ชะตาชีวิต “มาตา ฮารี” นักเต้นระบำเปลื้องผ้า และสายลับสองหน้า (ผู้บริสุทธิ์?)

มาตา ฮารี นักเต้นระบำเปลื้องผ้า
มาตา ฮารี

มาตา ฮารี เป็น “นักเต้นระบำเปลื้องผ้า” ผู้แสนโด่งดังเมื่อราวร้อยปีก่อน และยังเป็นฉายาของ “สายลับสองหน้า” ที่ใช้เสน่ห์เป็นอาวุธในการล้วงความลับจากชายที่หลงในแรงดึงดูดแห่งกามาอันยากจะปฏิเสธของเธอ แต่ตัวตนจริงๆ ของเธออาจเป็นเพียงเหยื่อของระบบที่ทำให้ผู้หญิงตัวคนเดียวต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น

พื้นเพของมาตา ฮารี เป็นชาวฮอลันดา เกิดเมื่อ ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ในครอบครัวช่างทำหมวกมีอันจะกิน บ้านอยู่ใกล้กับชายแดนเยอรมนี เดิมเธอมีชื่อว่า มากาเรธา เกียร์ทรูดา เซลล์ (Magaretha Geetruida Zelle) พ่อแม่ของเธอเลิกกันหลังจากพ่อล้มละลายเพราะเล่นหุ้นน้ำมัน ก่อนที่แม่จะมาตายตอนเธออายุได้ 14 ปี การขาดแม่ตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เธอต้องรับผิดชอบอะไรหลายๆ อย่างเกินกว่าเด็กวัยเดียวกัน

มาตา ฮารี นางระบำแสนงาม

เมื่ออายุได้ 18 ปี เธอไปเจอประกาศหาคู่ในหนังสือพิมพ์ ชายคนนั้นเป็นนายทหารที่ประจำการอยู่ในชวา ซึ่งอายุมากกว่าเธอกว่า 20 ปี หญิงสาวจึงลองสมัครไปเล่นๆ แต่ปรากฏว่านายทหารคนนี้เอาจริง เธอจึงได้แต่งงานกับ รูดอล์ฟ แมคลาวด์ (Rudolph MacLeod) นายทหารแห่งกองทัพอาณานิคมดัตช์เชื้อสายสก็อต ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 39 ปีแล้ว

การแต่งงานทำให้ “เกรธา” มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งคู่เดินทางไปใช้ชีวิตร่วมกันที่ชวา อาณานิคมของฮอลันดาสมัยนั้น การเดินทางครั้งนี้เองที่ทำให้เธอได้ฝึกฝนการเต้นระบำแบบพื้นเมืองชวา ซึ่งกลายเป็นความสามารถติดตัวที่สร้างชื่อให้ในภายหลัง

ระหว่างที่ทั้งคู่คบหากัน มีการกล่าวหาว่าเธอและแมคลาวด์เคยร่วมกันกรรโชกทรัพย์หนุ่มโชคร้ายหลายราย โดยให้เกรธายั่วตัณหาชายหนุ่มเหล่านั้น ก่อนที่แมคลาวด์จะทำทีหุนหันเข้ามาเห็นการทำชู้โดย “บังเอิญ” แต่ความจริงเป็นการเตี๊ยมไว้ก่อน พฤติกรรมนี้ทำเงินให้ทั้งคู่ไปหลายอัฐ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกรธาเต็มใจให้ความร่วมมือหรือไม่ หรือเป็นเพียงเรื่องแต่งทั้งหมด

นอกจากนี้ การสมรสของเธอก็ยังเต็มไปด้วยปัญหาอื่นๆ ว่ากันว่าเกรธาชอบโปรยเสน่ห์ใส่หนุ่มๆ ทั้งเศรษฐีพื้นเมืองและทหารที่ถูกส่งไปประจำการในแดนอาณานิคม ฟากสามีก็เลยตอบโต้ด้วยการไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่นและใช้กำลังทุบตีเธอ เกรธาเคยกล่าวหาว่า แมคลาวด์เคยพยายามฆ่าเธอด้วยมีดหั่นขนมปัง แต่เธอเอาชีวิตรอดมาได้เพราะเก้าอี้ที่ขวางทางอยู่ ทำให้วิ่งหนีไปขอความช่วยเหลือได้ทัน

เกรธาเคยติดเชื้อซิฟิลิสจากสามี ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอบอกว่า จริงๆ แล้วเธอไม่ได้ชอบการมีเพศสัมพันธ์ (เหมือนอย่างที่หลายคนคิด) เนื่องมาจากประสบการณ์ที่ไม่อาจลืมซึ่งได้รับจากสามี และขณะที่อยู่ในชวา ลูกๆ ของเธอทั้ง นอร์แมน (Norman) ลูกชายคนโต และ นอน (Non) ลูกสาวก็ป่วยหนักอย่างปริศนา บ้างก็ว่าทั้งคู่อาจป่วยด้วยเชื้อซิฟิลิสที่ติดจากพ่อหรือแม่ บ้างก็ว่าพวกเขาถูกวางยาโดยพี่เลี้ยงเด็ก ท้ายสุดนอร์แมนเสียชีวิต ส่วนนอนรอดตายมาได้แบบหวุดหวิด

