เปิดหลักฐานกรมหลวงชุมพรฯ ไม่ประสงค์รับตำแหน่งใหญ่ ตั้งพระทัยออกราชการไปทำเกษตร?

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จเตี่ย หมอพร

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงมีบทบาทอย่างมากในกิจการด้านทหารเรือ ไม่เพียงแค่ด้านการทหารเรือ พระองค์ยังมีพระอัจฉริยภาพอีกหลายด้าน แต่ที่บางท่านอาจไม่คุ้นกันคือด้านการเกษตร หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร เคยศึกษาเอกสารและบันทึกต่างๆ ที่มีเนื้อหาชี้ว่า พระองค์สนพระทัยถึงกับทรงปรารภว่า จะลาออกจากราชการไปทำเกษตรที่อำเภอหาดทรายรี จังหวัดชุมพร

พระปรีชาในด้านต่างๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ ปรากฏในเอกสารและบันทึกที่รวบรวมโดยหลายหมู่เหล่า หากได้ลองสำรวจหลายแหล่งแล้วอาจพบว่าครอบคลุมในทางด้านการทหารเรือ จิตรกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ การแพทย์ ศิลปะการต่อสู้ ธรรมชาติวิทยา ไปจนถึงเรื่องเชิงศาสตร์ลี้ลับ คาถา อาคม แต่น้อยครั้งที่จะพบเอกสารเอ่ยถึงพระปรีชาด้านการเกษตรดังที่หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ได้รวบรวมข้อมูลและหลักฐานนำมาเผยแพร่ในบทความ “เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ กับการเกษตร” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2559

หลักฐานต่างชาติ

เอกสารชิ้นแรกที่ยกมาเอ่ยถึงคือ หนังสือพิมพ์ในประเทศสิงคโปร์ “The Eastern Daily Mail” ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2450 หน้า 3 ลงข้อความเหตุการณ์ที่ทรงนำทหารเรือไปฝึกภาคครั้งแรกถึงต่างประเทศและแวะสิงคโปร์ การไปฝึกภาคในต่างประเทศเป็นครั้งแรกเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) สิ้นสุดในวันที่ 18 กันยายน ร.ศ. 126 หนังสือพิมพ์ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับ His Royal Highness Prince Chumporn Abhakara ตอนหนึ่งว่า

“…His Royal Highness is taking a great interest in the Para Rubber and is going to have an extensive plantation in Siamese ere long. Unfortunately the Director of the Gardens was away at the time His Royal Highness visited the Gardens.”[2]

เนื้อหาเอ่ยถึงว่าพระองค์สนพระทัยยางพาราเป็นอันมาก แต่น่าเสียดายที่ผู้อำนวยการสวนที่พระองค์ทรงเยี่ยมชมไม่ได้อยู่ด้วย ขณะที่นักเรียนนายเรืออีกคนหนึ่ง ซึ่งไปฝึกภาคในคราวนั้นคือ นักเรียนนายเรือ หม่อมเจ้าพรปรีชา กมลาศน์[3]

(ต่อมาเป็น นาวาเอก) ได้บันทึกไว้ว่า

“รุ่งขึ้นเสด็จในกรมฯ และนายทหารอื่นๆ กับนักเรียนเจ้านายเสด็จเมืองบูเด็นช็อก ซึ่งเป็นเมืองที่มีการปลูกสวนต้นไม้อย่างลือชื่อ…”[4]

บูเด็นช็อกเป็นเมืองที่มีชื่อเรื่องการปลูกต้นไม้ การเสด็จที่เมืองแห่งนี้ต่อจากการเสด็จสิงคโปร์น่าเป็นการย้ำให้เห็นว่า พระองค์มีความสนพระทัยในเรื่องการทำสวนหรือต้นไม้ อนึ่ง การปลูกยางพารานั้นเริ่มมีการนำพันธุ์ยางมาปลูกในประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. 2444 ก่อนหน้าที่กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงพานักเรียนนายเรือไปฝึกภาคในพ.ศ. 2450 ซึ่งอีกเพียง 6 ปีต่อมา ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่นิยมปลูกเป็นที่แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

