“วิ่งราวหมวก” โจรกรรมสุดฮิตสมัยคุณปู่ ขโมยหัวใสใช้ “ตุ๊กแก” เป็นตัวช่วย

ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งกำลังอ่านแผ่นโฆษณา ภาพจาก “อนุสรณ์ครอบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540”

“วิ่งราวหมวก” เป็นอีกคดีอาชญากรรมยามค่ำคืนจำนวนมากในท้องถนนตลอดทศวรรษที่ 2420-2480

วีรยุทธ ปีสาลี นักวิชาการรุ่นใหม่ กล่าวถึงในหนังสือ “กรุงเทพฯ ยามราตรี” ที่กรุงเทพในช่วงเวลานั้นมีทั้งการวิ่งราวทรัพย์, ทำร้ายร่างกาย และการล่อลวง

สำหรับการวิ่งราวทรัพย์นั้น นอกจากเงิน, ทอง แล้วยังมีการ “วิ่งราวหมวก” อีกด้วย

วีรยุทธยกตัวอย่าง “กรณี ชายหนุ่มคนหนึ่งถูกวิ่งราวหมวกใบละ 6 บาท ที่ประตูโรงโม่ตอน 3 ทุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นหมวกที่มีราคาแพงมาก เมื่อเทียบกับค่าเงินในช่วงเวลานั้น หรือเสนาบดีคนหนึ่งถูกวิ่งราวหมวกตอน 5 ทุ่มที่ถนนวรจักร”

ซึ่งตรงกับที่ กาญจนาคพันธ์ุ (ขุนวิจิตรมาตรา) นักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทยเคยบันทึกไว้

กาญจนาคพันธุ์ กล่าวถึงการ “วิ่งราวหมวก” ไว้ใน “กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้” เช่นกัน “เมื่อวานนี้” ของกาญจนาคพันธุ์ นั้นคือเมื่อประมาณ 70 กว่าปีก่อน เขาเล่าว่า

พระยาอนุกูลวิธาน (ชม) อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนปฐมมหาธาตุ และอดีตอาจารย์โรงเรียนพระตําหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง อายุเกือบจะ 60 ปี ท่านเป็นแต่งกายตามอย่างเรียบร้อยตามสมัยนิยม สวมถุงเท้ารองเท้า, เสื้อกระดุมห้าเม็ด, นุ่งผ้าสีขาบ (พวกผ้าอ่างหิน) ฯลฯ

ยกเว้นอย่างเดียวก็คือ “ไม่สวมหมวก” เพราะท่านโดน “วิ่งราวหมวก” ไปไม่รู้กี่ใบต่อกี่ใบแล้ว

กาญจนาคพันธุ์ เล่าว่า พระยาอนุกูลวิธาน (ชม) จะนั่งรถเจ๊กชนิดนั่งคนเดียวและมีเด็กนั่งที่พื้นล่างมาด้วยมาเสมอทุกวัน สมัยนั้น ตามถนนไม่ค่อยมีคน คนร้ายยืนคอยอยู่ริมถนน ซึ่งมีตรอกมีซอยมากมาย พอรถเจ๊กวิ่งผ่านไป คนร้ายก็คว้าหมวกวิ่งหลบเข้าตรอกซอยเหล่านั้นหายไป ท่านเสียหมวกไปหลายใบจนเลิกใส่หมวก

ถ้าท่านคิดว่าสมัยนั้นกรุงเทพฯ มีคลองมากมาย ถ้าเลี่ยงไปใช้เรือในการเดินทาง “หมวก” ใบงามก็คงรอดจากฝีมือโจร ก็ต้องบอกว่า “ผิดเสียแล้ว” เพราะหัวขโมยสมัยนั้นจะดักรออยู่บนสะพาน เมื่อเห็น “หมวก” เป้าหมาย ก็จะ “ตกหมวก” ใบนั้นขึ้นมา แล้ววิ่งหายไปตามซอยต่างๆ

ส่วนเครื่องมือที่ใช้ “ตกหมวก” ก็คือ “ตุ๊กแก”

เพราะตุ๊กแกนั้นตีนเหนียว หัวขโมยใช้ตุ๊กแกผูกเชือกยาว พอเจอหมวกถูกใจก็หย่อนตุ๊กแกลงไปเกาะบนหมวก จากนั้นก็ดึงตุ๊กแกกับหมวกขึ้นมา เจ้าของหมวกอยู่ในเรือทำอะไรไม่ได้ ขโมยอยู่บนบกก็วิ่งหายไปต่อหน้าต่อตาเจ้าทุกข์

สถานที่โดน “ตกหมวก” กันมากที่สุดในยุคนั้นคือ “สะพานสมมตอมรมารค” ที่ข้ามคลองโอ่งอ่างจากประตูผีไปวัดสระเกศ เพราะทำเลเหมาะแก่ “ตกหมวก” เป็นที่สุด ตกได้แล้วก็วิ่งเข้าวัดสระเกศไป คนโดนตกหมวกกันที่นั่นมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2557

กาญจนานาคพันธุ์. หนังสือชุด 100 ปี ขุนวิจิตรมาตรา กรุงเทพฯ เมื่อวานี้, สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2545


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฏาคม 2563