ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ใน ค.ศ. 1923 เฉาคุน ขุนศึกภาคเหนือได้รับเลือกเป็น “ประธานาธิบดี” ด้วยการใช้วิธีติดสินบนซื้อคะแนนเสียงสมาชิกรัฐสภา โดยจ่ายให้คนละ 5,000 หยวน แต่เขาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงปีเดียวก็ถูกรัฐประหารให้ต้องลาออก
เฉาคุน เป็นชาวเมืองเทียนจิน เดิมเป็นพ่อค้าขายผ้า ปี 1881 เฉาคุนเบื่อหน่ายชีวิตการเป็นพ่อค้าขายผ้า จึงไปเกณฑ์ทหาร ได้อยู่ใน “กองทัพบกใหม่” ของหยวนซื่อข่าย หลังจากเข้าสู่กองทัพ เฉาคุนก็มีผลงานก้าวหน้าเรื่อยมา ตอนที่ราชวงศ์ชิงล่มสลายในปี 1912 เขาได้เป็นหัวหน้ากองพลที่สาม ซึ่งเป็นกองกำลังหลักของกองทัพเป่ยหยาง ปี 1919 เฉาคุนและอู๋เพ่ยฝู กลายเป็นผู้นำของขุนศึกฝ่ายมณฑลจื๋อลี่หลังผู้นำคนเก่าเสียชีวิต
ต่อมาเกิดสงครามระหว่างขุนศึกฝ่ายมณฑลจื๋อลี่กับฝ่ายมณฑลเฟิ่งเทียนในปี 1922 ขุนศึกฝ่ายมณฑลจื๋อลี่ได้รับชัยชนะ เฉาคุนและอู๋เพ่ยฝู ได้ควบคุมรัฐบาลปักกิ่ง พวกเขาพยายามบีบบังคับประธานาธิบดีสวีซื่อชางให้พ้นจากตำแหน่ง แล้วดันหลีหยวนหงขึ้นเป็นประธานาธิบดีหุ่นเชิดแทน
จากนั้นไม่นาน เฉาคุนก็ตัดสินตั้งตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี
เดือนมิถุนายน ปี 1923 เฉาคุนพยายามกำจัดหยวนหง ด้วยการสร้างสถานการณ์ สั่งให้มีคนกลุ่มหนึ่งมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกที่หน้าจัตุรัสเทียนอันเหมิน นักการเมืองส่วนหนึ่งเข้าร่วมและขึ้นไปกล่าวคำปราศรัย กล่าวหาหลีหยวนหง ผู้ประท้วงถือป้ายข้อความตำหนิ และแจกใบปลิวโจมตีหลีหยวนหงระหว่างเดินทางมุ่งหน้าไปยังบ้านพักของหลีหยวนหง หลีหยวนหงออกคำสั่งให้หน่วยงานตำรวจขับไล่ผู้ก่อเหตุออกไป แต่ตำรวจกลับนิ่งเฉย รอรับฟังคำสั่งของเฉาคุนเท่านั้น
ขณะที่กองทัพในเมืองหลวงของขุนศึกฝ่ายมณฑลจื๋อลี่ก็เพิ่มแรงกดดัน ด้วยการเรียกร้องขอเงินเดือนทหาร บ้านพักของหลีหยวนหงถูกปิดล้อมด้วยผู้ประท้วงและกองทัพที่มาเรียกร้องขอเงินเดือน ส่วนภายในมวลชนและหลีหยวนหงติดต่อขอความช่วยเหลือจากเฉาคุน แต่ถูกปฏิเสธ สุดท้ายเขาก็ทำได้เพียงลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกจากกรุงปักกิ่ง
หลังจากจัดการหลีหยวนหงไปแล้ว เฉาคุนจัดให้มีการเลือกตั้ง “ตามกฎหมาย” อีก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง เขาส่งโทรเลขแจ้งทั่วประเทศว่า “ประธานาธิบดีได้ขอลาออกกับรัฐสภาแล้ว ต่อไปจึงควรแก้ไขปัญหาของรัฐสภาตามกฎหมาย ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนจะได้ปฏิบัติตนตามได้ถูก”
ขณะนั้นรัฐสภามีหน้าที่เลือกประธานาธิบดี สมาชิกรัฐสภาจึงเป็นบุคคลหายากและมีค่าตัว
เฉาคุนใช้เงินจำนวนมากซื้อตัวอู๋จิ่งเหลียน สมาชิกรัฐสภาผู้มากประสบการณ์เป็นผู้ดำเนินการครั้งนี้ อู๋จิ่งเหลียนก็หวังผลประโยชน์ทางการเงินและเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหากเฉาคุนได้รับชัยชนะ ขณะนั้นมีสมาชิกในรัฐสภาจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านเฉาคุน เมื่อหลีหยวนหงเดินทางออกจากกรุงปักกิ่งไป สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากจึงเดินทางออกจากกรุงปักกิ่งไปด้วย ทำให้สมาชิกรัฐสภาในกรุงปักกิ่ง มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะเลือกประธานาธิบดีตามที่กฎหมายกำหนด
