“ขนุน” มหามงคล หลัง “พระที่นั่งไพศาลทักษิณ” รสหวาน เป็นเอกรสไอศวรรย์

ขนุนไพศาลทักษิณ          วังหลวง
บุราณกล่าวบวงสรวง       ปลูกป้อง
รองเรื่องเนื่องรสยวง        หวานชื่น
ยืนกว่าร้อยปีก้อง            จอมเกล้าเจ้าสยาม ฯ

ขนุนไพศาลทักษิณ          สวนปทุม
พันธุ์รุ่นผิวผ่องสุม           สุกสล้าง
ลางรสลางเลือกรุม          เนื้อนุ่มกรอบฤๅ
มาตรมุ่งนิมิตกว้าง          เขตขามสยามกุมารี ฯ

ขนุนไพศาลทักษิณ         ทัพบกพบฮา
นบนาถดำริปก              ถิ่นไท้
อีสานเหนือใต้รก            แล้วเร่งพัฒนา
หนุนหน่อเกื้อไกลใกล้      ถวายไว้แดนไทย ฯ

ข้างต้นที่หยิบยกมาเป็นบทประพันธ์ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ประชิด วามานนท์ ที่กล่าวถึงขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณ

เดิมขนุนพันธุ์นี้อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต้นมีอายุมากแล้ว แต่ยังให้ผลผลิตอยู่

ถือเป็นโชคดีของเกษตรกร ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “กษัตริย์เกษตร” ที่ได้ปลูกพืชพันธุ์มหามงคล เพราะมีการขยายพันธุ์เผยแพร่ไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย เมื่อปี 2534

ที่หลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวังมีขนุนขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง คุณสมบัติที่พบดีเด่นมาก ปลูกโดยเจ้าจอมมารดาเที่ยง ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีอายุกว่า 140 ปี

ขนุนต้นดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกขานกันต่อมาว่าพันธุ์ไพศาลทักษิณ เนื่องจากตำแหน่งที่ขนุนต้นนี้ขึ้นอยู่หลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จึงคงความสำคัญ

ในพิธีสรงน้ำพระพุทธมนต์หลังพระราชพิธีต่าง ๆ และทรงหลั่งทักษิโณทกแล้ว ชาวพนักงานราชพิธีสงฆ์นำน้ำหลังพิธีมาเททานราดที่โคนขนุนต้นนี้ พระราชพิธีสำคัญนี้ยังคงดำรงต่อเนื่องจนถึงรัชกาลปัจจุบัน นับได้ว่าขนุนไพศาลทักษิณเสมือนเอกลักษณ์คู่พระราชฐาน ตามคติโบราณนิยม ที่ปลูกต้นไม้ไว้เป็นมงคลแห่งสุขสถาน ให้ปลูกขนุนหลังนิวาสสถานบ้านเรือน เพื่อหนุนเนื่องด้วยบุญวาสนา ปราศจากทุกข์ ถือเป็นคติประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้

ถึงแม้จะมีอายุมากคือ 140 ปีเศษ แต่ขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณยังให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2535 ให้ผลผลิตถึง 36 ผล ลักษณะของผลทรงเกือบกลม ขนาดเท่ากระออมน้ำ ผิวเหลืองทอง หนามเล็ก เปลือกบาง ยางน้อย ไส้เล็ก ซังซ้อนห่าง ยวงสีเหลือง รสหวาน เป็นเอกรสไอศวรรย์ ไม่เคยปรากฏมาก่อน

การกระจายพันธุ์ของขนุนสายพันธุ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2534 กองทัพบก โดยศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนตามแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศชร.) ได้ขอพระราชทานพันธุ์ เพื่อนำออกปลูกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา 12 สิงหาคม 2535 โดยการเผยแพร่พันธุ์สู่แต่ละจังหวัด จำนวน 999,999 ต้น แบ่งแล้วทั่วประเทศจะได้ประมาณจังหวัดละ 1,2000 ต้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรต้นขนุนไพศาลทักษิณ

เนื่องจากความต้องการมีมาก แต่ต้นที่จะขยายพันธุ์มีไม่มาก นักวิชาการจึงได้นำเอาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเข้ามาช่วยในการขยายพันธุ์ ถึงแม้การขยายพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะประสบความสำเร็จด้วยดีในหลายพืชที่ผ่านๆ มา แต่สำหรับไม้ยืนต้นเนื้อแข็งอย่างขนุนแล้ว ยังมีข้อมูลน้อย

เพราะความสามารถของนักวิชาการ ผลสำเร็จจึงออกมา ซึ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมมีหลายฝ่ายด้วยกันคือ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ประกอบไปด้วยภาควิชาพืชสวน ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรฯ, ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์, ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และฝ่ายกล้าไม้ของบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย

มีการนำขนุนไพศาลทักษิณไปปลูกในหลายพื้นที่ด้วยกัน ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร มีปลูกขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณจำนวน 10 ต้น คุณสังคม ประเสริฐเดชาโต อดีตผู้อำนวยการศูนย์แห่งนี้บอกว่า ช่วงที่ตนเองเข้าดำรงตำแหน่ง ขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณถูกปลูกไว้แล้ว ต้นเจริญงอกงามดี

“ขนุนถือเป็นหนึ่งในไม้มงคล โดยเฉพาะพันธุ์ไพศาลทักษิณ เป็นพันธุ์หายาก ถือว่าเป็นโชคดีที่ได้ปลูก โดยธรรมชาติแล้ว ขนุนเมื่ออายุมากขึ้น คุณภาพของเนื้อจะดีขึ้นตามลำดับ” คุณสังคมให้ข้อมูล

เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ที่ขนุนไพศาลทักษิณถูกนำออกมาปลูกยังภายนอกและกระจายไปในหลายพื้นที่… คุณพรหม ยกพล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดระยอง คนปัจจุบันบอกว่า ต้นขนุนที่ปลูกไว้เจริญงอกงามและให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง

ขนุนเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งของไทย เขาให้ปลูกทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือทิศหรดีของบ้าน ใครที่ปลูกไว้ จะหนุนเนื่องบุญบารมี ช่วยเรื่องเงินเรื่องทอง นอกจากเรื่องของความเชื่อที่ว่าขนุนเป็นไม้มงคลแล้ว ในแง่ของการปลูกเพื่อเป็นพืชเกษตรแล้ว ขนุนไม่น้อยหน้าพืชชนิดอื่น ทั้งนี้เพราะในตัวขนุนเอง มีคุณประโยชน์รอบด้านจริง ๆ

ต้นขนุนไพศาลทักษิณ ที่พระบรมมหาราชวัง

เมื่อก่อนงานขยายพันธุ์ขนุนมักใช้เมล็ด ต้นที่ได้จึงมีความสูง ลำต้นขนาดใหญ่ เคยพบขนาด 2-3 คนโอบก็มี ยามที่ต้นเหล่านี้หมดอายุ สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์โดยเฉพาะโต๊ะ เก้าอี้ แต่ที่ภาคอีสาน ช่างทำพิณมีความต้องการไม้ขนุนมาก เพราะพิณที่ทำจากไม้ขนุนเสียงดังกังวาน ส่วนที่จังหวัดอ่างทอง มีชุมชนทำกลอง ก็ยืนยันว่าเมื่อก่อนใช้ไม้ขนุนทำกลอง เสียงคุณภาพดีมาก

เนื่องจากขนุนเป็นไม้ที่ไม่ทนต่อน้ำท่วม เมื่อมีน้ำขังเพียงสัปดาห์เดียวก็เหี่ยวเฉาแล้ว ด้วยเหตุนี้ ประชากรขนุนต้นใหญ่ๆ จึงมีน้อยลง การทำพิณ ทำกลอง จึงใช้ไม้อื่นทดแทน ส่วนขนุนที่ปลูกขึ้นมาใหม่ ขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่งและเสียบยอด ทรงต้นพุ่มเตี้ย แตกกิ่งมาก ต้นมีขนาดไม่ใหญ่ หนักไปในทางให้ผลผลิต จึงไม่เหมาะต่อการนำมาทำเครื่องดนตรี

ผลขนุน มีคุณค่าทางอาหารหลาย ๆ ด้านด้วยกัน จึงเหมาะที่จะปลูกเพื่อบริโภค

ขนุนต้นหนึ่งสามารถให้ผลผลิตต่อต้นต่อปีได้ไม่ต่ำกว่า 8 ผล จริง ๆ แล้วขนุนติดผลมากกว่านี้ แต่ต้องซอยทิ้ง เพราะหากผลผลิตมากต้นอาจจะโทรมได้

มีขนุน 8 ผล น้ำหนักผลละ 10 กิโลกรัม รวม 80 กิโลกรัม ขนุนทั่วไป เปอร์เซ็นต์เนื้อที่รับประทานได้ 50 เปอร์เซ็นต์ นั่นเท่ากับว่าผู้ปลูกมีเนื้อขนุนไว้บริโภค 40 กิโลกรัม ถือว่าไม่น้อย

ขนุนอ่อน มีตลาดชัดเจนอยู่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน ผู้ปลูกขนุนแถบจังหวัดชลบุรี ตัดขนุนอ่อนเพื่อจำหน่าย เมนูที่อีสานนั้นขนุนอ่อนทำได้หลายอย่าง แรกสุดปอกเปลือกต้มกินกับน้ำพริกได้

ส่วนซุบขนุน ทำคล้าย ๆ ยำ เครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้คือปลาร้า

ชาวบ้านแถบตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองสุโขทัย นิยมนำขนุนอ่อนที่ต้มแล้วมาผัดหรือคั่ว เป็นเมนูที่หาชิมยากขึ้นทุกวัน

ในพื้นที่น้ำไม่ท่วม ขนุนปลูกง่าย เคยมีคนที่อาศัยอยู่ริมคลองโอ่งอ่าง โทรศัพท์มาถามนักข่าวนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เรื่องการปลูกขนุน เมื่อแนะนำไป เขาใช้วงบ่ออย่างที่นิยมในการปลูกมะนาว วางทับกัน 2 อัน จากนั้นปลูกขนุนพันธุ์ปีเดียวทะวายลงไป เวลาผ่านไป 2 ปี เขาถ่ายรูปและส่งมาให่นักข่าวดูด้วยความตื่นเต้น ขนุนที่ว่าติดผลดกมาก

พันธุ์ขนุนในเมืองไทยมีอยู่ค่อนข้างมาก เพราะมีการเพาะเมล็ด จึงเกิดการกลายพันธุ์อยู่เสมอ

เกษตรกรท่านใดที่ปลูกขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณ ที่มีต้นกำเนิดมาจากพระบรมมหาราชวัง ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลอย่างยิ่ง

นอกจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดระยอง ตั้งอยู่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ที่ปลูกดูแลขนุนไพศาลทักษิณอย่างดีแล้ว ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเลย ก็ปลูกและขยายพันธุ์ให้กับเกษตรกร เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ในงานเกษตรมหัศจรรย์ที่จัดโดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์เลย นำต้นพันธุ์แจกแก่ผู้เข้าร่วมงานจำนวนไม่น้อย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2560