ก่อนมีน้ำแข็งในสยาม คนโบราณทำน้ำให้เย็นอย่างไร?

จิตรกรรมฝาผนัง วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ชาวบ้าน ล้อมวง ดื่ม เหล้า
ล้อมวงดื่มเหล้า จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ก่อนที่ “น้ำแข็ง” จะเข้ามาสู่สยาม การทำให้ “น้ำเย็น” นั้นไม่ได้ใช้วิธีซับซ้อนอะไร ชาวต่างชาติมีชื่อว่า เฟรดเดอริก อาร์เธอร์ นีล ที่เดินทางเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 บันทึกถึงการทำน้ำให้เย็น โดยเฉพาะจำพวกน้ำเมาอย่างแชมเปญ เขาบันทึกถึงเรื่องนี้ ขณะที่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ วิธีทำ “น้ำเย็น” นี้ ใช้วิธีเดียวกับที่ทำในอินเดีย ตามที่นีลบันทึกไว้ว่า

“…เมื่อวันคริสตมาสในปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) ท่านเจ้าฟ้าเชิญชาวยุโรปที่พำนักอยู่ในบางกอกทั้งหมดเข้าไปเลี้ยงในวัง… เครื่องดื่มสุราที่นำมาเลี้ยงกันในวันนั้น (มีอยู่อย่างหนึ่งเป็นเหล้าที่หาได้ยาก นอกจากในห้องรับประทานอาหารของค่ายทหารบางแห่งในอินเดียเท่านั้น) ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นเหล้าชนิดนี้ในบางกอกมาก่อน… พอถึงบ่ายโมงเราก็มีงานเลี้ยงอาหารกลางวัน… ในระหว่างนั้นก็ดื่มแชมเปญกัน ถึงจะไม่เย็นเป็นน้ำแข็ง แต่ก็เย็นน้อย ๆ ด้วยการใช้วิธีอย่างที่ทำในอินเดีย คือเอาขวดตั้งไว้ในดินประสิว เกลือ และน้ำ…

Advertisement

ดินประสิวจะช่วยทำให้อุณหภูมิของน้ำลดต่ำลง ส่วนเกลือจะช่วยลดจุดเยือกแข็งของน้ำ ดังนั้น ขวดแชมเปญที่นำไปแช่ในน้ำจึงเย็น แต่ไม่ถึงขั้นจับตัวเป็นน้ำแข็ง

วิธีการดังกล่าวก็มีให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่นการทำ “ไอติมหลอด”

ส่วน “น้ำแข็ง” นั้นเข้าสู่สยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 มีผู้ส่งแท่งน้ำแข็งใส่หีบ กลบด้วยขี้เลื่อย ส่งเข้ามาถวายอยู่ประจำ เช่น กงสุลไทยในสิงคโปร์ส่งน้ำแข็งลงหีบไม้ฉำฉาส่งมาถวาย พอถึงกรุงเทพฯ น้ำแข็งก้อนใหญ่ ๆ ก็มีขนาดเหลือเท่าชามอ่างขนาดกลาง โดยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้แจกจ่ายแก่เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงปั้นน้ำแข็งใส่พระโอษฐ์เจ้านายเล็ก ๆ ให้ทรงอมเล่น รับสั่งว่า “กินน้ำแข็งเสีย” ส่วนพวกผู้ใหญ่บางคน พอได้ยินว่ามีแจกน้ำแข็งก็ไม่เชื่อ

รัชกาลที่ 4 รับสั่งให้โขลนไปตามเจ้าจอมมารดาวาดมาดูน้ำแข็ง โขลนเรียนว่า “มีรับสั่งให้ท่านขึ้นไปดูน้ำแข็งเจ้าค่ะ” เจ้าจอมถามว่า “เอ็งว่าอะไรนะ”, “น้ำแข็งเจ้าค่ะ” โขลนตอบ เจ้าจอมมารดาวาด ไม่เชื่อ พูดว่า “เอ็งนี่ปั้นน้ำเป็นตัว”

ส่วนเครื่องทำน้ำแข็งนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงนำเครื่องทำไอศกรีมขนาดเล็กเข้ามาหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสสิงคโปร์ พ.ศ. 2414

พ.ศ. 2432 หนังสือพิมพ์สยามเมอร์แคนไทล์ลงโฆษณาว่า มีน้ำแข็งขายในสยามทุกวัน ไม่ระบุว่าผลิตเองหรือนำน้ำแข็งเข้ามา เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2563 วิเคราะห์ว่า น่าจะผลิตและขายในสยามได้เองแล้ว เพราะมิเช่นนั้น คงไม่สามารถผลิตขายวันต่อวันได้เป็นแน่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เฟรเดอริค อาร์เธอร์ นีล. (2525). ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทัศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841) : Narrative of a Residence in Siam. ลินจง สุวรรณโภคิน ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ธนประดิษฐ์การพิมพ์.

เอนก นาวิกมูล. (2549). หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 6. กรุงเทพฯ : คอมแพคท์พริ้นท์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มิถุนายน 2563