เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่ใช่ “พระศรีสรรเพชญ”

ภาพ “เศียรใหญ่” ทำจากสำริด สูง 1.67 เมตร พระพักตร์ยาว 0.92 เมตร สันนิษฐานว่าได้จากวัดพระศรีสรรเพชญ จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันจัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
ภาพ “เศียรใหญ่” ที่ ปัจจุบันจัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในห้องจัดแสดงพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ปัจจุบันมีการจัดแสดงเศียรพระพุทธสำริดขนาดใหญ่  ซึ่งก่อนหน้านั้นในแวดวงวิชาการมีการนำเสนอว่า เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวเป็น “เศียรพระศรีสรรเพชญ”

แต่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน 2563 รศ. พิชญา สุ่มจินดา ให้ข้อคิดเห็นใหม่ ด้วยบทความชื่อว่า ‘เศียรใหญ่’ ไม่ใช่ ‘พระศรีสรรเพชญ’ ” โดยการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อหาความเป็นไปได้ว่า เศียรดังกล่าวควรเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญหรือไม่ ในหลากหลายประเด็นในการพิจารณา

Advertisement

หนึ่งในจำนวนนั้นคือประเด็นที่ว่า เศียรใหญ่มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงที่สร้างพระศรีสรรเพชญหรือไม่”

เริ่มจากปีที่หล่อพระศรีสรรเพชญ อ้างอิงตาม พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่า พ.ศ. 2043 เป็นปีที่เริ่มหล่อพระศรีสรรเพชญ

พระพุทธรูปนายจอมเภรี

รศ.พิญชา สุ่มจินดา จึงรวบรวมข้อมูลพระพุทธรูปแถบภาคกลางของไทยมาเทียบเคียงกับพระศรีสรรเพชญ ดังนี้

พระพุทธรูปนายจอมเภรี ปรากฏจารึกที่ฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2052 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072) พร้อมกับจารึกในสมัยรัชกาลที่ 1 ระบุว่าเชิญมาจากสุโขทัย ปีที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้จึงห่างจากปีอ้างอิงที่สร้างพระศรีสรรเพชญเพียง 9 ปี

พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อย วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย มีจารึกระบุปีที่สร้างตรงกับ พ.ศ. 2084 ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077-89) ห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญ 41 ปี

พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย

พระมงคลบพิตร แม้พระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีจารึกกำหนดอายุเวลา แต่ข้อมูลจากการบันทึกของฟาน ฟลีต กล่าวถึง วัดพระชีเชียง ที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตและน่าอัศจรรย์ ภายหลังวัดพระชีเชียงชำรุดทรุดโทรมไม่มีผู้ใดกล้าปฏิสังขรณ์มาเกือบร้อยปี จนราวเดือนธันวาคม พ.ศ. 2181 จนถึงมกราคม พ.ศ. 2182 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองรับสั่งให้รื้อวัดดังกล่าว และย้าย “รูปหล่อทองแดง” ออก เพื่อสร้างวัดใหม่

“รูปหล่อทองแดง” ที่ฟาน ฟลีต กล่าวถึง คือ พระมงคลบพิตรจากวัดพระชีเชียงที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสร้างใน พ.ศ. 2081 และสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงย้ายมาประดิษฐาน ณ ตำแหน่งปัจจุบันนั่นเอง

ภาพถ่ายเก่าพระมงคลบพิตร สำริด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2081วิหารพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อพิจารณาพระพุทธทั้ง 3 องค์ มีพระพักตร์ใกล้เคียงกัน พระเนตรเล็กเรียวเหลือบลงต่ำ, พระขนงโก่ง พระนาสิกเล็กคมเป็นสัน เว้นแต่พระมงคลบพิตรมีพระโอษฐ์ในสัดส่วนที่กว้างกว่า