เมื่อทั้งคู่เดินทางกลับฮอลันดาในปี 1902 (พ.ศ. 2445) ก็ตัดสินใจแยกกันอยู่ เกรธาได้สิทธิในการเลี้ยงดูลูก แต่เมื่อเธอไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก เกรธาจึงเดินทางไปกรุงปารีสตามลำพังในปี 1905 (พ.ศ. 2448) เธอกล่าวถึงการตัดสินใจในครั้งนั้นว่า “ฉันคิดว่าผู้หญิงทุกคนที่หนีผัวก็คงต้องไปปารีสทุกคนนั่นแหละ”

ที่ปารีส เธอสร้างชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการเป็นนักเต้นระบำแบบตะวันออก ด้วยชุดที่ประดับด้วยอัญมณีแพรวพราวทั่วร่าง ภายใต้ชื่อในวงการว่า “คุณหญิงแมคลาวด์” (Lady MacLeod) ก่อนเปลี่ยนไปใช้ชื่อ “มาตา ฮารี” ภาษามาเลย์ที่หมายถึงแสงสว่างของดวงอาทิตย์ (แปลตรงๆ ว่า “eye of the day” หรือดวงตาแห่งทิวากาล) จากนั้นในปี 1906 เธอกับแมคลาวด์ก็หย่าขาดจากกันอย่างเป็นทางการ

ภาพถ่ายในปี 1906 ของมาตา ฮารี

รูปแบบการแสดงที่ทำให้เธอโดดเด่นมีชื่อเสียงมาจากท่วงท่ายั่วยวน และพร้อมที่จะแสดงเนื้อหนังอันเปลือยเปล่าอย่างมั่นใจ ชื่อเสียงในวงการมาพร้อมกับเรื่องเล่าความเป็นมาแสนพิสดาร เธออ้างว่าตัวเองเป็นลูกสาวนักเต้นระบำในวิหารฮินดู ต้องเต้นเปลือยต่อหน้ารูปปั้นพระศิวะตั้งแต่อายุได้เพียง 13 ปี ซึ่งรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคลึงกับชาวตะวันออกก็ทำให้เรื่องเล่าดังกล่าวเข้ากันได้ดี และด้วยความที่โลกตะวันตกยังไม่คุ้นเคยดินแดนชวา ทุกคนจึงพากันเชื่อความเป็นมาที่แต่งขึ้นอย่างไม่มีมูลความจริง

ความโด่งดังของมาตา ฮารี ได้มาอย่างรวดเร็วสำหรับนักเต้นที่เริ่มต้นอาชีพเมื่อมีอายุมากแล้ว (เธอเริ่มเต้นเป็นอาชีพเมื่ออายุย่างเข้าวัยเลขสาม) แต่ยุคทองของเธอก็อยู่ได้เพียงไม่กี่ปี เรือนร่างทรงเสน่ห์สำหรับนักเต้นเริ่มเป็นแหล่งสะสมไขมันไปตามวัย มาตา ฮารีจึงหันไปเป็นนางบำเรอให้ชนชั้นสูง ทั้งนักการเมืองและนายทหารในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึง จูลส์ คัมบง (Jules Cambon) นักการทูตระดับสูงของฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารวิลเฮล์มแห่งปรัสเซีย

การที่มาตา ฮารี ไปคลุกคลีอยู่กับชนชั้นสูงที่มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองและการทหารหลายประเทศ และเดินทางเข้าออกหลายประเทศเป็นว่าเล่น กลายเป็นที่ต้องสงสัยว่าหญิงสาวมีเบื้องหลังอะไรหรือไม่

สายลับสองหน้า 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น ขณะนั้นมาตา ฮารี ยังอยู่ในเยอรมนี แต่เมื่อเดินทางไปยังฝรั่งเศส ชาติศัตรู เยอรมนีก็ยึดทรัพย์สินทั้งหมดของเธอ (ที่อยู่ในเขตอำนาจของเยอรมนี) มาตา ฮารีจึงเดินทางกลับไปเนเธอร์แลนด์ ฝ่ายข่าวกรองของเยอรมนีได้เข้าหาเธอ และขอให้เดินทางไปยังฝรั่งเศสในฐานะสายลับแลกกับเงิน 5 หมื่นฟรังซ์ ซึ่งภายหลังเธออ้างว่า ที่รับปากก็เพื่อชดเชยกับทรัพย์สินที่ถูกพวกเยอรมันปล้นไป โดยไม่มีเจตนาจะช่วยเหลือพวกเยอรมันแต่อย่างใด

