“นิติศึกษา” แห่งโรงเรียนกฎหมาย ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา

บุคลากรด้านกฎหมายในอดีต (ภาพจาก สยามรัฐวัฒนาใต้ฟ้าพระสยามินทร์, 2551)

การประท้วงของนิสิต-นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงแรก ๆ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ราว พ.ศ. 2483 ในการเรียกร้องดินแดนอินโดจีนจากฝรั่งเศส และอีกครั้งที่สำคัญคือ การประท้วงเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500 ทว่า ก่อนหน้านี้ก็มี “นักศึกษา” ออกมาประท้วง หลังเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่กระทบต่อรัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เพียง 1 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ถือเป็นการใช้อำนาจโดยพละการ เป็นการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา นำมาสู่การรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

นักศึกษานิติศาสตร์ หรือที่ในสมัยนั้นเรียกว่า นิติศึกษา เป็นนักศึกษาแผนกกฎหมายของโรงเรียนกฎหมาย ได้ทำหนังสือเรียกร้องให้มีการไต่สวนลงโทษพระยามโนฯ ในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญการปกครอง กระทั่ง ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2476 สิบวันหลังการรัฐประหาร นักศึกษากฎหมายราว 400 คน เดินขบวนไปตามถนนราชดำเนินเพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวต่อพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่วังปารุสกวัน

ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาชื่อ นายเซ่งตัน เจริญสุข เป็นผู้ยื่นหนังสือประณามคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพระยามโนฯ และขอให้มีการลงโทษด้วย เพราะการกระทำของพระยามโนฯ ถือเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ

ข้อความในหนังสือประท้วง ตอนหนึ่งระบุว่า “เมื่อใดมีการละเมิดรัฐธรรมนูญขึ้น และในเมื่อสภาพและโอกาสเปิดช่องว่างให้เราทำได้แล้ว เมื่อนั้นเราจะไม่ยอมละเว้นเป็นอันขาด เราจึงต้องยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องตามหน้าที่พลเมืองที่จงรักภักดีต่อชาติ ไม่เลือกหรือเห็นแก่หน้าบุคคล และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคณะใด ๆ ทั้งสิ้น”

พระยาพหลฯ รับหนังสือแล้วตอบแก่นักศึกษาเหล่านั้นว่า ไม่ต้องการอาฆาตกันต่อไป จึงได้ทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยให้นักศึกษาเลิกแล้วต่อกัน

นอกจากการประท้วงดังกล่าวแล้ว นักศึกษานิติศาสตร์ยังได้พิมพ์เอกสาร “เผยแพร่รัฐธรรมนูญ” ออกแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 อีกด้วย

สำหรับโรงเรียนกฎหมายนี้ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่ในความดูแลกระทรวงยุติธรรม (ในความควบคุมของสภานิติศึกษา) ต่อมา ได้โอนโรงเรียนกฎหมายมาสมทบกับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2476 กระทั่ง ภายหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้โอนคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปตั้งเป็นคณะนิติศาสตร์ขึ้นใหม่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง


อ้างอิง :

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2546). ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทยในยุคแรก. ใน “ขบวนการนักศึกษาไทย : จาก 2475 ถึง 14 ตุลาคม 2516”. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สายธาร

ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศโอนโรงเรียนกฎหมายไปขึ้นแก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2563