพยนตร์ควรใช้นักแสดงเชื้อสายแอฟริกัน ขณะที่มอร์แกน เจอร์กินส์ (Morgan Jerkins) นักเขียนชาวอเมริกัน แสดงความคิดเห็นว่า ผู้ที่จะรับบทคลีโอพัตรา ควร “มีสีผิวเข้มกว่าถุงกระดาษ” ซึ่งเขาคิดว่าจะเป็นคุณสมบัติที่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์มากกว่า

ด้านฝั่งอิสราเอล บ้านเกิดของกัล กาโดต์ ก็พูดถึงเรื่องนี้ในอีกด้านหนึ่ง Seth Frantzman นักเขียนในสังกัด The Jerusalem Post มองว่า การเมินบทบาทอิทธิพลของคนเชื้อสายยิวที่มีต่อภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลรองรับ โดยเขามองว่า ในยุคหนึ่ง ผู้คนส่วนใหญ่ในแถบตะวันออกกลางเกี่ยวข้องกับชาวยิว ไม่ว่าจะในแง่รากเหง้าหรือในแง่ระยะทาง และความพยายามปัดคนยิวออกจากลิสต์นักแสดงนั้นเป็นเรื่องน่าหดหู่ อีกทั้งยังสะท้อนถึงปัญหาขาดการศึกษาค้นคว้าข้อมูล

อันที่จริงแล้ว พระนางคลีโอพัตรา มีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนยุคคริสเตียนด้วยซ้ำ รายงานข่าวจากสำนักข่าว BBC ระบุว่า พระนางกำเนิดเมื่อ 69 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในยุคนี้เรียกกันว่ายุคเฮลเลนิสติก (Hellenistic) ถูกนิยามว่าเป็นยุคกรีกที่ชาวกรีกไม่มีบทบาทใดๆ (ยุคเฮลเลนิสติกเริ่มตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อปี 323 ก่อนคริสตกาล สิ้นสุดในปี 30 ก่อนคริสตกาลไล่เลี่ยกับการสิ้นพระชนม์ของคลีโอพัตรา)

เมื่อมีพระชนมายุ 18 พรรษา พระนางและพระอนุชาวัย 10 พรรษา รับหน้าที่ปกครองอาณาจักรแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ซึ่งมีอดีตอันยาวนาน โดยราชวงศ์ของพระนางปกครองในรูปแบบฟาโรห์มากว่า 10 ชั่วอายุคน และในช่วงที่พระนางปกครอง อียิปต์อยู่ในอิทธิพลของของโรมแล้ว จนเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ อียิปต์จึงตกเป็นหัวเมืองของโรมัน และไม่ได้รับเอกราชอีกจวบจนถึงศตวรรษที่ 20

ภาพลักษณ์ของพระนางได้รับอิทธิพลจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นโลกบันเทิง อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เชิงอุปโภคบริโภค และอีกหลายวงการจนทำให้คนส่วนใหญ่จดจำพระนางในภาพลักษณ์อันยั่วยวน แฝงกลิ่นอายลึกลับน่าค้นหา ซึ่งอิทธิพลสำคัญที่นำมาสู่ภาพลักษณ์นี้ ส่วนหนึ่งต้องยกให้คนยุคหลัง อาทิ นักเขียนบทละครและกวีลาติน ซึ่งประพันธ์ผลงานขึ้นหลังจากพระนางคลีโอพัตราสิ้นพระชนม์แล้วหลายปี แม้ว่าพระนางสิ้นพระชนม์มาแล้วหลายพันปี แต่ข้อมูลจนถึงปัจจุบันก็ยังยากที่จะบ่งบอกถึงรูปโฉมของพระนาง หลักฐานที่เชื่อกันว่าเป็นของแท้นั้นมีเพียงภาพเหมือนบนเหรียญที่ทำขึ้นในสมัยของพระนางโดยได้รับความเห็นชอบแล้ว

สำหรับราชวงศ์ปโตเลมี ไม่ได้สืบเชื้อสายจากฟาโรห์ชาวอียิปต์ แต่สืบเชื้อสายจากชาวมาซิโดเนียที่ผ่านชีวิตอันยากลำบากและขัดสน เริ่มต้นจากปโตเลี ซึ่งเป็นหนึ่งในเหล่าคนสนิทของอเล็กซานเดอร์มหาราช โดยภายหลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ไม่กี่เดือน เขาก็อ้างสิทธิเหนืออียิปต์ สถาปนาเป็นปโตเลมีที่ 1

Stacy Schiff ผู้เขียนหนังสือ “Cleopatra A Life” หรือ คลีโอพัตรา มหารานีแห่งอียิปต์ อธิบายไว้ว่า

“ความชอบธรรมของพวกเขาในอียิปต์มาจากความเชื่อมโยงกับเหล่าฟาโรห์ที่ปั้นแต่งขึ้น สิ่งนี้สร้างความชอบธรรมให้แก่การสมรสในหมู่พี่น้องซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นธรรมเนียมของอียิปต์ ท่ามกลางเหล่าชนชั้นสูงชาวมาซิโดเนียมีเรื่องที่เป็นแบบอย่างให้เห็นมาก่อนมากมายเกี่ยวกับการสังหารพี่น้องตนเอง แต่ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงาน อีกทั้งในภาษากรีกไม่มีคำว่า ‘สมสู่ในวงศ์วาน’

ราชวงศ์ปโตเลมีปฏิบัติเรื่องนี้ไปจนสุดโต่ง ในการแต่งงานภายในครอบครัว 15 ครั้ง มีอย่างน้อย 10 ครั้งที่เป็นการจับคู่ระหว่างพี่น้องท้องเดียวกัน คนในราชวงศ์ปโตเลมีอีก 2 คนแต่งงานกับหลานสาวหรือลูกพี่ลูกน้อง พวกเขาอาจทำเช่นนี้เพราะว่ามันง่าย กล่าวคือ การแต่งงานในครอบครัวลดทั้งผู้อ้างสิทธิในบัลลังก์และญาติโดยการสมรสที่น่ารำคาญ มันกำจัดปัญหาการหาคู่สมรสที่เหมาะสมจากต่างแดนและยังเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความเชื่อของครอบครัวไปพร้อมกับสถานะอันสูงส่งและมีอภิสิทธิ์ของราชวงศ์ปโตเลมี…”

Stacy Schiff ยังวิเคราะห์ต่อไปว่า หากบิดา-มารดาของคลีโอพัตราเป็นพี่น้องท้องเดียวกันแล้ว พระนางจะมีพระอัยกา (ปู่) และพระอัยยิกา (ย่า) ทางบิดาเป็นคนเดียวกันกับพระอัยกา (ตา) และพระอัยยิกา (ยาย) ทางมารดา หากใครแต่งงานกับลุงของตนดังเช่นกรณีย่าของคลีโอพัตรา พ่อของคนนั้นก็จะเป็นพี่เขยด้วย


อ้างอิง:

ชิฟฟ์, สเตซี่. คลีโอพัตรา มหารานีแห่งอียิปต์-Cleopatra A Life. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

“Gal Gadot’s Cleopatra film sparks ‘whitewashing’ claims”. BBC. Online. Published 14 OCT 2020. Access 14 OCT 2020. <https://www.bbc.com/news/world-middle-east-54529836>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2563