New Normal หลัง 2475 วิชาสำหรับลูกผู้หญิง ย้ายศูนย์กลางจาก “วัง” เป็น “โรงเรียน”

“โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน” ที่เปลี่ยนมาเป็น “โรงเรียนการเรือนพระนคร” (ภาพจาก สวนดุสิต จากอดีต ถึงปัจจุบัน)

หลัง 2475 นอกจากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ศูนย์กลางในการถ่ายวิชาการสำหรับลูกผู้หญิงอันได้แก่ อาหาร และงานฝีมือต่างๆ ก็เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็น “วัง” ของเจ้านาย มาเป็น “โรงเรียน” ซึ่งค่อยทำหน้าที่ฝึกฝนวิชาการเรือนแก่สตรีแทน

โรงเรียนการเรือนแห่งแรกของประเทศ เกิดขึ้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2477 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน” สังกัดกระทรวงธรรมการ  โดยใช้วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ถนนลูกหลวง เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน โดยมีคุณหญิงเพชรดา ณ ป้อมเพ็ชร เป็นอาจารย์ใหญ่

ในระยะแรก มีการเปิดการสอน 2 แบบคือ 1. หลักสูตร 4 ปี ซึ่งประกอบด้วยวิชาอาหารและโภชนการ, ศิลปะประดิษฐ์, การตัดเย็บเสื้อผ้า, การเลี้ยงดูเด็ก และการจัดและตกแต่งบ้าน สำหรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมต้น 2. หลักสูตรพิเศษ 1 ปี สำหรับอบรมครูจากจังหวัดต่างๆ โดยจุดมุ่งหมายยังไม่ใช่เพื่อประกอบอาชีพเช่นปัจจุบัน แต่เป็นการสอนให้เป็นแม่บ้านที่ดี

หนังสือพิมพ์ในยุคนนั้นเสนอข่าวการเปิดโรงเรียนอย่างคึกคักว่า “โรงเรียนสำหรับคุณหญิงคุณนาย”

ต่อมาในปี 2480 ย้ายมาอยู่ที่วังจันทรเกษม (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการเรือนวังจันทรเกษม” ปี 2484 ย้ายจากวังจันทรเกษมมาตั้งอยู่ในบริเวณสวนสุนันทา (พระราชอุทยานที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ด้านหลังพระที่นั่งอัมพระสถานในเขตพระราชวังดุสิต) เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการเรือนพระนคร” บ้างเรียกโรงเรียนการเรือนสวนดุสิต (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต)

นอกจากโรงเรียนการเรือนพระนครแล้ว ยังมีการขยายไปสู่โรงเรียนสายปัญญา อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนยังมีอิทธิพลของวังอยู่บ้าง จนกระทั่งทศวรรษ 2490 ที่นับเป็นจุดเปลี่ยนเมื่อมีการสอนวิชา “คหกรรมศาสตร์” แบบอเมริกันในระดับอุดมศึกษา โดยเริ่มที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2491 นอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นผู้สอนแล้วยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ เช่น มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ จนกลายเป็นสมาคมคหเศรษฐศาสตร์ ที่มีบทบาทเกี่ยวกัยการส่งเสริมโภชนาการ, การครัว และการดูแลจัดการบ้าน

การสอนของโรงเรียนการเรือนแม้จะเป็นสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ แต่ก็มีผู้มีประสบการณ์จากในวังมาร่วมกันสอนกับอาจารย์การเรือนรุ่นใหม่ที่จบวิชาคหกรรมศาสตร์จากต่างประเทศ และเด่นชัดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2490 เช่น การเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจากตำหนักต่างๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับอาหารไทยโบราณ และวิชาการเรือนแบบไทยมาถ่ายทอดความรู้ เป็นการประสมประสานอาหารชนชั้นสูงกับเรื่องโภชนาการใหม่เข้าด้วยกัน

ขณะเดียวกันพ่อครัวแม่ครัวที่เคยฝึกฝีมือในวัง ก็ที่ต้องออกมาเปิดร้านขายอาหารเลี้ยงชีพ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงมีการเผยแพร่ตํารับอาหารและการกินอาหารอย่างชาววังสู่ตลาด ในรูปแบบของ ตําราอาหาร, รายการอาหารในโทรทัศน์และวิทยุ, ร้านอาหาร จากบุคคลที่มีความชำนาญในเรื่องนี้ เช่น หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ผู้เขียน (ไม่ได้ระบุ).สวนดุสิต จากอดีด ถึงปัจจุบัน, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (ไม่ได้ระบุปีพิมพ์)

ชาติชาย มุกสง. “2475 กับการปฏิวัติรสชาติอาหาร: จากการกินเพื่ออยู่สู่การกินเพื่อชาติ และการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของรสชาติในสังคมไทยร่วมสมัย” ใน, จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย, สถาบันนโยบายการศึกษา 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2563