เผยแพร่ |
---|
หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 ทหารเข้ายึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วไม่ยอมถอนกำลังออก โดยให้เหตุผลว่า การยึดธรรมศาสตร์นั้นเป็นไปเพื่อเหตุผลทางยุทธศาสตร์ และต่อมาอ้างว่า ขอยืมพื้นที่ชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้นักศึกษาไม่มีที่เรียนนานกว่า 4 เดือน ต้องอาศัยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเนติบัณฑิตสภาเป็นสถานที่ศึกษาชั่วคราว
ต่อมาในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2494 กองทัพบกจึงยื่นข้อเสนอขอซื้อมหาวิทยาลัยในราคา 5 ล้านบาท โดยกองทัพให้เหตุผลว่า ที่ตั้งมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่เหมาะสมทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นจุดรักษาสถานที่สำคัญของชาติ เช่น พระบรมมหาราชวัง ท้องพระคลัง และสถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารจึงต้องการใช้พื้นที่ของธรรมศาสตร์ต่อไป
นักศึกษาจึงประท้วงต่อต้านรัฐบาลและกองทัพ ฝ่ายรัฐบาลได้ส่ง พลโทสวัสดิ์ ส. สวัสดิเกียรติ มาดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ประศาสน์การของธรรมศาสตร์ ในวันที่พลโทสวัสดิ์ไปทำพิธีเปิดที่เรียนใหม่ของนักศึกษาที่เนติบัณฑิตสภา นักศึกษาได้ตะโกนถามว่า ธรรมศาสตร์ปิดเพราะอะไร พลโทสวัสดิ์ตอบว่า “ปิดเพราะจลาจล ปัจจุบันยังไม่คลี่ลคาย” ฝ่ายนักศึกษาตะโกนหัวเราะทำให้พลโทสวัสดิ์โกรธมาก และกล่าวว่า “อย่าล้อกับข้าพเจ้าอย่างนี้ ท่านผู้มีเกียรติ ข้าพเจ้าไม่หวั่นอะไรเลย ข้าพเจ้าไม่เคยคิดจะหวาดหวั่นที่ในนี้มีศัตรูแอบแฝงอยู่ ถ้าอย่างไรก็พบกับข้าพเจ้าได้”
พื้นที่เดิมของธรรมศาสตร์เป็นที่ตั้งของโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 มาก่อน ซึ่งในเวลานั้นกระทรวงกลาโหมไม่ต้องการใช้งานแล้วจึงแปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝ่ายนักศึกษาจึงออกแถลงการณ์คัดค้านการยึดมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลที่สำคัญ คือ
“…การอ้างพงศาวดารว่า มหาวิทยาลัยนี้เคยเป็นของทหารมาก่อนรับฟังไม่ขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยนี้ มีพระราชบัญญัติซึ่งกำหนดขอบเขตและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไว้ถูกต้องแล้ว ถ้ามัวแต่อ้างพงศาวดารโดยปราศจากความถูกต้องเป็นจริงในปัจจุบันก็เสมือนอ้างว่า ผืนแผ่นดินไทยนี้เคยเป็นของชนชาติเขมรมาก่อน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ทุกสิ่งทุกอย่างจะถอยหลังลงคลองหมด…
การจะอ้างความจำเป็นว่า ต้องการให้เป็นที่พักของทหารกรมผสมที่ 21 จากสมรภูมิเกาหลี ก็เป็นการชี้เจตนาว่า รัฐบาลนี้มีนโยบายส่งเสริมการรุกรานมากกว่าส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะทั้ง ๆ ที่กองทหารพอจะได้อยู่อาศัยก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่มหาวิทยาลัยมีอยู่เพียงน้อยแห่ง ก็ยังไม่วายจะยึดครองเป็นที่พักของทหาร…”
ต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2494 เพทาย โชตินุชิต ส.ส.ธนบุรี ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องการยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “ขณะนี้เหตุการณ์บ้านเมืองก็เรียบร้อยแล้ว กฎอัยการศึกก็เลิกแล้ว ทหารอาศัยอำนาจอะไรจึงเข้าไปยึดครอง หรือเข้าไปอาศัยในมธก.” พลโทสวัสดิ์ตอบว่า “ทหารต้องเขาอาศัยด้วยความจำเป็น… และไม่ได้ใช้อำนาจอะไร แต่เข้าขออาศัยด้วยอัธยาศัยไมตรี มธก.น่าจะรู้สึกเป็นเกียรติที่เสียสละเพื่อทหารเสียด้วยซ้ำ” ส่วนการที่ทหารจะออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อใดนั้น “ตอบไม่ได้”
ในวันนั้นนักศึกษาหลายพันคนหยุดเรียนไปชุมนุมที่รัฐสภาเพื่อฟังการอภิปราย และได้ยื่นข้อเสนอจะขอซื้อมหาวิทยาลัยคืน อ้างว่า เมื่อกองทัพบกขอซื้อมหาวิทยาลัยได้ นักศึกษาก็จะรวบรวมเงินขอซื้อมหาวิทยาลัยคืนเช่นกัน จนเมื่อได้ฟังคำแถลงของพลโทสวัสดิ์ นักศึกษาจึงตะโกนเรียกร้องขอพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จากนั้น จอมพล ป. ได้ออกมาพบและชี้แจงต่อนักศึกษาว่า รัฐบาลยังไม่ได้รับข้อสเนอขอซื้อธรรมศาสตร์จากกองทัพบก และจะให้มีการถอนทหารออกจากมหาวิทยาลัยก่อนเดือนธันวาคมนี้
แต่เมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ยังไม่มีทีท่าว่ากองทัพบกจะถอนกำลังออกจากมหาวิทยาลัย ดังนั้น ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นักศึกษาที่เดินทางไปทัศนศึกษาที่นครสวรรค์ด้วยรถไฟ ขากลับเดินทางถึงหัวลำโพงได้เตรียมรถบัส 15 คัน นำนักศึกษาทั้งหมดไปยังธรรมศาสตร์ ร่วมกับนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งรวมกว่า 3,000 คน บุกฝ่าทหารรักษาการณ์เข้าไปในมหาวิทยาลัย ชุมนุมเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนจากกองทัพบกด้วยสันติวิธิ โดยประกาศไม่ยอมออกจากพื้นที่ ในที่สุดกองทัพบกจึงต้องคืนมหาวิทยาลัยให้กับนักศึกษา
นับแต่นั้นมา จึงถือเอาวันที่ 5 พฤศจิกายน เป็น “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ้างอิง :
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2553). แผนชิงชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: พี.เพรส
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2547). ธรรมศาสตร์การเมืองไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึง 14 ตุลา 2516 – 6 ตุลา 2519. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2563