“ตำนานตากัน สัตหีบ” : มุขปาฐะท้องถิ่นของชาติไทย

กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ในลักษณะที่ศูนย์กลางมีอำนาจอยู่เหนือกว่าท้องถิ่น และลักษณะความเป็น “นักเลง” ของท้องถิ่นภาคตะวันออก ผ่านเรื่องเล่ามุขปาฐะของคนท้องถิ่นบ้านสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แม้ว่าเรื่องราวที่ปรากฏและถูกถ่ายทอดเป็นตำนานประจำถิ่นซึ่งเต็มไปด้วยความเหนือจริง อภินิหาร อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ที่มักเป็นจุดดึงดูดความสนใจและสร้างความเพลิดเพลินแก่ทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง รวมทั้งการเล่าเรื่องสืบต่อกันด้วยวาจาผ่านคนหลายรุ่นหลายสมัย ทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตแม้ไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมาก็มักจะถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงหรือเป็นเรื่องเล่าแสดงเรื่องราวที่ผ่านมาอย่างไม่ตรงไปตรงมา (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2555, หน้า 3)

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องเล่าตำนานประจำถิ่นยังคงหลงเหลือร่องรอยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และรอคอยผู้สนใจที่จะใคร่ครวญศึกษาตีความเรื่องราวอย่างหลากหลายแง่มุม ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นมีประวัติศาสตร์เป็นของท้องถิ่นและหลุดจากกรอบโครงของประวัติศาสตร์รัฐชาติแบบรวมศูนย์อำนาจ

สนามบินอู่ตะเภา (ภาพจาก มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2555, 2556)

“ตากัน สัตหีบ” : ตำนานประจำถิ่นบ้านสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ตำนานประจำถิ่นเรื่อง “ตากัน สัตหีบ” เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยผู้เขียนเชื่อว่าเกิดขึ้นในช่วงก่อน พ.ศ. 2465 เพราะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ดังจะกล่าวข้างหน้า โดยตำนานมีแบบเรื่องเกี่ยวกับผู้วิเศษประลองฤทธิ์และมีแนวคิดเกี่ยวกับอภินิหารของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสัมพันธ์กับสายน้ำในแบบเรื่องผ่านทางพบเทพ กล่าวคือ เป็นตำนานกล่าวถึงการต่อสู้กันด้วยคาถาอาคมระหว่างผู้มีวิชาอาคม โดยมีโครงเรื่องที่ผู้มีวิชาอาคมสองคนมาพบกัน แล้วได้ประลองฤทธิ์ โดยสุดท้ายก็ปรากฏผลการประลอง รวมทั้งเป็นการแสดงความศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องน้ำในท้องถิ่นที่สามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่าง ๆ ขึ้นระหว่างการเดินทางทางน้ำ โดยตากันผู้วิเศษในตำนานมีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลอุปสรรคในการสัญจรทางน้ำได้ (สายป่าน ปุริวรรณชนะ, 2548, หน้า 93-94, 106-107)

ตามตำนานเล่ากันว่า ตากันเป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า เป็นที่รู้จักกันดีของชาวสัตหีบ เมื่อ 70-80 ปีก่อน ตากันเป็นศิษย์ผู้พี่ของหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ โดยเคยบวชเรียนเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาก่อนหลวงพ่ออี๋ แต่ด้วยความร้อนวิชา ตากันจึงได้ลาสิกขาบท แล้วมาปลูกกระท่อมอยู่บนหน้าผาแห่งหนึ่งที่สัตหีบ โดยชาวบ้านเรียกกันว่า “อ่าวตากัน” ซึ่งในภายหลังทางราชการเปลี่ยนชื่อเป็น “อ่าวดงตาล”

ตากันเป็นคนกว้างขวาง แต่ร้อนวิชาอาคมจนสร้างความเดือดร้อนให้แก่นักเดินเรือทั่วไป โดยทุกวันตากันจะนั่งอยู่ในกระท่อมบนหน้าผาริมทะเล เมื่อมีเรือใหญ่เช่นเรือสินค้าหรือเรือเดินทะเลผ่านมา ตากันก็จะใช้วิชาอาคมที่ร่ำเรียนมาทำให้เรือลำนั้น ๆ หยุดอยู่กับที่ แก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้ แล้วจึงให้ลูกน้องลงเรือเล็กไปบอกเจ้าของเรือว่า หากไม่จ่ายเงินให้ตากัน เรือจะอยู่ตรงนั้นไม่สามารถไปต่อได้ พวกเจ้าของเรือจึงต้องยอมและกลายเป็นธรรมเนียมว่า หากเรือลำใดจะผ่านที่อยู่ของตากันก็จะต้องจ่ายเงินให้ตากันหนึ่งชั่ง

