ทำไม ราชสำนักชิงใช้ “กวนอู” เป็นสัญลักษณ์แทนคำสั่ง “โกนผม”

กวนอู แม่ทัพ นักรบ
กวนอู (สวมชุดสีเขียว) มีลูกน้องคนสนิทยืนถือ “ง้าว” ที่เป็นอาวุธประจำตัวให้อยู่ด้านข้าง

ทำไม ราชสำนักชิง ใช้ “กวนอู” แห่งวรรณกรรม สามก๊ก เป็นสัญลักษณ์แทนคำสั่ง “โกนผม”

พงศาวดารสามก๊กจี่กล่าวถึงอาชีพของกวนอู ในตอนที่ 1 ว่า กวนอู เข็นรถคันหนึ่ง สันนิษฐานว่า อาจเป็นพ่อค้าเร่ก็ได้ นอกจากนี้ในยุค สามก๊ก ผู้คนส่วนใหญ่ไม่นิยมตัดผม มักจะปล่อยให้ยาวตามธรรมชาติ โดยเก็บรวบผมเป็นมวยตามแบบของหญิงชายต่างกันไป อาชีพช่างตัดผมสำหรับคนทั่วไปก็ยังไม่มี

แต่เมื่อแมนจูมาปกครองประเทศจีน ราชสำนักชิง สั่งให้ผู้ชายทุกคนต้อง “โกนผม” โดยโกนผมเหนือหน้าผากด้านหน้าออกทั้งหมด ส่วนผมที่เหลือก็ให้รวบถักเปียห้อยไว้ด้านหลัง เป็นเครื่องหมายว่า “ยอมอ่อนน้อม”

ทว่า “การโกนผม” ในยุคสมัยของกวนอู หรือ สามก๊ก เป็นเรื่องของคนอยู่ 2 ประเภทเท่านั้น หนึ่งคือ พระ หนึ่งคือ นักโทษ

ในยุคสมัยอื่น “การโกน” ก็ไม่ใช่เรื่องดี เรื่องปกติสำหรับชาวจีน เช่น ยุคฉิน การโกนผม หรือโกนหัวนักโทษ มีคำเรียกเฉพาะว่า “คุน-โทษโกนหัว” ซึ่งเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีมนุษย์อย่างมาก ผู้ที่ต้องโทษนี้สังคมตราหน้าว่าเป็น “ลูกอกตัญญ”, ในยุคราชวงศ์ฮั่น คนที่ต้องโทษโกนหัวจะไปเซ่นไหว้สุสานบรรพชนไม่ได้ หนังสือโบราณเรียกว่า “นักโทษไม่ขึ้นสุสาน” เพราะเชื่อว่าบรรพชนเห็นลูกหลานต้องโทษโกนหัวแล้วจะรับไม่ได้ และอัปยศอับอาย

แต่ราชสำนักชิงก็มีตัวเลือกให้ว่า “ไว้ผมไม่ไว้หัว ไว้หัวไม่ไว้ผม”

ยุคนั้นจึงเจาะจงให้คนหาบอุปกรณ์โกนผม จัดหามีดเล่มใหญ่แขวนไว้เพื่อใช้ขู่ขวัญผู้คน โดยมีทหารแมนจูคุ้มกันอยู่ข้างหาบเครื่องโกนผม และจะลงโทษตัดหัวผู้ขัดขืนไม่ยอมให้โกนผมให้คนดูทันที

ในขั้นตอนตัดผมโกนผมก็นึกถึงกวนอูแห่งวรรณกรรม สามก๊ก ขึ้นมา กวนอูจึงกลายเป็นบุคคลผู้เป็นภาพลักษณ์แทนคำพูดสั่งให้โกนผม มีดโกนผมของช่าง เปรียบเป็นเช่นง้าว (มีดขนาดใหญ่) ของกวนอู

จากลักษณะดังกล่าวนี้ ชาวบ้านเลยสร้างเรื่องผิดซ้อนเรื่องผิด นำกวนอูมาเป็นปรมาจารย์ หรือเทพประจำวิชาช่างผม และโฆษณาประชาสัมพันธ์กวนอูเป็น “เทวราช” เพราะกวนอูจงรักภักดีกับแน่วแน่ ที่ราชสำนักแมนจูต้องการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน), ถาวร สิกขโกศล (แปล) . 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2563