เลิกสัมปทานเหมืองเทมโก้การเคลื่อนไหวหลัง 14 ตุลาของขบวนการนักศึกษา

เรือขุดดีบุกลำแรกของประเทศไทย ที่อ่าวทุ่งคา จังหวัดภูเก็ต ในปี 2450 (ภาพจาก รายงานวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบประสิทธิภาพเรือขุดแร่ดีบุก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สิงหาคม 2531)

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเคลื่อนไหวสำคัญหนึ่งของขบวนการนิสิตนักศึกษาก็คือ สัมปทานเหมืองแร่ของบริษัท เทมโก้ จำกัด จนในที่สุดรัฐบาลประกาศถอนประทานบัตรของเทมโก้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา ทำให้ประเทศไม่ต้องสูญเสียผลประโยชน์นับแสนล้าน

บริษัท เทมโก้ จำกัด (TEMCO -Thailand Exploration and Mining Co.,Ltd.) เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน เราย้อนกลับไปดูที่มาของบริษัทนี้กัน

พ.ศ. 2500 กลุ่มนายทหารและข้าราชการระดับสูงที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จัดตั้ง บริษัท เหมืองบูรพาเศรษฐกิจ จำกัด

พ.ศ. 2506 บริษัท เหมืองบูรพาเศรษฐกิจ จำกัด ได้พื้นที่สำรวจแร่ประมาณ 8 ล้านไร่ (กฎหมายขณะนั้นกำหนดว่าบริษัทจะผูกขาดแร่ในทะเลได้ไม่เกิน 1 ล้านไร่, ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ได้ไม่เกิน 50,000 ไร่) ทั้งได้ชักชวนบริษัทขนาดใหญ่สัญชาติอเมริกันชื่อ บริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ เข้ามาสำรวจแทน (ในปีนี้จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต หุ้นที่จอมพลสฤษด์ถืออยู่เปลี่ยนมือมาเป็นของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร แทน)

พ.ศ. 2508 บริษัท เหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ จำกัด และบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ ตั้งโรงงานถลุงแร่ไทยซาโก้ขึ้น มีอำนาจในการผูกขาดการซื้อ, ขาย, ถลุง และส่งออกแร่ไปขายแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาบริษัท เหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ จำกัด ได้ขายหุ้นลมให้กับบริษัท บิลลิงตัน ประเทศเนเธอร์แลนด์  

พ.ศ. 2512 บริษัท เหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ จำกัด โอนประทานบัตรทั้งหมด และหุ้นของบริษัท ยูเนี่ยนคาร์ไบต์จำนวน 25,193 หุ้น ให้บริษัท เทมโก้ จำกัด ผู้ถือหุ้นในเทมโก้จึงเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด

ในกิจการเหมืองแร่ ตอนหนึ่งก็กล่าวว่า “หลังอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  การเมืองภายในเริ่มยุ่งยาก และมีชะนวนมาที่บริษัทเท็มโก้เป็นเป้าหมายสำคัญส่วนหนึ่ง โดยถือว่าเป็นปฏิบัติการผิดพระราชบัญญัติแร่ และใช้อภิสิทธิทางการเมือง ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ใหม่ ริดรอนสิทธิของบริษัทเท็มโก้แต่เดิมลง

บริษัทเหมืองแร่ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงถอนตัวด้วยการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทไทยซาร์โก้ และบริษัทเท็มโก้ให้กับบริษัทบิลลิตันฯแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์…ซึ่งต่อมาได้มีการตกลงภายในระหว่างบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์กับบริษัทบิลลิตันฯ อีกครั้งเพื่อถือหุ้นในบริษัทเท็มโก้เท่าๆ กัน ฝ่ายละ 50% รวมตลอดถึงบริษัทไทยซาร์โก้ด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นกิจการเหมืองแร่ของบริษัท บิลลิตันฯ ในประเทศไทย”

หลัง 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการของนิสิตนักศึกษษมีการเรียกร้อง เกี่ยวกับกรณีของสัมปทานเหมืองแร่เทมโก้ที่ประเทศต้องเสียประโยชน์แก่ต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2518  ความเคลื่อนของฝ่ายต่างๆ โดยสังเขปก่อนนำไปสู่การเพิกถอนสัมปทานของบริษัท  (17 มีนาคม 2518) สรุปได้ดังนี้

30 ธันวาคม 2517 ศาลสั่งปรับบริษัทเทมโก้ในกรณีไม่โอนหุ้น 8% ให้กรมทรัพยากรธรณี ทำให้ข้อมูลการฉ้อฉลเปิดโปงสู่สาธาณะชนอย่างกว้างขวาง