หลักฐานชิ้นนี้เป็นสัญญาณแรกที่บ่งชี้ถึงความสนพระทัยด้านการเกษตร แม้จะมีความสนพระทัย แต่หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร บรรยายไว้ว่า พระองค์ไม่มีเวลาที่จะทรงมาดำเนินการจวบจนถึงบั้นปลายของพระชนมชีพของพระองค์

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. 2450

การทำสวนในวังพญาไท

หลักฐานต่อมาคือ รายละเอียดเรื่องการทำสวนผักที่วังพญาไทของกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ บันทึกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบันทึกไว้ว่า

“…เมื่อทรงเริ่มจัดสร้างที่สวนพญาไท กรมชุมพรรับอาสาปลูกผักที่นั่นทุกๆ เดือน ได้มีผักเข้าไปถวายคราวละหลายถาด, ซึ่งกราบทูลว่าผักที่ปลูกที่พญาไท…”[5]

ไม่เพียงแค่บันทึกข้างต้น บันทึกของมหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ยังปรากฏใจความว่า

“…เมื่อเสด็จกลับจากประพาสยุโรปคราวนี้แล้วได้เสด็จประพาสที่พญาไทเนืองๆ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ทรงทดลองปลูกผักได้งามดี วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าคุณพ่อรับสั่งว่ามีพระประสงค์อยากจะเสวยมะเขือต้มจิ้มน้ำพริกที่พญาไท ได้มีรับสั่งให้กรมหมื่นชุมพรฯ ทำสำหรับเสวยเวลาค่ำแล้วให้เจ้าคุณพ่อจัดการหุงข้าวและหาของหวาน ข้างท้ายพระราชหัตถเลขาทรงสั่งว่า ‘ไม่ต้องมีกับข้าวอื่นก็ได้ กินกันจนๆ อย่างในเรือเมล์เสียสักที…’ ”[6]

ส่วนหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร (พระธิดาของกรมหลวงชุมพรฯ) ทรงบันทึกเรื่องเมื่อครั้งกรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นหมอพรอยู่ตอนหนึ่งว่า

“…ทรงรักษาให้ฟรี ไม่คิดค่ารักษาแต่ประการใด เครื่องยาบางอย่างแพงมาก ก็ซื้อยามา มีคนมารับก็ไปทุกครั้ง ได้รถยนต์คันเล็กที่พระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานเมื่อคราวไปทำสวนครัวถวายที่พญาไท พระราชทานชื่อรถว่า ‘เอนกผล’ (หรือ ‘เอนกพล’) ใช้เป็นพาหนะไปตามซอกตรอกเล็กตรอกน้อย…”[7]

เมื่อเอ่ยถึงที่ประทับของกรมหลวงชุมพรฯ ในบริเวณวังนางเลิ้ง พระองค์ปลูกต้นไม้มีทั้งไม้ดอกและไม้ผล ดังที่หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง พระธิดาของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งประทับอยู่กับเสด็จพ่อที่วังนางเลิ้งตั้งแต่ประสูติ ทรงเขียนเล่าไว้ว่า

“…เนื้อที่วังนางเลิ้งมีประมาณ 20 ไร่เศษ ทรงขุดคลองเอาดินขึ้นถม มีคลองลดเลี้ยว ทำสะพานเชื่อมเดินถึงกันจากเกาะนี้ไปเกาะโน้น ทุกเกาะจะมีหม่อมคนหนึ่งเป็นเจ้าของรับมอบดูแลความสะอาด ปลูกไม้ดอกไม้ต้น กลางวันเดินเที่ยวและพายเรือเล่นสนุกดี แต่ตกกลางคืนเงียบและมืด เสียงนกร้องน่ากลัว มีตัวศาลาทุกแห่ง…”[8]

หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ยังเล่าว่า วังนางเลิ้งมีโรงเฟิน ปลูกกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ ในคลองมีบัววิกตอเรีย สำหรับไม้กระถาง โปรดให้ปลูกต้นหวาย หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ยังระบุว่า จำได้ว่าตามทางเดินวังนางเลิ้งมีกระถางปลูกต้นหวายวางอยู่เรียงราย

หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร บิดาของหม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ทรงพูดกระเซ้าหม่อมแฉล้ม อาภากรฯ (หม่อมแม่ของพระองค์) ว่า “ที่ปลูกต้นหวายนั้น ก็เพื่อรำลึกถึงเด็จพ่อ”

หลักฐานอีกประการที่หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ยกมาคือ พระองค์มีพระดำรัสกับผู้ใกล้ชิดพระองค์ คือ เจ้ากรมรังษี[10] (รังษี คำอุไร) โดย ศาสตราจารย์ ดร. นิตย์ คำอุไร ธิดาของเจ้ากรมรังษีได้บันทึกไว้ดังนี้

“ประมาณปลายปี 2465 ‘เด็จปู่’ (คำที่ ดร. นิตย์ใช้เรียกเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ) รับสั่งกับพ่อว่า อยากจะออกจากราชการ ให้พ่อ (เจ้ากรมรังษี) หาที่ทำสวนทำไร่กัน เด็จปู่โปรดที่บริเวณหาดทรายรี จังหวัดชุมพรมาก โปรดให้พ่อไปสร้าง ตำหนักชั่วคราว พ่อก็จะไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพและชุมพร ในเวลาที่พ่อกลับมากรุงเทพ ท่านข้าหลวง จังหวัดชุมพร ชึ่งข้าพเจ้าจำชื่อท่านไม่ได้ [ขุนพิพัฒน์ เจริญพานิช – ผู้เรียบเรียง] แต่ภรรยาของท่านชื่อนางทรัพย์ นามสุกล เจริญพานิช ได้ช่วยดูแลที่และตำหนักให้”[11]

ไม่เคยประสงค์เป็น “Minister of Marine

อีกทั้งหลักฐานเป็นลายพระหัตถ์ทรงเขียนข้อความไว้ในจดหมายที่มีถึง หม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรา อาภากร พระธิดาองค์โตของพระองค์ ในจดหมายมีข้อความบางตอนว่า

“I am not anxious to be great dear, never want to be a Minister of Marine which must be only lonelier than this, to be aloof from all friends and an outcast is too bad. Good God, what have done to deserve such banishment, I shall resign if I get it.

Your ever lonely father,
Abhakara”[9]

จดหมายฉบับนี้ลงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2465 (22nd March 1922) ก่อนที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือประมาณ 1 ปี (ทรงได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือเมื่อ พ.ศ. 2466) เหตุผลที่พระองค์ไม่มีพระประสงค์รับตำแหน่งนี้ ทรงให้เหตุผลว่า เพราะจะทำให้มีความเหงาเพิ่มขึ้นจากเดิม ต้องมีความเหินห่างจากเพื่อนฝูง (…which must be only lonelier than this, to be aloof from all friends…) พระองค์จะขอทูลลาออกจากราชการหากได้ตำแหน่งนี้ (I shall resign if I get it.)

ที่พระองค์ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรงทหารเรือ หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร แสดงความคิดเห็นว่า น่าจะเป็นเพราะไม่ทรงอาจขัดพระราชประสงค์ หรือพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ แม้กระนั้นพระองค์ยังทรงปรารถนาจะทูลลาออกจากราชการ

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. 2450

บันทึกของลุงน้อม ชาวบ้านตำบลหาดทรายรี

หลักฐานอีกประการคือ บันทึกของลุงน้อม ภูมิสุวรรณ ชาวบ้านตำบลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ซึ่งหม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ชี้ว่า ลุงน้อมเป็นผู้รับฟังเรื่องราวมาจากบิดา และได้เห็นมาด้วยตนเอง บันทึกของลุงน้อมนี้ส่วนหนึ่งเล่าถึงประวัติกรมหลวงชุมพรครั้งเมื่อท่านมาซ้อมรบ ไปจนถึงเริ่มแรกที่ทำสวนและปลูกของต่างๆ และเรื่องถึงการตั้งศาลเสด็จในกรมหลวงชุมพร(ที่หาดทรายรี)

