เผยแพร่ |
---|
การประท้วงเรียกร้องเพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาแพร่กระจายไปสู่การเคลื่อนไหวในที่สาธารณะอีกหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ในอังกฤษเมื่อช่วงมิถุนายน 2020 เกิดปรากฏการณ์ผู้เคลื่อนไหวนำรูปปั้นเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน (Edward Colston) ในเมืองบริสตอล (Bristol) ลากไปทิ้งในแม่น้ำ ภาพเหตุการณ์นี้ไม่เพียงเป็น “ไวรัล” ในโลกออนไลน์ แต่ยังย้อนกลับมาสู่คำถามเกี่ยวกับมุมมองการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์
รูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน บุคคลในอดีตซึ่งเป็นที่รับรู้ในฐานะคนใจบุญ, นักธุรกิจ และพ่อค้าแลกเปลี่ยนทาสตั้งอยู่ในพื้นที่ “โคลสตัน อเวนิว” (Colston Avenue) มาตั้งแต่ค.ศ. 1895 รายงานข่าวเผยว่า เหตุผลที่มีรูปปั้นตั้งอยู่นั้นเป็นเพราะพฤติกรรมที่สืบเนื่องมาจากความใจบุญของเอ็ดเวิร์ด ขณะที่ย่านที่รูปปั้นของเขาตั้งอยู่นั้นก็เป็นโคลสตัน เองที่พัฒนาขึ้น เขายังมีบทบาททำกิจกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมือง เขาเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินทุนที่ส่งเสริมความยั่งยืนในสถานศึกษา บ้านพักคนชรา ไปจนถึงโบสถ์
https://twitter.com/willwantwrites/status/1269653693131087873?s=20
โคลสตัน เกิดเมื่อค.ศ. 1636 ในเมืองบริสตอลนั้นเอง แต่ในช่วงวัยเด็กเขาไม่ได้อาศัยในเมือง เขาเติบโตในครอบครัวพ่อค้าซึ่งมีฐานะการเงินมั่งคั่งในบริสตอล เข้ารับการศึกษาในลอนดอน หลังจากนั้นก็เริ่มต้นเส้นทางที่ทำให้พอจะถือว่าตัวเขาเองเป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จในแวดวงการแลกเปลี่ยนสินค้าจำพวกสิ่งทอและขนสัตว์ ขณะที่การค้าแลกเปลี่ยนทาสซึ่งเขามีส่วนด้วยก็เกิดขึ้นนอกเมือง
มาร์ติน ฟาร์เรอร์ ผู้เขียนบทความประวัติของโคลสตัน ในเว็บไซต์เดอะ การ์เดียน เล่าว่า โคลสตัน เข้าร่วมเป็นสมาชิกบริษัทรอยัล แอฟริกัน คอมปานี (Royal African Company หรือ RAC) ในปี 1680 บริษัทแห่งนี้ผูกขาดการแลกเปลี่ยนทาสในแถบตะวันตกของแอฟริกา และมีหัวเรือใหญ่เป็นพระญาติของพระเจ้าชาร์ลสที่ 2 และภายหลังก็ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าเจมส์ที่ 2 โดยมาร์ติน เสริมข้อมูลว่า บริษัทแห่งนี้ประทับตราเป็นชื่อย่อของบริษัทว่า “RAC” บนหน้าอกของทาสชายและหญิงของบริษัท เชื่อว่าบริษัทแห่งนี้นำส่งทาสที่อาศัยแถบแอฟริกันตะวันตกราว 1 แสนรายไปในพื้นที่คาริบเบียน และอเมริการะหว่าง ค.ศ.1672-1689 บริษัทแห่งนี้เองที่ทำให้โคลสตัน มีฐานะขึ้นมา เขานำผลกำไรที่ได้จากบริษัทไปปล่อยกู้ต่อ
ในช่วงปลาย ราวค.ศ. 1689 โคลสตัน ขายหุ้นในบริษัทให้กับวิลเลียม เจ้าชายแห่งออเรนจ์ (William, Prince of Orange) จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ภายหลังการแย่งชิงอำนาจในอังกฤษซึ่งพระเจ้าเจมส์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้
หลังจากนั้นเป็นต้นมา โคลสตัน ถึงเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากความใจบุญเมื่อเขาเป็นผู้บริจาคเงินเพื่อการกุศลโดยมอบให้กับโรงพยาบาลและโรงเรียนในบริสตอลและลอนดอนด้วย เขายังมีบทบาทในทางการเมืองโดยเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของบริสตอลในฝ่ายทอรี (Tory) ก่อนเสียชีวิตลงในปี 1721 ร่างของเขายังถูกฝังในโบสถ์ในเมืองบริสตอล
ไม่เพียงแค่ชื่อย่านถนนหลักในเมืองซึ่งมีชื่อ “โคลสตัน” อยู่ ในเมืองยังมีฮอลล์ ถนน หอคอย และโรงเรียนที่ตั้งจากชื่อโคลสตัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งนักเคลื่อนไหวทางสังคมไปจนถึงบุคคลในแวดวงต่างๆ เรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ ข้อถกเถียงเรื่องความเหมาะสมในการตั้งรูปปั้นของโคลสตัน ในเมืองถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเคลื่อนไหวเป็นระลอก จนกระทั่งปรากฏการณ์การเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมกรณี “จอร์จ ฟลอยด์” ชาวผิวดำซึ่งเสียชีวิตหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวจับกุม การเคลื่อนไหวที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์นี้แพร่กระจายไปทั่วสหรัฐฯ และเริ่มข้ามมาถึงหลายประเทศในยุโรป
