ผู้เขียน | ปรีดี บุญซื่อ |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้จะเป็นสังคมที่มีโครงสร้างคล้ายกับพีระมิดมากกว่าสังคมอื่นๆ แต่อียิปต์โบราณกลับเป็นสังคมที่เปิดกว้างในเรื่องความเท่าเทียมทางโอกาส และความเท่าเทียมตามความสามารถ ทำให้เส้นทางการก้าวไปสู่ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่สูงชันเกินไปสำหรับคนธรรมดาสามัญ เส้นทางชีวิตของ อิมโฮเตป ที่มีพื้นเพเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่สามารถก้าวข้ามฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อย จนกลายเป็นหัวหน้านักบวชชั้นสูงของวิหารเทพเจ้ารา เมืองเฮลิโอโพลิส (Heleopolis) สถาปนิกหลวง และมหาเสนาบดี ตัวอย่างของอิมโฮเตปจึงสะท้อนภาพที่งดงามอย่างหนึ่งของสังคมอียิปต์โบราณ
คนในปัจจุบันได้ยินชื่อเสียงของอิมโฮเตป เพราะเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบพีระมิดแห่งแรกของโลกที่นักอียิปต์วิทยาเรียกว่า “พีระมิดขั้นบันได” แต่มาจนถึงเวลานี้ ไม่มีใครรู้ว่า อิมโฮเตป ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 4 พันกว่าปีมาแล้ว เป็นคนมีพื้นเพความเป็นมาอย่างไร การพัฒนาด้านภูมิปัญญาและอัจฉริยะภาพของเขา เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อิมโฮเตปเปรียบเหมือนคนๆ หนึ่ง ที่รวมเอาอัจฉริยะภาพของดาวินชี่, ไมเคิล แอนเจโล, กาลิเลโอ และนิวตัน มารวมอยู่ในตัวเขาทั้งหมด ข้อมูลเหล่านี้ดูจะสูญหายไปหมดแล้วกับกาลเวลา
ทางเหนือของนครไคโร มีเสาหินโอบิลิสค์ (Obelisk) แท่งหนึ่งตั้งอยู่อย่างโดดเด่น ในอดีต บริเวณแห่งนี้คือที่ตั้งของมหานครที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง คนอียิปต์โบราณเรียกชื่อเมืองนี้ว่า อิยูนู (Iunu) ต่อมาภายหลัง พวกกรีซเรียกว่า เฮลิโอโพลิส แปลว่านครสุริยะ นครแห่งนี้เกิดขึ้นมาก่อนพีระมิดใด นครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการบูชาเทพเจ้ารา การเรียนรู้ของบรรดานักปราชญ์อียิปต์ แบบเดียวกับเมืองอเล็กซานเดรียในยุคปโตเลมี อียิปต์ในยุคราชอาณาจักรเก่า การบูชาเทพเจ้าราคือศาสนาแห่งรัฐ เทพเจ้าราเปรียบเหมือน Godfather ของเหล่าเทพอื่นๆ หัวหน้านักบวชของวิหารเทพเจ้ารา จึงเป็นคนที่มีสติปัญหาฉลาดสุดของอียิปต์ หนึ่งในหัวหน้านักบวชนี้มีนามว่า อิมโฮเตป
อียิปต์โบราณในยุคราชอาณาจักรเก่า พื้นที่สุสานหลวงของนครเมมฟิส (Memphis) ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า ซักการา บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของพีระมิดแห่งแรก เรียกว่าพีระมิดขั้นบันได คนในปัจจุบันรู้ว่า สถาปัตยกรรมของพีระมิดแห่งนี้ เกิดจากจินตนาการของอิมโฮเตป การขุดพบเศษกระเบื้องในบริเวณพีระมิดขั้นบันได ที่เป็นของฟาโรห์โจเซอร์ มีการบะรุชื่อของอิมโฮเตป แต่สุสานของอิมโฮเตปเอง ยังไม่ถูกค้นพบจนถึงทุกวันนี้
พีระมิดขั้นบันไดถือกันว่าเป็นก้าวกระโดดของอียิปต์โบราณด้านสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างที่ทำจากหิน บริเวณของพีระมิดประกอบด้วย ห้องฝังพระศพ วิหารพิธีศพ และวิหารบูชา ที่มารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เหนือห้องฝังพระศพสร้างเป็นพีระมิดแบบขั้นบันได 6 ชั้นบริเวณอนุสรณ์สถานล้อมรอบด้วยกำแพงที่สร้างแบบกำแพงพระราชวังนักอียิปต์วิทยาเรียกอนุสรณ์สถานนี้ว่าพีระมิดคอมเพล็กซ์
ในหนังสือชื่อ The Traveler’s Key to Ancient Egypt ผู้เขียนคือ John Anthony West เขียนไว้ว่า คนที่ไปเยือนซักการา ครั้งแรกเมื่อมองเห็นกำแพงที่ล้อมรอบพีระมิดขั้นบันได จะรู้สึกว่า ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างแบบอียิปต์ แต่มองดูแล้วคล้ายๆ กับอาคารของมหาวิทยาลัยในสเปน หรือในรัฐอริโซน่า แนวก่อสร้างที่ประณีตหมดจด สะท้อนความสมบูรณ์แบบของการก่อสร้าง ที่อีก 2 พันปีต่อมา พวกกรีซจะนำไปเป็นแบบอย่าง ในทางสถาปัตยกรรม
พีระมิดคอมเพล็กซ์ของฟาโรห์โจเซอร์ ถือเป็นความสำเร็จแบบก้าวกระโดด ที่ไม่มีตัวอย่างในอดีตใดๆ ให้เป็นบทเรียน ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ เมื่อมนุษย์เราคิดสร้างรถยนต์ขึ้นมาครั้งแรก ก็เริ่มต้นสร้างรถยนต์ยี่ห้อ Porsche รุ่นที่แล้วเลยทันที
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2560