เนื้อหาส่วนประวัติครั้งพระองค์มาซ้อมรบมีใจความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อข้าพเจ้าจำความได้ ตอนที่พวกชาวบ้านใกล้เคียงร่วมกันทำพลีจับควายป่ามาใช้ทำนาและทำสวน จำนวนควายที่จับมาเลี้ยงจำเจ้าของ ถ้าผิดมือไม่ได้มันเล่นงานทันที ส่วนเสือและสัตว์ต่างๆ ก็อยู่ในป่านั้นเช่นเดิม หมูป่าจำนวนมากที่สุด ออกรบกวนชาวบ้านและชาวสวนอย่างหนัก ขอย้อนหลังเมื่อท่านหมดพิธีการซ้อมแล้ว ท่านจะเสด็จกี่ครั้งหาทราบไม่

ทราบครั้งสุดท้ายเมื่อท่านพอพระทัยจับจองที่ดินในที่นี้ ท่านรับสั่งให้กำนัน ขุนผจญนรทุกข์ กำนันตำบลปากน้ำ กับบิดาของข้าพเจ้า หมื่นชาติ ภูมิสุวรรณ ผู้เป็นผู้ใหญ่บ้านทำการจับจอง เพื่อตั้งฐานทัพเรือขึ้นอีกแห่งหนึ่ง และจะทดลองในด้านการเกษตร เมื่อตกลงแล้วบิดาของข้าพเจ้า ผู้เป็นผู้ใหญ่บ้านออกทำการการสำรวจเนื้อที่แปลงนี้ ด้านเหนือเอาต้นหูกวางมาเป็นเขตตลอดจนถึงเขาขวาง ที่ตั้งวัดอยู่ในปัจจุบันนี้ ด้านใต้ไปจดทุ่งมะขามน้อย เป็นป่าทึบทั้งนั้น มีชาวบ้านทำน้ำมันยาง ตัดหวาย ตัดไม้ขาย รวมพวก 3 หรือ 4 คน ถึงจะกล้าเข้าไปทำงานที่นั้น รวมเป็นเนื้อที่ 2,000 ไร่ พวกที่เข้าไปตัดป่านี้กลับบ้าน ถึงบ้าน ตายบ้าง เหลือบ้าง ที่ปรากฏชื่อ นายปลื้ม เมืองรื่น อยู่ปากน้ำชุมพร ที่เสียชีวิตในครั้งนั้น และยังอีกข้าพเจ้าลืมชื่อจำไม่ได้…”

จากเนื้อหาที่ทำให้พอจะคาดได้ว่า เสด็จในกรมฯ เสด็จไปซ้อมรบที่นั่นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2450 พระองค์พอพระทัยในที่ดินบริเวณนี้มาก ต่อมาอีกราว 10 ปี เมื่อ พ.ศ. 2460 เศษ จึงมีพระดำริในการทำไร่ทำสวน ณ บริเวณนั้น ดังมีรายละเอียดอยู่ในคำบอกเล่าของลุงน้อม

ส่วนในเรื่องทำสวนและปลูกของต่างๆ บันทึกของลุงน้อมมีเนื้อหาว่า

“เมื่อพระองค์ทรงสมบูรณ์โดยไม่ได้ป่วย ท่านได้นำเครื่องรถบรรทุกเรือชื่อเจนทะเลมาจอดที่หน้าเกาะมะพร้าว และของต่างๆ ท่านที่ได้นำขึ้นที่หาดทรายรีตรงกับต้นหูกวางที่อยู่ปัจจุบันนี้

ข้าพเจ้าจำได้ว่า เสด็จกรมหลวง ได้นำหม่อมเจ้าสิทธิพร กับพวกหลายคนเปิดลังเอาเครื่องเหล็กประกอบเป็นตัวรถแทรกเตอร์ ในการบุกเบิก และท่านได้นำของชำมาหลายอย่าง ได้บรรทุกเรือเจนทะเล ลำเลียงขนขึ้นมา มีไม้เสา และเครื่องไม้ต่างๆ ที่จะสร้างที่พักอันถาวร ส่วนรถที่ประกอบแล้วก็ทำการบุกเบิกริมป่าใกล้ๆ ทะเล ปลูกถั่วลิสง