แต่วันหนึ่ง ตากันสำแดงเดชผิดที่ เพราะไปสะกดเอากองทัพเรือเข้า เรื่องจึงถึงพระกรรณเสด็จเตี่ย (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) พระองค์กริ้วอย่างมาก จนถึงกับเสด็จมาด้วยพระองค์เอง จึงเกิดศึกประลองคาถาอาคมระหว่างเสด็จเตี่ยกับตากัน โดยแต่แรกตากันไม่รู้ว่าเสด็จเตี่ยมาลองวิชากับตน รู้สึกแต่ว่า มีแมลงมาบินวนอยู่รอบตัวมากผิดปกติ แต่เมื่อตากันสะบัดผ้าขาวม้าไปโดนแมลงตัวหนึ่งตกลงพื้น ก็เห็นเป็นตัวต่อขนาดใหญ่กว่าต่อธรรมดา แล้วสักพักก็กลายเป็นใบไม้จนหมด จากนั้นตากันสะบัดผ้าขาวม้าอีกทีและปล่อยเสือลายพาดกลอนตัวใหญ่ซึ่งเป็นเสืออาคมเข้าใส่ เสด็จเตี่ยจึงทรงเสกควายธนูออกมาต่อสู้ด้วย หลังจากเสืออาคมและควายธนูต่อสู้กันพักหนึ่ง ตากันก็ร้องท้าผู้ที่มาลองวิชา เสด็จเตี่ยจึงคลายมนตร์กำบังพระองค์และเสด็จออกมาพบตากัน

เมื่อตากันรู้ว่าผู้ที่มาลองวิชากับตนคือเสด็จเตี่ย จึงถวายเงินที่เคยได้มาจากการใช้อาคมสะกดเรือ และเลิกการสะกดเรือที่ผ่านไปมา จากนั้นมาเสด็จเตี่ยก็ทรงคุ้นเคยกับตากัน รวมทั้งหลวงพ่ออี๋ เป็นอย่างดี โดยต่างร่วมฝึกและแลกเปลี่ยนถ่ายทอดอาคมต่อกันตามแบบของคนเล่นของในยุคสมัยนั้น ทั้งนี้ เสด็จเตี่ยทรงเรียกตากันว่า “พี่” เนื่องจากว่าตากันมีอายุมากกว่าพระองค์ และตากันก็เรียกพระนามเสด็จเตี่ยว่า “เสด็จในกรม”

ต่อมาเมื่อเสด็จเตี่ยมีพระดำริจะสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบนั้น ทรงวิตกว่าทหารเรือกับพวกชาวประมงตังเกจะมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ตากันจึงประกาศกลางตลาดว่า “ทหารเรือกับพวกตังเกเป็นพี่น้องกัน ยุงจะกัดทหารเรือไม่ได้ มันก็ลูกหลานกูเหมือนกัน” เป็นเหตุให้ทหารเรือกับชาวสัตหีบรักกันเหมือนพี่น้อง ไม่มีระหองระแหงกัน (ดอน ท่ามะโอ-สมอดำ, 2534 อ้างถึงใน สายป่าน ปุริวรรณชนะ, 2548, หน้า 39-40; ธีระชัย ธนาเศรษฐ, ภราดร รัตนกุล, และ ลมทวน สีทอง, 2536, หน้า 178-179)

ภาพสะท้อนความเป็น “นักเลง” ท้องถิ่นภาคตะวันออกผ่านตำนาน

การที่ตากันเป็นผู้วิเศษสามารถร่ายมนตร์คาถาให้เรือที่ผ่านไปมาในบริเวณอ่าวตากัน หรืออ่าวดงตาลไม่สามารถเคลื่อนที่ไปต่อได้ โดยจะต้องจ่ายค่าผ่านทางก่อน จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าพ่อค้านักเดินเรือที่ต้องสัญจรผ่านกระท่อมบนหน้าผาของตากัน ตลอดจนพฤติกรรมของตากันที่สามารถสั่งการให้ชาวบ้านสัตหีบอยู่ร่วมกับทหารเรือ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามาประจำการในฐานทัพเรือสัตหีบอันเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นอย่างปกติสุข โดยห้ามชาวบ้านสัตหีบทะเลาะวิวาทกับทหารเรือ และให้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันดุจญาติมิตร ผนวกกับความสัมพันธ์ระหว่างตากันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่นับถือกันและมีความสนิทสนมเป็นมิตรที่มักประลองวิชาและแลกเปลี่ยนถ่ายทอดคาถาอาคมแก่กัน

