รัฐบาลชิงส่งคณะทูตไปเยือนชาติตะวันตก มีหัวหน้าคณะเป็นชาว “อเมริกัน” ?!?

รูปปั้นครึ่ง แอนสัน เบอร์ลินเกม ที่ห้องสมุดประชาชนเบอร์ลินเกม แคลิฟอร์เนีย (ภาพจากhttps://en.wikipedia.org)

หลังเกิดสงครามฝิ่นในปี 1840 จีนตระหนักถึงแสนยานุภาพของชาติตะวันตก เและเห็นความสําคัญของการทูตสมัยใหม่ ในปี 1861 รัฐบาลราชวงศ์ชิงจัดตั้งหน่วยกิจการต่างประเทศ รับผิดชอบกิจการที่เกี่ยวกับการต่างประเทศและขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตก ปี 1866 ส่งปินชุนนําคณะผู้แทนเดินทางไปทวีปยุโรปเพื่อศึกษาดูงาน

ต่อมาประเทศตะวันตกมีการส่งเอกอัครราชทูตมาประจําการในประเทศจีน การติดต่อระหว่างจีนกับต่างประเทศก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางการจีนเห็นควรส่งคณะทูตไปทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูต

วันที่ 6 มิถุนายน ปี 1868 กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ประดับธงมังกรเหลืองของราชอาณาจักรชิงเพื่อต้อนรับคณะทูตจากประเทศจีน

แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนก็คือ หัวหน้าคณะทูตจีนเป็นชาวอเมริกัน

แอนสัน เบอร์ลินเกม (Anson Burlingame) มีชื่อภาษาจีนว่า “ผูอันเฉิน” แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้แซ่ผู เบอร์ลินเกมเป็นชาวเมืองนิวยอร์ก สําเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศจีน

ช่วงที่เป็นเอกอัครราชทูตนั้น เบอร์ลินเกมเสนอให้ใช้ “นโยบายความร่วมมือ” ในประเทศจีน แสดงความเป็นมิตรต่อประเทศจีน แทนการใช้กําลังอาวุธมาบังคับ ที่เขาเห็นว่าจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ นั่นทำให้เขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายในราชสำนักจีนอย่างเจ้าชายอี้ซิน ขุนนางจีนก็รู้สึกประทับใจและเชื่อมั่นในตัวเขา

ความสัมพันธ์อันดีนี้เอง เมื่อตําแหน่งเอกอัครราชทูตของแอนสัน เบอร์ลินเกมจะครบวาระในเดือนพฤศจิกายน ปี 1867 เขากําลังเตรียมตัวอําลารัฐบาลชิง เพื่อเดินทางกลับประเทศ ราชสำนักชิงจึงชักชวนเขามาร่วมงานด้านการต่างประเทศ เบอร์ลินเกมตอบรับและได้รับการแต่งตั้งเป็น “ข้าหลวงผู้แทนพระองค์” ด้านทูตคนแรกแห่งราชอาณาจักรชิง นำคณะทูตไปเยือนชาติตะวันตก เพราะจีนยังขาดประสบการณ์ด้านนี้ นัยว่าให้มาเป็นตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่จีนได้เรียนรู้งานจากเบอร์ลินเกม

นอกจากแอนสัน เบอร์ลินเกม-ข้าหลวงผู้แทนพระองค์ด้านการทูตระหว่างจีนกับต่างประเทศ ในคณะก็ยังมีจื้อกัง-หัวหน้าศุลกากร และซุนเจีย-อธิบดีกรมในกระทรวงพิธีการ ให้เป็น “ข้าหลวงกิจการการทูตระหว่างจีนกับต่างประเทศ” และจ้างชาวอังกฤษกับชาวฝรั่งเศสอย่างละหนึ่งคนเป็นล่าม นอกจากนี้ยังมีนักเรียนจากวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ แห่งเมืองหลวงจํานวนหนึ่งติดตามไปด้วยเพื่อฝึกงานด้านการทูต บุคคลเหล่านี้รวมตัวกันเป็น “คณะทูตแอนสัน เบอร์ลินเกม” ออกเดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ แถบตะวันตกอย่างเป็นทางการครั้งแรก

คณะทูตเบอร์ลินเกมออกเดินทางจากเมืองเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 1868 ถึงเมืองซานฟรานซิสโก เดือนเมษายน ปี 1868 ในงานเลี้ยงต้อนรับ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวชมเบอร์ลินเกมเพื่อนร่วมชาติว่าเป็น “ลูกชายของรัฐบาลที่อายุน้อยที่สุด (สหรัฐอเมริกา) และผู้แทนของรัฐบาลที่เก่าแก่ที่สุด (ประเทศจีน)”

ในวันที่ 28 กรกฎาคม เบอร์ลินเกมขัดคําสั่งของรัฐบาลราชวงศ์ชิงอย่างคาดไม่ถึง เขาและวิลเลียม เฮนรี ซีวอร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาเทียนจินระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาฉบับเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่าสนธิสัญญาแอนสัน เบอร์ลินเกม โดยพลการและเกินขอบเขตอํานาจตนเอง เพราะไม่ได้รับการยินยอมจากจื้อกังและซุนเจีย อีกทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยกิจการต่างประเทศด้วย

เนื้อหาหลักของสนธิสัญญาดังกล่าวพอจะสรุปได้ดังนี้ (1) ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปท่องเที่ยว ทำการค้า และพักอาศัยที่ประเทศคู่สัญญาได้ (2) ประชาชนผู้อาศัยอยู่ในประเทศคู่สัญญาจะไม่ถูกเหยียดหยามเนื่องจากมีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน (3) ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐของประเทศคู่สัญญาได้และจะได้รับการปฏิบัติอย่างดีที่สุด ทั้งสองประเทศต้องจัดตั้งโรงเรียนในประเทศคู่

สนธิสัญญาฉบับนี้ดูเหมือนว่าจะให้ความเท่าเทียมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียม เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้สหรัฐอเมริกา เพิ่มการหลอกขายแรงงานจีน ขยายการรุกรานทางวัฒนธรรม และการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา

ปลายเดือนสิงหาคม คณะทูตแอนสัน เบอร์ลินเกมออกเดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศอังกฤษ นับเป็นการเริ่มต้นการเดินทางสู่ทวีปยุโรป พวกเขาไปเยือนอังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ก ฮอลันดา ปรัสเซีย และรัสเซีย ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางระยะไกล ความเคร่งเครียดจากงาน เบอร์ลินเกมล้มป่วยด้วยโรคปอดบวมเฉียบพลันและเสียชีวิตลงที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จื้อกังจึงเป็นผู้นำคณะทูตเดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ที่เหลือแทน

 


ข้อมูลจาก

เส้าหย่ง หวังไท่เผิง เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร : ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2560


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2563