ส่วนป่าระหว่างเขาที่พักถึงเขาขวางที่วัดตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ก็ปลูกของชำที่ท่านบรรทุกเรือเจนทะเลมา ปลูกเป็นหมู่ๆ ละเป็นแถวตรง ไม้ที่ปลูกบุกเบิกล้มลงแล้วเอามาเลื่อยทำฝาและเพดานที่จะทำที่พัก ตอนนั้นท่านก็ลงพักอยู่ในเรือเจนทะเล ที่จอดอยู่ระหว่างเกาะมะพร้าว เมื่อท่านจะขึ้นบกก็ลงเรือของท่านชื่อเรือแสงอาทิตย์ หาดยาว 1 ศอก หรือ 3 วา เป็นเรือเครื่องสีน้ำทะเล อยู่ประมาณ 9 วัน หรือ 10 วันท่านก็กลับ อยู่มาท่านได้ส่งตัวแทนของท่านเพื่อมาดูแล เขาเรียกกันว่า ปลัดกรม ชื่อขุนหลวงศรี (เจ้ากรมรังษี – ผู้เรียบเรียง) ภรรยาชื่อแม่ผิว นามสกุลจำไม่ได้ (นามสกุล “คำอุไร” – ผู้เรียบเรียง) ฝ่ายอุปถัมภ์ในการอาหารต่างๆ ที่จะเลี้ยงคนงาน และครัวของปลัดกรม ที่ท่านส่งมาเป็นตัวแทนด้วย คือ ขุนพิพัฒน์ เจริญพานิช ภรรยาชื่อ ทรัพย์ เจริญพานิช ขุนอารีราชกิจ กาญจนจารี ภรรยาชื่อผิว เป็นเถ้าแก่โด่งดังอยู่ใน ตำบลปากน้ำ ทั้งสองคนนี้เป็นคนคุ้นเคยกับท่าน ขุนพิพัฒน์ เจริญพานิช ถวายม้า 1 ตัว เพื่อบรรทุกลำเลียงอาหารจากปากน้ำถึงหาดทรายรี

ม้าตัวนี้ใหญ่มากเป็นม้าดุ เคยกัดคนตายมาแล้ว เมื่อมาอยู่หาดทรายรี ความดุของมันก็หายไป นายคงเป็นคนเลี้ยงม้าและเลี้ยงวัวด้วย นายขันบ้านอยู่ท่ายางแห่งเดียวกับตาคง นายขันคนนี้มือปืนดี เป็นผู้ระวังสัตว์ที่จะมาทำลายของที่ปลูกไว้

ขอกล่าวย่อๆ ดังนี้

1. ปลัดกรม ผู้แทนตัวของท่าน คือ คุณหลวงศรี ภรรยาชื่อแม่ผิว มาจากกรุงเทพฯ
2. ผู้อุปถัมภ์ส่งสะเบียงอาหารชื่อ ขุนพิพัฒน์ เจริญพานิช
3. นอารีย์ราชกิจ กาญจนจารี สองคนเป็นเถ้าแก่ใหญ่หมู่บ้านปากน้ำชุมพร และเป็นคนสนิทกับท่าน
4. หัวหน้างานป้องกันสัตว์ร้ายที่จะมาทำลายของที่ปลูกไว้คือนายขัน บ้านอยู่ท่ายาง อ. เมือง จ. ชุมพร
5. นายคงเป็นคนเลี้ยงวัว และสัตว์มีแพะเป็นต้น
6. นายช่างที่มาตั้งพระตำหนัก ชื่อนายสวน มาจากกรุงเทพฯ และลูกน้องห้าหกคนในพื้นบ้าน