23 มกราคม 2518  นักเรียนนักศึกษา ประชาชน และกลุ่มพลังทางการเมือง นำโดยแนวร่วมพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลถอนประทารบัตรเทมโก้ และเอาผิดกับข้าราชการที่ร่วมกระทำผิด

1 กุมภาพันธุ์ 2518 หนังสือพิมพ์ประชาชาติ เสนอข่าว การขู่ฆ่านายธวัช มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เนื่องจากคัดค้านการต่อประทานบัตรของบริษัทเทมโก้

2 กุมภาพันธ์ 2518 บริษัมเทมโก้ประกาศหยุดงาน ลอยแพกรรมกร 500 คน เกิดการประท้วงของคนงาน

5 กุมภาพันธ์ 2518 นายสนอง บัญชาญ ผู้นำกรรมกรประท้วงบริษัท เทมโก้ถูกยิงเสียชีวิตที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

ข่าวเหมืองเทมโก้ หน้า 1 หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2518 (ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน)

8 กุมภาพันธ์ 2518 ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดไฮปาร์คที่สนามหลวง มีการเปิดประชุมนุม ทั่วประเทศของแนวร่วมต่อต้านเผด็จการ และคัดค้านการเทมโก้ ว่าปล้นทรัพยากรธรรมชาติของชาติ

13 กุมภาพันธ์ 2518 นักศึกษาออกแถลงการณ์ร่วมของแนวร่วมพิทักษ์ทรัพยการแห่งประเทศไทย ว่าคำชี้แจงของบริษัทเทมโก้ ที่ตีพิมพ์ในหน้าโฆษณาหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และแจ้งว่าวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ นิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันในกรุงเทพฯ จะมาประชุมกำหนดมาตรการร่วมกันที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์

24 กุมภาพันธ์ 2518 กรมอัยการพิจารณาด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทเทมโก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่เท่านั้น

7 มีนาคม 2518 บริษัทเหมืองแร่บูรพายื่นบันทึกประท้วงรัฐบาล โดยขู่ว่าหากรัฐบาลถอนประทานบัตร บริษัทจะดำเนินการตามกฎหมาย

14 มีนาคม 2518 เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ยื่นจดหมายถึง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นากยกรัฐมนตรีรักษาในขณะนั้นว่า ฝ่ายไทยยังไม่มีเหตุผลพอที่จะยกเลิกประทานของบริษัทเทมโก้ จึงขอให้รัฐบาลทบทวนการเพิกถอนดังกล่าว และหากมีการยกเลิกจริงแล้วก็อาจจะมีผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับอเมริกาได้

16 มีนาคม 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โจมตีรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในกรณีสัมปทานเทมโก้จริง ว่าเป็นเพียงการหาเสียงทางการเมืองเท่านั้น โดยนายเหวง โตจิราการ ผู้ประสานงานกลุ่มฯ กล่าวสรุปว่า “จากข่าวที่เราสืบทราบมานั้น รัฐบาลจะมี การถอนสัมปทานจริง แต่ถอนเพียง 5 แปลงจากทั้งหมด 7 แปลงเท่านั้น และ 5 แปลงก็เป็นส่วนที่มีมูลค่าเพียง 30,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้ทําการขุดอยู่ ส่วนที่ยังได้ประทานบัตรเหลืออีก 2 แปลง มูลค่าถึง 70,000 ล้านบาท เทมโก้สามารถขุดได้อีก 70 ปี”

17 มีนาคม 2518 รัฐบาลสั่งถอนประทานบัตรบริษัทเทมโก้ รวมทั้งสิ้น 7 แปลง ซึ่งประทานบัตรเหมืองแร่ที่ถูกถอนทั้งหมดอยู่ในอำเภอถลาง, อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดภูเก็ต และอำเภอท้ายเหมือง, อำเภอตะกั่วทุ่ง, อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 46,950 ไร่ รวมมูลค่านับแสนล้านบาท

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

คณิต เกาะเพชร. แร่ไทย ทำไมไม่โชติช่วงชัชวาล (ไม่ทราบที่มา)

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ บรรณาธิการ. จาก 14 ถึง 6 ตุลา, มูลนิธิและโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3

งานประชาสัมพันธ์ องค์การเหมืองแร่ในทะเล. เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการเรื่อง เหมืองแร่ (ไม่ได้ระบุปีที่จัดพิมพ์)

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “การเปิดความสัมพันธ์กับ ‘จีนแดง’(วันที่ 1 กรกฎษคม  พ.ศ. 2518) พิจารณาผ่านการศึกษาเรื่อง‘แนวความคิดทางการเมืองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี’” ใน, เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ เรื่อง 30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2563