ในสหราชอาณาจักรก็มีผู้ออกมาเดินขบวนในหลายพื้นที่ ช่วงแรกๆ การเดินขบวนยังเป็นไปอย่างสงบ แต่เริ่มมีการปะทะเกิดขึ้นบ้าง และมีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ มีการจับกุมผู้เดินขบวนหลายราย และเมื่อช่วงปลายสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2020 ผู้เดินขบวนก็รวมตัวกันลากรูปปั้นเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน ไปทิ้งลงแม่น้ำ
ระหว่างการลากรูปปั้น มีผู้เคลื่อนไหวบางรายใช้เข่ากดไปคอของรูปปั้นเป็นท่าทางเดียวกับภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติต่อจอร์จ ฟลอยด์ ก่อนที่จอร์จ ฟลอยด์ จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นนิยามพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ขณะที่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์บางราย อาทิ ศาสตราจารย์ David Olusoga ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า เขาคิดว่ารูปปั้นนี้ควรถูกนำออกไปนานแล้ว รูปปั้นนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อว่าชายคนนี้คือผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำคุณงามความดี แต่ในมุมมองของเขาเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง “โคลสตัน เป็นพ่อค้าทาสและฆาตกร”
ภายหลังการเคลื่อนไหวล้มรูปปั้น ยังมีกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อสถานที่ในเมืองซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับชื่อของเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน ด้วย “โคลสตัน ฮอลล์” ศูนย์การแสดงบันเทิงต่างๆ ในเมืองเผยแถลงการณ์ว่า พวกเขาจะนำเสนอชื่อฮอลล์เสียใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ เดิมทีประเด็นการเปลี่ยนชื่อฮอลล์ เคยถูกพูดถึงมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ชื่อใหม่ของฮอลล์ จะประกาศในช่วงปี 2020 อยู่แล้วแต่ไม่สามารถประกาศได้เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด
ฝ่ายทางการเผยว่าเตรียมสอบสวนเหตุการณ์ทำลายทรัพย์สินนี้ด้วย ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้เคลื่อนไหวนำเสนอบุคคลที่ควรเชิดชูขึ้นแทนที่รูปปั้นเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน นั่นคือ พอล สตีเฟนสัน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยเคลื่อนไหวบอยค็อตต์รถบัสในบริสตอลยุค 60s ซึ่งทำให้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวสามารถคว่ำระเบียบห้ามคนกลุ่มน้อยในสังคมทำงานเกี่ยวกับรถบัสในเมือง
อ้างอิง:
Farrer, Martin. “Who was Edward Colston and why was his Bristol statue toppled?”. The Guardian. Online. Published 8 JUN 2020. Access 9 JUN 2020. <https://www.theguardian.com/uk-news/2020/jun/08/who-was-edward-colston-and-why-was-his-bristol-statue-toppled-slave-trader-black-lives-matter-protests>
Elmi, Osob. “Edward Colston: ‘Why the statue had to fall'”. BBC. Online. Published 8 JUN 2020. Access 9 JUN 2020. <https://www.bbc.com/news/uk-england-bristol-52965803>
Edward Colston statue: Protesters tear down slave trader monument. BBC. Online. Published 8 JUN 2020. Access 9 JUN 2020. <https://www.bbc.com/news/uk-52954305>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2563