ภาพเรื่องเล่าตำนานที่สะท้อนเรื่องราวเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตตากันซึ่งหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แม้จะเต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “นักเลง” ที่มีอิทธิพลในบ้านสัตหีบช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของภูมิภาคตะวันออก (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2532, หน้า 19) ทั้งนี้ ความเป็น “นักเลง” ของตากัน สอดคล้องกับการให้ความหมายของคำว่า “นักเลง” โดยสุมาลี พันธุ์ยุรา ว่า

“นักเลง” หมายถึง บุคคลที่มีอิทธิพล ดำรงอยู่ในท้องถิ่นโดยมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์กับคนภายในท้องถิ่น เช่น การทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน มีความรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านและได้รับการยอมรับภายในท้องถิ่น ซึ่ง “นักเลง” มีอิทธิพลจำกัดอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพในท้องถิ่นแห่งหนึ่งและมีอิทธิพลจำกัดเฉพาะภายในกลุ่มพรรคพวกของตนเอง…“นักเลง” มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่จำกัด ไม่สามารถเข้าไปผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นหรือไม่สามารถขยายการผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปนอกท้องถิ่น และไม่มีศักยภาพอย่างเพียงพอที่สามารถมีอิทธิพลเหนือผู้ถือกฎหมายหรือกลไกแห่งอำนาจรัฐ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักเลงเป็นไปในลักษณะของการตอบสนองผลประโยชน์ซึ่งกันและกันเพียงเล็กน้อย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐและนักเลงบ่งบอกว่า สถานะความเป็น “นักเลง” มีอำนาจไม่เท่าเทียมกับอำนาจรัฐ  (สุมาลี พันธุ์ยุรา, 2543, หน้า 6-7)

การเป็น “นักเลง” ที่ปรากฏในแถบภาคตะวันออก สืบเนื่องมาจากขบวนการอั้งยี่ โดยเกิดขึ้นครั้งแรกที่บ้านบางกะจะ เมืองจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2367 ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการวิวาทกันของพวกอั้งยี่แต้จิ๋วและฮกเกี้ยน (ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, 2524, หน้า 92) เรื่อยมาจนเกิดเหตุการณ์หนักมากที่เมืองฉะเชิงเทราใน พ.ศ. 2391 ซึ่งกลุ่มอั้งยี่ชาวจีนได้ยึดเมืองฉะเชิงเทราไว้ โดยรัฐใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด มีผู้คนเสียชีวิตนับพันคน (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2532, หน้า 18-19) ในที่สุดศูนย์กลางอำนาจรัฐได้พยายามเข้ามาควบคุมและจัดความเรียบร้อยภายในภาคตะวันออกเพื่อเตรียมการจัดตั้งขึ้นเป็นมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยปัญหาที่รัฐต้องเผชิญมานานในแถบภาคตะวันออกคือ ปัญหาโจรผู้ร้าย จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บัญชาการทหารบกเป็นข้าหลวงใหญ่แม่กองจับผู้ร้าย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นแม่กองชำระโทษ ซึ่งต่อมาได้ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสวัสดิ์โสภณ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แม่กองชำระโทษแทน โดยกำหนดให้เมืองชลบุรีและตำบลอ่างศิลาเป็นศูนย์บัญชาการปราบปรามกลุ่มอำนาจท้องถิ่นต่าง ๆ ของหัวเมืองในพระราชอาณาเขตฝ่ายตะวันออก ซึ่งปฏิบัติการเป็นเวลาสองปี (พ.ศ. 2433-2434) และจับกุมผู้ร้ายได้ทีละมาก ๆ โดยไม่พิจารณาว่าคน ๆ นั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่ ทำให้ชาวบ้านเกิดอารมณ์ความรู้สึกขวัญหนีดีฟ่อและแตกกระจายอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นแปรฐานไปจำนวนมาก (สุมาลี พันธุ์ยุรา, 2543, หน้า 68-69)

