“ราชบัณฑิตยสถาน” มรดกคณะราษฎร ก่อตั้งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ราชบัณฑิตยสถาน มรดก คณะราษฎร ก่อตั้ง หลัง 2475
ภาคีสมาชิกเริ่มแรก สํานักวิทยาศาสตร์ 20 พฤศจิกายน 2478 (จากซ้าย) แถวยืน หลวงเฉลิมคัมภีรเวช, พระอัพภันตราพาธพิศาล, พระอุดมพิทยภูมิพิจารณ์, นายพันโท หลวงสนิทรักษสัตว์ ม.จ. ลักษณากร เกษมสันต์, นายตั้ว ลพานุกรม แถวนั่ง หลวงจุลชีพพิชชาธร, นายนาวาตรี หลวงชลธารพฤฒิไกร, นายพลตรี พระยาศัลวิธานนิเทศ, ม.จ. รัชฎาภิเศก โสณกุล, พระยาประกิตกลศาสตร์ (ภาพจาก 50 ปี ราชบัณฑิตยสถาน 31 มีนาคม 2527)

ประเทศไทยมี “ราชบัณฑิตยสภา” ตั้งแต่ปี 2469 แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดย คณะราษฎร มีการก่อตั้ง “ราชบัณฑิตยสถาน” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2476 อีก เช่นนี้จะเป็นการไม่เป็นการซ้ำซ้อนหรือไม่

เรื่องนี้ นายเจริญ อินทรเกษตร ราชบัณฑิตประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยแก้ว เขียนไว้ใน “ประวัติราชบัณฑิตยสถาน” ที่ หลวงวิจิตรวาทการ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานคนแรก อธิบายไว้ว่า

Advertisement

“ราชบัณฑิตยสภาของเราได้ตั้งมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2469  แต่ไม่ได้วางรูปโครงให้ตรงกับที่ควรวางไว้ คือแทนที่จะให้ราชบัณฑิตสภาเป็นที่ค้นคว้าวิชาการดังรูปร่างราชบัณฑิตสถานในเวลานี้ กลับเอางานธุรการไปบรรทุกเข้าไว้ให้กรรมการราชบัณฑิตสภา ต้องเสียเวลาทำงานฝ่ายธุรการเป็นส่วนมาก เหลือเวลาที่จะค้นคว้าทางวิชาการแต่น้อย และก็ไม่มีกฏหมายหรือข้อบังคับอื่นใดที่บัญญัติให้กรรมการราชบัณฑิตสภาต้องทำการค้นทางวิชาการ…

แต่ถ้าได้วางรูปการตรามแบบราชบัณฑิตสถานที่แท้จริงแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าครองตำแหน่งในราชบัณฑิตสถาน ย่อมมีหน้าที่ที่ต้องทำการค้นคว้าในทางวิชา ความรู้ของเราจะงอกงามขึ้นโดยเร็ว…

ต่อไปภายหน้าเราจะมีคนที่สามารถในเชิงสรรพวิชา พอที่จะทำการแลกเปลี่ยนความรู้กับราชบัณฑิตหรืออาคาเดมีเซียงของต่างประเทศ จะเป็นที่เชิดชูเกียรติของไทย จะให้ความสะดวกแก่การการค้นคว้าวิชาการ จะช่วยลดความจำเป็นในการจ้างชาวต่างประเทศ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเราจะเกลียดชังหรือกีดกันชาวต่างประเทศ แต่ไม่ว่าชาติใดๆ ย่อมทำความพยายามให้ชนชาติของตนสามารถทำงานของตนเอง…”

ความคิดในการจัดตั้ง “ราชบัณฑิตยสถาน” นั้น หลวงประดิษฐมนูธรรม หรือ นายปรีดี พยมยงค์ สมาชิก คณะราษฎร เป็นผู้ริเริ่ม แต่เนื่องจากเวลานั้น หลวงประดิษฐมนูธรรมติดร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จึงมอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน โดยอาศัยระเบียบการของฝรั่งเศส แล้วให้ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ กับหลวงประดิษฐมนูธรรม พิจารณาปรับปรุงแก้ไข

ราชบัณฑิตยสถาน แบ่งออกเป็น 3 สำนัก ในแต่ละสำนักมีสาขาวิชาย่อย โดยมีการประกาศแต่งตั้งสมาภาคีสมาชิกเริ่มแรก (3 มิถุนายน 2477) ดังนี้

1. สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง มี 8 สาขาวิชา

1) การทูต ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ 2) นิติศาสตร์ เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ, พระยาสารสาสน์ประพันธ์ 3) โบราณคดี หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ 4) ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา, หลวงวิจิตวาทการ 5) ปรัชญา ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ 6) รัฐศาสตร์ หลวงประดิษฐมนูญธรรม 7) ศาสนา พระพิมลธรรม (เฮง เขมจารี) และ 8) เศรษฐศาสตร์ หลวงเดชสหกรณ์, ดร.เดือน บุนนาค

2. สำนักวิทยาศาสตร์ มี 10 สาขาวิชา

1) คณิตศาสตร์ นายพลตรี พระยาศัลวิธานนิเทศ 2) เคมี นายตั้ว ลพานุกรม 3) ชีววิทยา หลวงจุลชีพพิชชาธร 4) ดาราศาสตร์ นายนาวาตรี หลวงชลธารพฤติไกร 5) พฤกษศาสตร์ ม.จ.ลักษณากร เกษมสันต์ 6) แพทยศาสตร์ พระอัพภันตราพาธพิศาล, หลวงเฉลิมคัมภีรเวช 7) ฟิสิกส์ ม.จ. ชฎาภิเศก โสณกุล 8) ภูมิวิทยา พระอุดมพิทยภูมิพิจารณ์ 9) วิศวกรรมศาสตร์ พระยาประกิตกลศาสตร์ และ 10) สัตววิทยา นายพันตรี หลวงสนิทรักษสัตว์

3. สำนักศิลปกรรม มี 7 สาชาวิชา

1) การช่างปั้น พระเทพรจนา 2) จิตรกรรม หลวงมัศยจิตรการ 3) ดุริยางคศาสตร์ พระเจนดุริยงค์ 4) นาฏศาสตร์ พระยานัฏกานุรักษ์ 5) ศิลปการสุนทรพจน์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ 6) สถาปัตยกรรม พระสาโรชรัตนนิมมานก์ และ 7) อักษรศาสตร์ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, นาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากย์

ภาคีสมาชิกทั้งหมดมีการประชุมครั้งแรกที่ศาลาสหทัยสมาคม ในวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2477 นายพันเอก พระยาพหลพลพยุเสนา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า

“ทุกประเทศที่เจริญแล้ว ย่อมมีราชบัณฑิตสถาน ผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกแห่งราชบัณฑิตสถานย่อมถือว่าได้รับความยกย่องอันสูงสุดที่จะพึงได้รับในเชิงวิชาการ สมาชิกภาพแห่งราชบัณฑิตสถานเป็นเครื่องแสดงวิทยฐานะอันสูง…

ราชบัณฑิตสถานของเราไม่ใช่เครื่องมือ หรือเครื่องบำรุงความสูงศักดิ์ของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติของชาติและระบอบรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมีนามอันหนึ่งอยู่คู่ไปกับราชบัณฑิตสถาน นามอันนั้นจะไม่ใช่นามของบุคคล แต่เป็นนามของสภาผู้แทนราษฎร นามของรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คนในชั้นหลังจะต้องระลึกคู่กันไปกับราชบัณฑิตสถาน สิ่งนั้นก็คือรัฐธรรมนูญ

การตั้งราชบัณฑิตยสถานของเรานั้น ได้เป็นไปโดยความสงบเสงี่ยม กล่าวคือ ยังมิได้เลือกตั้งราชบัณฑิตทันที เลือกแต่ภาคสมาชิกเข้ามาก่อน เมื่อภาคสมาชิกได้ทำการค้นคว้าในวิชาการต่างๆ จนมีความรู้ดียิ่งขึ้นแล้วจึงจะเลือกราชบัณฑิตภายหลัง…”

ต่อจากนั้นก็มีการเลือกนายก, อุปนายก และเลขาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติงาน ปรากฏว่า ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรณ ได้เป็นนายก, พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ เป็นอุปนายก,  หลวงวิจิตรวาทการ เป็นเลขาธิการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เจริญ อินทรเกษตร. “ประวัติราชบัณฑิตยสถาน” ใน, 50 ปี ราชบัณฑิตยสถาน 31 มีนาคม 2527, ราชบัณฑิตยสถาน 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2563