ถ้าท่านต้องการทราบเรื่องประวัติของวัดและในที่ต่างๆ ดังกล่าวที่เรียบเรียงมานี้ เป็นความจริงทุกประการ ไม่มีการยกเมฆตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าท่านสนใจในเรื่องนี้ขอโปรดไปพบข้าพเจ้าตามสถานที่อยู่

นายน้อม ภูมิสุวรรณ
1 หมู่ที่ 1
ต. บ้านหาดทรายรี
อ. เมือง
จ. ชุมพร”

อย่างไรก็ตาม ลุงน้อม ภูมิสุวรรณ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2536 (อายุ 88 ปี) แต่เมื่อครั้งเสด็จในกรมฯ สิ้นพระชนม์ที่หาดทรายรี ลุงน้อมมีอายุ 18 ปี น่าจะพอรู้ความแล้ว แม้ว่าบันทึกของลุงน้อม จะเรียกชื่อบุคคลเพี้ยนไปบ้าง ดังที่หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ได้นำไปเปรียบเทียบกับข้อเขียนของ ดร. นิตย์ คำอุไร แล้วพบว่า “เจ้ากรมรังษี” เรียกเป็น “ขุนหลวงศรี” (ภรรยาชื่อ “ผิว” เหมือนกัน) ขุนพิพัฒน์ เจริญพานิช สะกดชื่อตรงกัน และมีภรรยาชื่อ “ทรัพย์” เช่นกัน

หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ยังวิเคราะห์เรื่องชื่อหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ปรากฏในบันทึกของลุงน้อมไว้ดังนี้

“ในบันทึกของลุงน้อมได้กล่าวถึง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ด้วยว่าเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงพาท่านชายสิทธิพรมาถากถางที่ดินที่จะทำไร่ทำสวนที่หาดทรายรี แสดงว่าเสด็จในกรมฯ ทรงมีความคุ้นเคยกับหม่อมเจ้าสิทธิพรดีพอสมควร ทั้งนี้ทั้งสองพระองค์ทรงเคยเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษในระยะเวลาใกล้เคียงกัน (ในช่วง พ.ศ. 2436-2443) ขณะนั้นที่ประเทศอังกฤษมีนักเรียนไทยน้อยคน ทั้งสองพระองค์คงได้ทรงพบกันหลายครั้งในช่วงนั้น

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงรับราชการจนทรงมีตำแหน่งสูง แต่พอถึง พ.ศ. 2463 ก็ทรงลาออกจากราชการเพื่อเสด็จไปทำไร่ฟาร์มบางเบิดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับว่าเป็นเรื่องแปลกมาก ท่านสิทธิพรทรงเขียนเล่าไว้เองว่า

‘เริ่มต้นในปี 2463 บังเอิญมีข้าราชการชั้นอธิบดีกรมใหญ่กรมหนึ่ง สมัครโดยลำพังที่จะสละตำแหน่งสูง โดยกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเพื่อจะได้ไปประกอบการกสิกรรมตามแบบสมัยใหม่…ซึ่งในสมัยนั้นผู้คนโดยมากเห็นว่าเป็นการกระทำของคนที่ไม่บ้าก็บอ คนที่ไม่บ้าก็บอนั้นคือ ข้าพเจ้าเอง'[13]

ท่านสิทธิพรเป็นคนแรกๆ ที่นำรถแทร็กเตอร์มาใช้งานด้านการเกษตร เมื่อ พ.ศ. 2463 ในบันทึกของ ลุงน้อม ภูมิสุวรรณ บันทึกว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2465 ‘…เสด็จในกรมฯ ได้นำหม่อมเจ้าสิทธิพรกับพวกหลายคน เปิดลังเอาเครื่องเหล็กประกอบเป็นตัวรถแทรกเตอร์’

รถแทร็กเตอร์คันนั้นอาจเป็นรถคันที่หม่อมเจ้าสิทธิพรทรงบันทึกว่าสั่งเข้ามาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2463 ก็เป็นได้ เพราะระยะเวลาห่างกันเพียง 2-3 ปี อนึ่ง ตำบลบางเบิด เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลฝั่งฟากตะวันออกของอ่าวสยาม ระหว่างเกาะหลักและเมืองชุมพร จึงถือว่าไม่ไกลกันนัก คงติดต่อกันได้สะดวกทั้งโดยทางเรือและทางรถไฟ