ขณะที่อยู่ในปารีส มาตา ฮารีตกหลุมรัก วาคิม มาสลอฟ (Vakim Maslov) นักบินรัสเซียที่ประจำการในกองทัพฝรั่งเศส ต่อมาเขาได้รับบาดเจ็บจากการรบ จนดวงตาสูญเสียความสามารถในการมองเห็นทั้งสองข้าง มาตา ฮารีต้องการไปเยี่ยมคนรักที่รักษาตัวอยู่ในแนวหน้า ฝ่ายข่าวกรองฝรั่งเศสได้ยื่นเงื่อนไขว่า เธอจะต้องเป็นสายลับให้ฝรั่งเศส เพื่อล้วงความลับจากเยอรมนี จึงจะมีสิทธิได้เยี่ยมคนรัก ด้วยเห็นว่าเธอสามารถเข้าถึงตัวผู้นำระดับสูงของเยอรมันได้ รวมถึงองค์มกุฎราชกุมาร จึงเสนอค่าตอบแทนอีกต่างหาก 1 ล้านฟรังซ์ มาตา ฮารียอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ด้วยหวังจะได้เริ่มชีวิตใหม่กับคนรักใหม่

แต่ขณะกำลังออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่เบลเยียมด้วยเรือจากสเปน เธอถูกอังกฤษกักตัวและสอบสวนอยู่เป็นเวลานานก่อนจะปล่อยตัวไป เข้าถึงช่วงปลายปี 1916 (พ.ศ. 2459) มาตา ฮารีเดินทางกลับไปยังสเปน และตัดสินใจล้วงความลับจาก อาร์โนลด์ เคลเลอ (Arnold Kalle) ทูตทหารเยอรมันในมาดริด และขอให้ช่วยจัดการให้เธอได้พบกับมกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซียที่เธอเคยมีสัมพันธ์ด้วย ทูตทหารเยอรมันรู้ทันสายลับสมัครเล่น จึงได้แต่บอกข้อมูลที่ล้าสมัยหรือข้อมูลเท็จ ส่วนเธอก็เล่าเรื่องข่าวลือทางฝั่งฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ได้มีราคาอะไรมากเป็นการแลกเปลี่ยน

ไม่นานจากนั้น ทูตเยอรมันรายนี้ก็ส่งข้อความลับซึ่งได้จาก “H21” สายลับที่ลักษณะตรงกับมาตา ฮารี กลับไปยังเบอร์ลิน โดยใช้รหัสลับที่ฝรั่งเศสสามารถถอดได้แล้ว ราวกับจงใจเล่นงานมาตา ฮารี ที่ให้ข้อมูลขยะกับเขาเป็นการเอาคืน

มาตา ฮารีเมื่อถูกจับกุมตัวในปี 1917

เมื่อเดินทางกลับกรุงปารีส มาตา ฮารีไม่สามารถติดต่อผู้ดูแลของเธอได้ และถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสด้วยข้อหาจารกรรม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี 1917 (พ.ศ. 2460) จากนั้นก็ถูกพิจารณาคดีเป็นการลับ ก่อนศาลจะตัดสินให้เธอมีความผิดต้องโทษประหารชีวิต ว่ากันว่า มาตา ฮารีเป็นเพียงแพะรับบาปของรัฐบาลฝรั่งเศสต่อความล้มเหลวในการทำสงคราม โดยโทษว่าเธอขายความลับให้กับพวกเยอรมัน ทำให้ฝรั่งเศสต้องเสียท่า

ในวาระสุดท้าย หญิงแกร่งที่ต้องพึ่งพาตนเองตั้งแต่เด็ก เลือกเผชิญหน้ากับความตายอย่างกล้าหาญ มาตา ฮารีขอให้เพชฌฆาตไม่ต้องปิดตาของเธอขณะลั่นไก เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ปี 1917 ชีวิตของมาตา ฮารี กลายเป็นตำนานเล่าขานถึงปัจจุบัน และยังเป็นที่ถกเถียงในหลายแง่มุม โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ทำให้เธอต้องจบชีวิต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Mata Hari”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/biography/Mata-Hari-Dutch-dancer-and-spy>

“Seduced by the Memory of Mata Hari”. The Independent. <http://www.independent.co.uk/news/world/europe/seduced-by-the-memory-of-mata-hari-1805637.html>

“Mother, Dancer, Wife, Spy: the Real Mata Hari”. The Guardian. <https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2016/dec/05/the-real-mata-hari-executed-abused-woman>

“Mata Hari”. Mashable. <http://mashable.com/2016/04/01/mata-hari/>

ฝันรักของ “มาตา ฮารี” โดย นารีรัตน์. บานไม่รู้โรย ฉบับ สิงหาคม 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2560