ลูกแม่โดมยึดม.ธ.ก. คืนจากทหาร หลังกบฏแมนฮัตตัน กองทัพเสนอซื้อ(ที่ดิน)ธรรมศาสตร์ 5 ล้านบ.

ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถ่ายเมื่อ กันยายน 2016 ภาพจาก LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

พิธีส่งมอบเรือแมนฮัตตัน ที่ท่าราชวรดิฐ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ในวันนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ถูกทหารเรือจับเป็นตัวประกันและพาตัวไปกักขังไว้ที่เรือหลวงศรีอยุธยา เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “กบฏแมนฮัตตัน” หลังเหตุการณ์สงบลงไม่นานนัก กองทัพเสนอซื้อที่ดินบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อตั้งเป็นกองทหาร แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากนักศึกษา

ในวันที่ 29 มิ.ย. 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางไปร่วมพิธีรับมอบเรือขุดจากอเมริกันชื่อ “แมนฮัตตัน” แต่ถูกทหารเรือจับเป็นตัวประกันและพาตัวไปกักขังไว้ที่เรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งฝ่ายทหารเรือคาดว่า การจับจอมพล ป. เป็นตัวประกันจะช่วยให้พวกตนสามารถยึดอำนาจไว้ได้โดยง่าย

กองกำลังฝ่ายรัฐบาลนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ตอบโต้ฝ่ายกบฏอย่างรุนแรง โดยเครื่องบินจากกองทัพอากาศได้เข้าโจมตีถังเก็บน้ำมันและยิงกราดที่ตั้งของฝ่ายกองทัพเรือ และยังทิ้งระเบิดใส่เรือรบหลวงศรีอยุธยา ที่จอมพล ป. ถูกจับเป็นตัวประกัน (คลิกอ่านเพิ่มเติม : นายทหารผู้ทำลาย “เรือหลวงศรีอยุธยา” ในเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน” เผย “เสียใจ-ไม่ได้ตั้งใจ” แต่เป็นเพราะ “ระเบิดเสื่อม”)

เหตุการณ์ครั้งนี้ ปรากฏในบันทึกต่อมาว่า “จอมพล ป. จำต้องหนีออกมาจากเรือที่กำลังจะจม และว่ายน้ำเอาตัวรอดในลักษณะที่หมดสง่าผ่าเผย เมื่อเรือรบหลวงถูกทำลายลงแล้ว ฝ่ายกองทัพเรือจึงสิ้นหวัง และความเป็นศัตรูกันก็สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว” (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2548)

ภายหลังจากเหตุการณ์สงบลง ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2494 ทหารนำกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ของมหาวิทยาลัยม.ธ.ก. ทำให้นักศึกษาไม่มีที่เรียนเป็นเวลา 6 เดือน (สมโชติ อ๋องสกุล, 2545)

ต่อมา กองทัพบกยังเตรียมการซื้อที่ดินกลับคืน โดยอ้างว่าเพื่อใช้ “ตั้งเป็นกองทหาร” (สมโชติ อ๋องสกุล, 2545) วงเงินที่ปรากฏในการเสนอซื้อมีบันทึกไว้ว่าเป็นเงิน 5 ล้านบาท (กษิดิศ อนันทนาธร, 2562)

การดำเนินการของกองทัพบกถูกคัดค้านอย่างรุนแรง โดยในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 “ลูกแม่โดม” จำนวนประมาณ 3,000 คนเดินขบวนไปที่รัฐสภา (สมโชติ อ๋องสกุล, 2545) ขณะที่ข้อมูลบางแห่งระบุจำนวนคนว่ามีราว 2,000 คน เดินขบวนจากสนามหลวงไปรัฐสภา เมื่อไปถึง กลุ่มนักศึกษาต้องใช้แรงดันพังประตูจนล้ม และไปรวมตัวกันที่สนามหญ้า (กษิดิศ อนันทนาธร, 2562)

วันเดียวกันนั้น นายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดธนบุรี ยังตั้งกระทู้ถามในสภา ผู้ที่มาตอบคือพลโท สวัสดิ์ สวัสดิรณชัย สวัสดิเกียรติ รองนายกรัฐมนตรี โดยท่านผู้นี้ถูกรัฐบาลแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้ประศาสน์การ (กษิดิศ อนันทนาธร, 2562)

บทความของกษิดิศ อนันทนาธร หยิบยกคำตอบของพลโท สวัสดิ์ ที่ตอบกระทู้ถามครั้งนั้น ใจความตอนหนึ่งว่า

“การที่ทหารเข้าไปใช้มหาวิทยาลัยนั้น ก็เนื่องมาจากเหตุการณ์กบฏวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ซึ่งทำให้ทหารของชาติผู้ต้องปฏิบัติงานปราบปรามตามหน้าที่ มีความจำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติการต่อสู้และคุมเชิงอยู่ตลอดเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึก และด้วยการต่อเนื่องของการป้องกันภัย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและประเทศชาติ ทางการทหารมีความจำเป็นต้องอาศัยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยอยู่ต่อไปอีกด้วย”

ใจความที่พลโท สวัสดิ์ ตอบคำถามเรื่องการใช้อำนาจเข้าควบคุมมหาวิทยาลัยนานกว่า 3 เดือน มีว่า

“…ข้าพเจ้าบอกว่าเวลานี้ทหารขออาศัยด้วยความจำเป็นของทางราชการทหาร ซึ่งบางอย่างบอกไม่ได้ จำเป็นก็ต้องบอกไปเช่นนั้น ขออาศัยชั่วระยะเวลาครั้งหนึ่ง อันนี้ก็ไม่ใช่ใช้อำนาจอะไร อำนาจเดิมที่เมื่อเข้าไปด้วยเหตุผลดังได้เรียนแล้ว และเข้าไปก็ต่อเนื่องมา และการอยู่ต่อมาก็โปรดถือว่าเป็นอัธยาศัยไมตรี ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าเป็นเกียรติที่เราได้เสียสละความสุขช่วยราชการทหารเพียงเล็กน้อยด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ว่าเป็นความทุกข์อย่างที่ท่านเข้าใจ”

ภายหลังการประชุมครั้งนั้นไม่ปรากฏความคืบหน้าตามมา กระทั่งวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 นักศึกษารวมพลัง “รักแผ่นดิน” จึงเดินขบวนไปเพื่อยึดมหาวิทยาลัยคืนจากทหาร และประสบความสำเร็จโดยสงบ

วันที่ 5 พ.ย. จึงถือเป็น “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” โดยเปลื้อง วรรณศรี เขียนบทกวีเมื่อ 2494 ใจความตอนหนึ่งว่า

สิ่งเหล่านี้ที่โดมโหมจิตข้า
ให้แกร่งกล้าเดือนปีที่ไม่หวั่น
หากขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์
ก็ขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม


อ้างอิง:

“จับทหารกบฏ” เหตุเกิดในประเทศไทย หลังเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 1 กรกฎาคม 2563. เข้าถึง 11 สิงหาคม 2563. <https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_909>

“ธรรมศาสตร์กับการเมืองเดือนตุลาคมครั้งแรก 11 ตุลาคม 2494”. กษิดิศ อนันทนาธร. ใน 101.world. ออนไลน์. เผยแพร่ 9 ตุลาคม 2562. เข้าถึงเมื่อ 11 สิงหาคม 2563. <https://www.the101.world/11-oct-2494/>

“ความรักเพื่อแผ่นดิน จากล้านนา ถึงท่าพระจันทร์”. สมโชติ อ๋องสกุล. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับมีนาคม 2545.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และคณะ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2563