รศ. พิชญาวิเคราะห์ว่า ความคล้ายคลึงกันดังกล่าวช่วยสนับสนุนข้อความจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และบันทึกของฟาน ฟลีตว่า พระมงคลบพิตรสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชด้วย พระพุทธรูปที่มีพระพักตร์ในลักษณะเดียวกันนี้น่าจะเป็นที่นิยมในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ดังมีตัวอย่างพระพุทธรูปลีลาสำริด สมบัติส่วนบุคคล และพระพุทธรูปสำริดประทับสมาธิราบ ปางมารวิชัยในระเบียงคดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามที่อาจเป็นรูปจำลองของพระมงคลบพิตร

น่าสังเกตว่าแม้ว่าปีที่สร้างพระพุทธรูปนายจอมเภรี พระมงคลบพิตร และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยดังกล่าว จะห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญในระหว่าง 9-41 ปีก็ตาม แต่ก็จะเห็นว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากกันมากนัก…

นอกจากพระพุทธรูปที่สามารถกำหนดอายุเวลาได้จากจารึกและเอกสารทั้ง 3 องค์แล้ว ยังพบพระพุทธรูปยืนสำริด ทรงครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ขวาประทานอภัย องค์หนึ่งไม่ทราบที่มาประดิษฐานในพระระเบียงคดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และอีกองค์ได้จากวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ประดิษฐานในพระระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

พระพุทธรูปทั้ง 2 องค์มีลักษณะพระพักตร์ใกล้เคียงกับพระมงคลบพิตรและพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยที่กล่าวถึงข้างต้น จึงน่าจะสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งหากพระศรีสรรเพชญยังคงสภาพสมบูรณ์ก็อาจมีพระพักตร์และพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปยืนเหล่านี้ที่อาจเป็นรูปจำลองของพระศรีสรรเพชญก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปบางองค์จากช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ที่มีพระพักตร์คล้ายคลึงดังกล่าวจะพบในหัวเมืองเหนืออย่างสุโขทัย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในช่วงระยะเวลานั้นสุโขทัยได้กลายเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอย่างสมบูรณ์แล้ว โอกาสที่จะมีการถ่ายทอดพุทธศิลป์ระหว่างกันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ”

ส่วน “เศียรใหญ่” นั้น รศ. พิชญาอธิบายไว้ว่า “พระพักตร์เป็นทรงผลมะตูม พระปรางอิ่ม พระศกเป็นหนามขนุน แสดงความคมชัดและชัดลึกขององค์ประกอบพระพักตร์ที่เด่นชัดกว่าพระพุทธรูปสมัยก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเหลี่ยมพระขนงยกขึ้นเป็นสันคมไม่เป็นเส้นพระขนงแบบเดิมรับกับพระนาสิกใหญ่โด่งเป็นสันมนปลายงุ้ม พระเนตรเป็นรูปช้อย หางพระเนตรเรียวแหลมขึ้นแบบที่เรียกว่า ตานกนอน เปลือกพระเนตรกว้าง เส้นขอบบนของพระเนตรล้อกับเหลี่ยมพระขนงที่ค่อนข้างกว้างเช่นกัน พระโอษฐ์กว้าง และแย้มพระสรวลเล็กน้อยที่มุมพระโอษฐ์”  

ในประเด็นที่ว่า “ ‘เศียรใหญ่’ มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงที่สร้างพระศรีสรรเพชญหรือไม่” จึงน่าจะสรุปได้ว่า “เศียรใหญ่” มีพระพักตร์ไม่สอดคล้องกับพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาใกล้เคียงการสร้างพระศรีสรรเพชญ พ.ศ. 2043

แต่เดี๋ยวก่อน ก่อนที่จะฟันธงว่า “เศียรใหญ่”  ไม่ใช่ “พระศรีสรรเพชญ”

เรายังเหลืออีก 2-3 ประเด็น ที่ผู้เขียน (รศ. พิชญา สุ่มจินดา) จัดหนักมาให้  ได้แก่ “เศียรใหญ่” เคยประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญหรือไม่, “เศียรใหญ่” เคยเป็นพระพุทธรูปยืนหรือประทับและมีขนาดเท่าใด และ “เศียรใหญ่” มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงเวลาใด ซึ่งทั้งหมดนี้มีคำตอบอยู่ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายนนี้


เผยแพร้ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563