หม่อมเจ้าสิทธิพรกับเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกๆ ที่สนพระทัยและบุกเบิกในเรื่องการเกษตร ท่านสิทธิพรทรงเป็นเจ้าของวลีที่ว่า ‘เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง’ มาถึงปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าผลผลิตการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ควรเน้นด้านเกษตรกรรมมากกว่าด้านอุตสาหกรรม นับว่าท่านทั้งสองมีพระดำริอันยาวไกลเป็นเวลาล่วงหน้าร่วม 100 ปี”

 


หมายเหตุ: เนื้อหานี้กองบรรณาธิการคัดย่อและเรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความ “เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ กับการเกษตร” เขียนโดย หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2559

เชิงอรรถ

1 “เจ้าคุณหาญฯ เล่าเรื่อง,” ใน ที่ระลึกพระราชพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ณ วิทยาลัยพณิชยการพระนคร 19 ธันวาคม 2519. น. 47.

2 มูลนิธิราชสกุลอาภากร. พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระประวัติและพระปรีชา จากการค้นคว้า และค้นพบใหม่ทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร. น. 142.

3 นาวาเอก หม่อมเจ้าพรปรีชา เป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดกับเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ท่านหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาของเสด็จในกรมฯ ทรงเรียกท่านว่า “ท่านอากุ๊ก” ในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของท่านมีข้อความเขียนในคำปรารภว่า “…นึกถึงยังเป็นภาพจับตา กลางพระอุระของท่านพ่อมีรอยสักตัวหนังสือใหญ่ขนาดหนึ่งนิ้วฟุตว่า ‘ตราด 112’ ซึ่งเคยทราบจากท่านพ่อว่า เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงสักให้ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านเอง เพื่อให้ลูกศิษย์ก้นกุฏิเพียงไม่กี่คนได้ระลึกและจดจำได้ถึงเหตุการณ์ ร.ศ. 112…”

4 พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แล เกษากันต์ และทหารเรือไทยในสมัย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หม่อมเจ้าพรปรีชา กมลาศน์ ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 18 พฤษภาคม 2503), น. 38.

5 วรชาติ มีชูบท. “เรื่องของกรมหลวงชุมพรฯ,” ใน เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6. น. 112.

6 ปกิณณกะในรัชกาลที่ 5, (พิมพ์ในการทำบุญฉลองครบรอบ 80 ปีบริบูรณ์ ของ มหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ณ วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2497), น. 84.

7 อนุสรณ์ท่านหญิงเริง, น. 213.

8 หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร. หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ. น. 338.

9 มูลนิธิราชสกุลอาภากร. พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระประวัติและพระปรีชา จากการค้นคว้า และค้นพบใหม่ทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร. น. 270.

10 เจ้ากรมรังษี (รังษี คำอุไร) เจ้ากรมของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ (ผู้ทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในวังและติดต่อกับหน่วย ราชการ) เป็นคนจังหวัดราชบุรี ตอนเยาว์วัยอยู่กับสมเด็จวังบูรพา (สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) เมื่อพระธิดาของพระองค์ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ทรงเสกสมรสกับพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ใน พ.ศ. 2443 นายรังษี คำอุไร ได้ติดตามมาอยู่กับเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงพระองค์สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2466

11 ดร. นิตย์ คำอุไร. “แม่และพี่ๆ ของข้าพเจ้าเล่าให้ฟัง,” ใน หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ. น. 362.

12 พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์. “จากบันทึกของลุงน้อมจนถึงบันทึกของลุงแสง,” ใน อนุสรณ์ท่านหญิงเริง. น. 293-297.

13 ทั้งบ้านและไร่นา ชีวิตพอเพียงที่ฟาร์มบางเบิด, (พิมพ์ที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ณ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร อำเภอสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2543), น. 46.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2563