ทำไมหมอไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ทำ “ยาลูกครึ่ง(ไทย-ฝรั่ง)” ปลอมเป็นยาไทย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เมื่อแรกมีโรงพยาบาลศิริราช ไม่มีผู้ป่วยมารักษาตัว โรงพยาบาลต้องประกาศให้รักษา “ฟรี” ไม่เสียค่าหมอ, ค่ายา ถ้าต้องเป็นผู้ป่วยในก็ไม่คิดค่าที่พักและค่าอาหารเช่นกัน ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีผู้ป่วยไว้ใจมารับการรักษา

สุดท้ายคณะกรรมการโรงพยาบาลต้องกลับไปชักชวนบ่าวไพร่ในบ้านที่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ มารักษา ขอยาที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนทั่วไป จนเกิดความน่าเชื่อถือขึ้น ปริมาณผู้ป่วยที่มารักษาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมาก

โรงพยาบาลสมัยใหม่ หรือโรงพยาบาลไม่กล้าไป แล้วมีหรือ ยาฝรั่งจะกล้ากิน 

แม้หมอไทยจะยอมรับว่ายาฝรั่งใช้รักษาโรคภัยได้ผล แต่คนไข้ไม่มั่นใจ ไม่เชื่อใจ และไม่ยอมกิน จึงเป็นที่มาของ “ยาลูกครึ่ง (ไทย-ฝรั่ง)” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรางราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดยผู้เขียน]

“ความลำบากยังมีในการที่จะให้คนนิยมใช้ยาที่ทำนั้น เพราะเปนยาฝรั่ง ในสมัยนั้นเชื่อถือยาฝรั่งมีน้อย แม้ที่ในกรุงเทพฯ คนก็ยังรังเกียจยาฝรั่งอยู่แทบทั่วไป

มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาถึงเมืองไทยในรัชกาลที่ 3 กรมหลวงวงศาธิราชสนิธ ซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่น แต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย

เมื่อฉันบวชเปนสามเณรเคยได้ยินกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัส ว่ายาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯ ที่นับถือนั้น เมื่อผ่าออกมาดูมี ‘ยาขาวฝรั่ง’ (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด ประหลาดที่การปลอมใช้ยาควินินยังเปนอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น

ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินิน ว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น

แกกระซิบตอบตามตรงว่า ยาควินินดีกว่ายาไทย แต่คนไข้ไม่ยอมกินจะทำอย่างไร ก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเปนยาไทย สุดแต่ให้ไข้หายเปนประมาณ’

ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯ ก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน

 


ข้อมูลจาก :

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย, หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, เมษายน 2561

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี, พิมพ์ชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ (สาย โชติกเสถียร) ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร พ.ศ. 2495


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรก 15 มิถุนายน 2563