ทั้งนี้ เรื่องราวชีวิตของตากันที่มีฐานะเป็นนักเลงท้องถิ่นเกิดขึ้นภายหลังจากรัฐเข้าปฏิรูปจัดการปกครองท้องถิ่นอย่างจริงจัง ด้วยการออกพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการสำคัญที่อำนาจรัฐส่วนกลางเข้ามาปกครองท้องถิ่นให้อยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาเดียวกัน เพื่อความเป็นเอกภาพและความมั่นคงในการปกครองท้องถิ่นของรัฐส่วนกลาง (สุมาลี พันธุ์ยุรา, 2543, หน้า 73) แล้วระยะเวลาหนึ่ง ฉะนั้น จึงได้เห็นบทบาทการเข้ามาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งได้เลือกพื้นที่สัตหีบเป็นฐานทัพเรือ โดยพระองค์ได้เดินทางเข้ามายังพื้นที่อันเป็นเหตุให้เกิดการประลองวิชาอาคมกันกับตากัน จนทั้งคู่มีความสัมพันธ์ในเชิงตอบสนองผลประโยชน์ของกันและกัน

ความสนิทสนมเกื้อกูลกันระหว่างตากันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทำให้ตากันใช้อำนาจอิทธิพลความเป็น “นักเลง” สั่งการชาวบ้านในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยบุคคลที่ตากันสนิทสนมด้วยเป็นผู้ที่อยู่ในเครือข่ายของศูนย์กลางอำนาจรัฐ กล่าวคือ เป็นเชื้อพระวงศ์และมีตำแหน่งในรัฐบาล จึงทำให้เกิดความรู้สึกเกรงอกเกรงใจและคงจะหวั่นเกรงในอิทธิพลอำนาจของตากันมากยิ่งขึ้นในหมู่ชาวบ้านท้องถิ่นสัตหีบ

กรมหลวงชุมพรฯ

“ตากันยอมแพ้เสด็จเตี่ย” : การสยบยอมของ “นักเลง” ท้องถิ่นต่อศูนย์กลางอำนาจรัฐ

การยอมแพ้ในการประลองวิชาอาคมของตากันต่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยตากันได้ยกเงินที่เคยรีดไถพวกพ่อค้านักเดินเรือที่ผ่านมาทางอ่าวตากันให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และให้คำสัญญายุติการรีดไถดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าของอำนาจรัฐศูนย์กลางต่อท้องถิ่น ซึ่งมีนัยของการปรับตัวเพื่อการดำรงอยู่ของผู้มีอำนาจและอิทธิพลในท้องถิ่น เพราะรับรู้ว่าอำนาจของกฎหมายสามารถคุกคามตนเองได้อยู่ตลอด แต่ทั้งนี้ ส่วนกลางก็ยังคงต้องใช้ประโยชน์ของนักเลงโตประจำท้องถิ่นในการควบคุมประชาชน ด้วยตากันได้ใช้ความเป็นผู้มีวิชาอาคมไสยเวทย์ในการปกป้องฐานะของตนจนเป็นที่ยำเกรงของชาวบ้าน อันเป็นลักษณะอำนาจพิเศษเหนือธรรมชาติของอำนาจท้องถิ่นในรัฐแบบจารีต (สุมาลี พันธุ์ยุรา, 2543, หน้า 191-192)

จะเห็นได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ของผู้คนในท้องถิ่นที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่อาจทำลายหรือเปลี่ยนแปลงได้ จึงทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ผ่านผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่มีอาคมไสยเวทย์เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐส่วนกลาง ด้วยเหตุที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต้องการสร้างฐานทัพเรือในพื้นที่แถบนี้ ซึ่งมีชัยภูมิที่เหมาะสำหรับการเป็นฐานทัพเรือมากที่สุด จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เทศาภิบาลหวงห้ามไว้ที่สัตหีบแก่กองทัพเรือ เพื่อเป็นฐานทัพเรือต่อไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ นับแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา กองทัพเรือจึงได้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และเริ่มดำเนินการสร้างฐานทัพเรือต่อไป (ภารดี มหาขันธ์, 2555, หน้า 238-239)

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวที่ได้รับพระราชทานมีสภาพเหมือนป่าดงดิบ การคมนาคมมีแต่เฉพาะทางเรือ และเต็มไปด้วยไข้มาลาเรีย ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ อาศัยอยู่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตผ่อนผันให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยเพื่อบุกเบิกพื้นที่ให้สมบูรณ์ และเริ่มก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการจัดหน่วยทำการขึ้นหน่วยหนึ่งอยู่ที่เชิงเขาแหลมเทียนด้านทะเลเรียกว่า “กองโยธาสัตหีบ” รับผิดชอบงานก่อสร้างสัตหีบ โดยใช้แรงงานบุกเบิกป่าซึ่งส่วนใหญ่แล้วได้มาจากนักโทษ (ภารดี มหาขันธ์, 2555, หน้า 239)

ฉะนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์จึงเห็นความสำคัญและประโยชน์จากความสัมพันธ์กับตากันที่เป็นผู้มีมีวิชาอาคมซึ่งมีอิทธิพลในท้องถิ่น สำหรับสานสัมพันธ์กับชาวบ้านในท้องที่ให้ช่วยกันเข้าหักล้างถางพงเข้าอยู่อาศัยเพื่อบุกเบิกพื้นที่ และเป็นคนกลางที่เชื่อมโยงระหว่างแรงงานภายนอกที่เข้ามาในท้องถิ่นในฐานะบุคคลากรของรัฐกับชาวบ้านในท้องถิ่นสัตหีบ โดยผสานให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อการสร้างฐานทัพเรือสัตหีบต่อไป

บทสรุป

ตำนานประจำถิ่นเรื่อง “ตากัน สัตหีบ” แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่เหลือเชื่อมากมาย แต่เรื่องเล่านี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของตากัน ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นสัตหีบที่มีวิชาอาคมแก่กล้า สะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะของภาคตะวันออกที่มี “นักเลง” ประจำท้องถิ่น ที่ปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้ด้วยการสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจของส่วนกลางอย่างพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แต่ทั้งนี้ อิทธิพลของตากันในท้องถิ่นที่ชาวบ้านต่างเคารพและศรัทธาในวิชาอาคม จึงเป็นประโยชน์ต่อรัฐศูนย์กลางด้วยต้องการสร้างฐานทัพเรือสัตหีบในพื้นที่ซึ่งมีสภาพคล้ายป่าดงดิบ ผู้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่น้อย และเดินทางได้แต่เพียงทางน้ำ จึงได้อาศัยตากันในการเชื่อมโยงกับผู้คนในท้องถิ่นสัตหีบให้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ และคอยควบคุมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้านกับแรงงานของรัฐที่เข้ามาดำเนินการสร้างฐานทัพเรือสัตหีบขณะนั้น

สรุปได้ว่า เรื่องเล่าตำนานประจำถิ่น “ตากัน สัตหีบ” ได้แสดงให้เห็นนัยสำคัญสองประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก ความเป็น “นักเลง” อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำภูมิภาคตะวันออก รวมทั้งการปรับตัวของ “นักเลง” ท้องถิ่นในการดำรงอยู่ของอำนาจและอิทธิพลเหนือชาวบ้านในท้องถิ่น และประการที่สอง ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างศูนย์กลางอำนาจรัฐกับท้องถิ่น ผ่านความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างตากันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์


บรรณานุกรม :

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  (2544).  วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี.  กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2555). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาติไทยกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (เฉยๆ). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.academia.edu

ธีระชัย ธนาเศรษฐ, ภราดร รัตนกุล, และ ลมทวน สีทอง. (2536). เสด็จเตี่ย : พลเรือเอกกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์. กรุงเทพฯ : ธีรกิจ (ประเทศไทย).

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2555). ตำนาน. กรุงเทพฯ: มติชน.

ภารดี มหาขันธ์. (2532). “ประวัติศาสตร์ชลบุรี : หลักฐานเอกสารจากหอสมุดแห่งชาติ และ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ” ใน ชลบุรี : ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เล่ม 1. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน.

ภารดี มหาขันธ์. (2552). พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชลบุรี. ชลบุรี: สาขาวิชาไทยคดีศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

ภารดี มหาขันธ์. (2555). การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของภาคตะวันออกยุคปรับปรุงประเทศตามแบบสมัยใหม่ถึงปัจจุบัน, รายงานการวิจัย. ชลบุรี: สาขาวิชาไทยคดีศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

ราเมศวร บัวสุวรรณ. (2559, 8 เมษายน). สำแดงเดช !!! เมื่อโจรสลัดชื่อดัง บังอาจใช้อาคมสะกดเรือกองทัพไทยไม่ให้แล่น!! คิดว่าแน่ แต่ยังแพ้บารมีกรมหลวงชุมพรฯ #บุญฤทธิ์เสด็จเตี่ย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.tnews.co.th/contents/343980.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2532). “ภาคตะวันออกกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ใน ชลบุรี : ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เล่ม 1. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
บางแสน.

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล. (2524). สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ. 2367-2453. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สายป่าน ปุริวรรณชนะ. (2548). ลักษณะเด่นของตำนานประจำถิ่นริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลภาคกลางของไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุมาลี พันธุ์ยุรา. (2543). พัฒนาการของอำนาจท้องถิ่นในบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงและชายฝั่งทะเลตะวันออก พ.ศ. 2440-2516. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2563