ร.7 ทรงตั้งกรรมการ Town Planning จุดเริ่มต้นผังเมืองครั้งแรกของไทย

แผนที่กรุงเทพ พ.ศ.2430 (ภาพจาก แผนที่กรุงเทพฯ และธนบุรี จ.ศ.1249 (พ.ศ.2430))

ปี 2471 กระทรวงยุติธรรมขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อสร้างโรงเรียนสอนกฎหมายบริเวณศาลหลักเมือง พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ตําแหน่งที่ตั้งของโรงเรียนนั้นน่าจะมีความเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อพระนครในภาพรวม จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางผังเมืองแบบสากลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

สำเนาพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นชอบกับรายชื่อ คณะกรรมการ Town Planning

สำหรับคณะกรรมการดังกล่าวเรียกว่า “คณะกรรมการ Town Planning” ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ 1. พระยาสุรินทราชา อธิบดีกรมนคราทร (เป็นประธาน) 2. หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานราชบัณฑิตสภา 3. พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง 4. นายแพทย์ เย.อาร์. เรดฟิลด์ จเรสาธารณสุข กรมสาธารณสุข 5. นาย วี.โบนา ผู้แทนนายช่างนคราทร กรมนคราทร 6. นายชาลส์ เบเกแลง นายช่างสถาปนิก กรมสาธารณสุข 7. หลวงสาโรจน์รัตนนิมมานก์ นายช่างสถาปนิก กระทรวงธรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้ถือเป็น “คณะกรรมการผังเมืองชุดแรกของสยาม”

วันที่ 7 พฤษภาคม ปี 2471 คณะกรรมการฯ มีการประชุมกันเป็นครั้งแรก ที่ห้องประชุมอธิบดีกรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย มีเป้าหมาย 2 ประการ คือ 1. การวางแผนระยะยาวสำหรับแนวทางการจัดทำผังพระนครที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าควรมีความชัดเจนในเรื่อง 1) รูปแบบการปกครองพระนครว่าจะเป็นเทศบาลหรือไม่ และจะรวมธนบุรีอยู่ในเขตเทศบาลพระนครด้วยหรือไม่ 2) พื้นที่เมืองที่จะอนุญาตให้เกิดขึ้นในอนาคต จะขยายไปถึงบริเวณใด เพื่อจะกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐาน และความหนาแน่นของประชากร ได้อย่างถูกต้อง

แผนที่บริเวณศาลหลักเมืองและถนนหน้าหับเผย ซึ่งกระทรวงยุติธรรมขอพระราชทานก่อสร้างโรงเรียนกฎหมาย (หมายเลข ๑) (ที่มา : หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ จุฬาฯ 2549)

2. เรื่องเร่งด่วน คือการพิจารณาเรื่องพื้นที่จัดสร้างโรงเรียนกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมขอนุญาต เพื่อไม่ให้ขัดกับการวางผังพระนครที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็ไม่สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ เพราะยังไม่มีผังพระนครโดยรวมที่จะบอกได้ว่า โรงเรียนกฎหมายที่จะสร้างนั้นสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคตหรือไม่

วันที่ 13 พฤษภาคม ปี 2471 คณะกรรมการฯ ประชุมเป็นครั้งที่ 2 มีการเสนอให้รวบรวมสถิติที่เกี่ยวข้องกับการวางผังพระนคร เช่น สถิติเกี่ยวกับประชากร, ประวัติศาสตร์เมือง, ระบบคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการวางผัง, องค์ประกอบด้านสาธารณสุข (สวนสาธารณะ, โรงพยาบาล, พื้นที่สำหรับกลุ่มคนอพยพ ฯลฯ), เศรษฐกิจชุมชน (ตลาด, โรงฆ่าสัตว์, ย่านอุตสาหกรรม ฯลฯ ), พื้นที่วัฒนธรรม ฯลฯ นอกจากนี้คณะกรรมการมอบหมายให้มีมติให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ เขียนคำอธิบายหลักแห่งการผังเมือง (Town Planning)

วันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2471  คณะกรรมการฯ ประชุมเป็นครั้งที่ 3 เริ่มต้นด้วยการอธิบายการใช้ประโยชน์ที่ดินของพระนครใน 3 ส่วนหลัก คือ ย่านพาณิชยกรรม, ย่านที่พักอาศัย และย่านที่พักผ่อนหย่อนใจ และพิจารณาคำอธิบายหลักแห่งการผังเมือง (Town Planning) ของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์

พระยาสุรินทราชา

หลังการประชุมครั้งที่ 3 พระยาสุรินทราชา ประธานกรรมการ ยับยั้งการประชุมเพื่อจัดทำแผนผังพระนคร เพราะประสบปัญหาสำคัญหลายประการ เช่น ขาดแคลนข้อมูลจำเป็นในการวางผังเมือง, ขาดแคลนเทคนิคในการคาดการณ์ทางด้านต่างๆ ในอนาคต, ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในการวางผังเมือง โดยได้ทำหนังสือระบุถึงปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเรื่องการก่อสร้างโรงเรียนกฎหมายกราบทูลขอพระราชพระราชวินิจฉัยว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้สร้างโรงเรียนกฎหมายไปก่อน หากในอนาคตกีดขวางผังเมืองจึงค่อยรื้อถอนไปหาที่สร้างใหม่ ส่วนเรื่องผังเมือง พระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตว่าคงต้องเลิกคิดเรื่องนี้ ด้วยทรงเห็นว่าการเมืองในขณะนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และไม่มีความมั่นคง ทั้งตรัสว่าหากต้องการผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ พระองค์ทรงเห็นว่าควรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชลประทาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักคือระบบชลประทานมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลที่ 7 ปี 2478 มีการจัดตั้งแผนกผังเมือง สังกัดกรมโยธาเทศบาล รับผิดชอบการออกแบบผังบริเวณศาลากลางจังหวัด, สถานที่ราชการ ผังปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ และผังบริเวณวัด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องของการจัดทําผังเมืองที่มุ่งกํากับการพัฒนาทางกายภาพของเมืองให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และยั่งยืนตามหลักสากล

จนเมื่อปี 2495 รัฐบาลได้เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495 มุ่งเน้นให้มีการจัดทําผังเมืองตามหลักสากล ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองฉบับแรกของประเทศ


ข้อมูลจาก :

พนิต ภู่จินดา, เปี่ยมสุข สนิท. แผนผังพระนคร 2471 , สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2563