อู๋จิ่งเหลียนพยามยามแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการเสนอว่าหากสมาชิกรัฐสภาคนใดเข้าร่วมการประชุมเลือกประธานาธิบดี จะได้รับเงินค่าเข้าร่วมประชุม และสามารถรับเงินผ่านทางทดรองจ่ายรายปีได้ด้วย คิดเป็นเงินเดือนละ 600 หยวน ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมได้ 300 หยวน แม้สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ทยอยเดินทางกลับกรุงปักกิ่ง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป เพราะสมาชิกรัฐสภากลัวว่าหากลงคะแนนเสียงไปแล้วจะไม่ได้เงิน ส่วนฝ่ายของเฉาคุนก็กลัวว่าถ้าจ่ายเงินไปแล้วพวกสมาชิกรัฐสภาจะไม่ลงคะแนนเสียงให้
ผลก็คือรัฐสภาเปิดการประชุมเลือกประธานาธิบดี (12 กันยายน ปี 1923) ไม่ได้ เพราะจำนวนสมาชิกรัฐสภาไม่ครบจำนวนตามกฎหมายกำหนด ทีมงานของเฉาคุนทำงานกันอย่างหนัก ทำให้ตอนกลางวันของวันที่ 4 ตุลาคม ปี 1923 ก็มีสมาชิกรัฐสภา 576 คน ตอบตกลงว่าจะลงคะแนนเสียงให้เฉาคุนเพื่อและกับเงินที่จะได้ กล่าวกันว่ามีสมาชิกรัฐสภาเพียง 14-15 คนที่ไม่ยอมรับเงิน พวกเขาเป็นชาวมองโกลผู้สูงศักดิ์ร่ำรวยและมีอำนาจ ที่ไม่สนใจเงินน้อยนิด หากต้องการตำแหน่งข้าราชการแทน
วันที่ 5 ตุลาคม ปี 1923 การประชุมเลือกตั้งประธานาธิบดี มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุม 587 คน ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด การลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้น หลังนับคะแนนเสียงกันต่อหน้าทุกคน เฉาคุนได้รับคะแนนเสียง 480 เสียง ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน สิ่งที่น่าขัน คือมีบัตรลงคะแนนเสียงใบหนึ่งเขียนว่า “จ่ายเงินแล้ว” หรืออีกใบที่เขียนว่า “ห้าพันหยวน”
เมื่อผลการเลือกตั้งที่ว่าเฉาคุน “ได้รับเลือก” เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนประกาศสู่สาธารณชน กลับทำให้เกิดการตำหนิกล่าวโทษจากทั้งภาครัฐและภาคประชาชน พวกเขาเรียกร้องให้ปราบปรามเฉาคุน นิตยสารไทม์รายสัปดาห์ของสหรัฐอเมริกาลงข่าวฉาวเรื่องนี้ ด้วยหัวข้อว่า “ประธานาธิบดีใหม่” มีเนื้อความว่า
“ความรวดเร็วของชาวตะวันออกทำให้โลกตะวันตกรู้สึกเหลือเชื่อ รัฐสภาจีนเรียกประชุมอีกครั้ง พวกเขาเลือกตั้งประธานาธิบดีกันแบบโต้รุ่ง เขาได้รับคะแนนเสียงเกินจำนวนขั้นต่ำที่จะได้เป็นประธานาธิบดีมา 50 เสียง รายงานระบุว่าเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเพราะอาศัยการซื้อเสียงจากสมาชิกรัฐสภา โดยให้เงินคนละ 5,000 หยวน…”
เฉาคุน เป็นประธานาธิบดีได้เพียงหนึ่งปี สถานการณ์ก็พลิกผัน วันที่ 23 ตุลาคม ปี 1924 เผิงอวี้เสียงก่อ “รัฐประหารปักกิ่ง” และคุมขังเฉาคุน วันที่ 2 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เฉาคุนถูกบีบบังคับให้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
อ่านเพิ่มเติม :
- ความแตกแยกในจีนหลังสิ้น “หยวนสื้อข่าย” ฟื้นฟูราชวงศ์ชิง เชิญ “ผู่อี๋” เป็นจักรรพรรดิ
- จีนสมัยสาธารณรัฐ เกิด “กองทัพหางเปีย” ที่ลุกขึ้นฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย
ข้อมูลจาก :
เส่าหย่ง, หวังไห่เผิง-เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล-แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2563