ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล [email protected] |
---|---|
เผยแพร่ |
โรคระบาดในอดีตอย่าง อหิวาต์, กาฬโรค, ไข้ทรพิษ ฯลฯ ที่ระบาดแต่ละครั้งมีผู้ป่วยนับแสนๆ คน ที่เคยอ่านกันในเอกสารชั้นต้น หรือบทความที่นักวิชาการต่างๆ นำเสนอ ทำให้รู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง ในโลก…จนมาเจอกับการระบาดของ “โควิด-19” ที่สร้างความกระจ่างชัดกับคำว่า “โรคระบาด” มากมาย
เพราะนอกจากการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในไทยและในประเทศต่างๆ แล้ว ศบค. หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก็มีการแถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศประจำวันอีกด้วย
เมื่อเป็นกระแสที่ยังระอุเช่นนี้ นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 นี้นำเสนอ 2 บทความที่ว่าด้วย “โรคระบาด”
หนึ่งคือ “โรคภัย ไข้ระบาด ห่าลง และวงศ์พระอภัย : การเล่าเรื่องความเจ็บไข้และโรคระบาดในวรรณกรรมของสุนทรภู่” โดย ผศ. ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เพราะเดือนมิถุนายนเป็นเดือนเกิดของสุนทรภู่ ผศ. ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล จึงสอบสวนทวนงานของสุนทรภู่ที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาด เพื่อให้เห็นชีวิตของผู้คนในช่วงรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 ที่ต้อง เผชิญกับโรคภัย ไข้ระบาด ระบาดหลายครั้งๆ มาดูว่าสุนทรภู่นำข้อมูลดิบใส่เข้าไปในงานของเขา อย่างนิราศเมืองแกลง, รำพันพิลาป, พระอภัยมณี ฯลฯ ได้เนียนขนาดไหน
ในที่นี้ขอยกความเจ็บป่วยของตัวละครในเรื่อง “พระอภัยมณี” พบว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น นั่นก็คือ “โรคห่า” หรือโรคอหิวาต์
ปรากฏอยู่ในตอนกำเนิดสุดสาคร เมื่อวันหนึ่งสุดสาครจับม้านิลมังกรได้ พระฤๅษีสอนวิชาให้แล้วเล่าเรื่องพระอภัยมณีให้ฟัง สุดสาครออกเดินทางตามหาพระอภัยมณีจนไปถึงเมืองการะเวก ระหว่างทางถูกชีเปลือยหลอกขโมยไม้เท้าและม้านิลมังกรไป ฝ่ายชีเปลือยเมื่อได้ไม้เท้าและม้านิลมังกรมาแล้วเข้ามายังเมืองการะเวก ชาวเมืองเห็นสภาพสกปรกและเปลือยกายจึงต่างพากันรังเกียจ
ชีเปลือยจึงแสร้งทำอุบายว่าเป็นผู้วิเศษมารักษา “โรคห่า” ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอยู่ หากไม่รีบให้ชีเปลือยรักษาโดยการประพรมน้ำมนต์จะทำให้คนตายเป็นอันมาก ชาวเมืองจึงหมดความรังเกียจ เปลี่ยนเป็นศรัทธาและมองในฐานะ “ผู้วิเศษ”
ด้วยบัดนี้ผีห่ามันกล้าหาญ จะเกิดการโกลาโรคาไข้
ให้รากท้นคนตายฉิบหายไป จงบอกให้กันรู้ทุกผู้คน
แม้นกลัวตายชายหญิงอย่านิ่งช้า จงออกมานั่งข้างทางถนน
กูจึงจะประพรำด้วยน้ำมนต์ ให้รอดพ้นความตายสบายใจ
คนทั้งนั้นครั้นได้ยินก็สิ้นเกลียด อุตส่าห์เบียดเสียดกันเสียงหวั่นไหว
มานั่งหลามตามทางสล้างไป ที่เจ็บไข้คนจูงพยุงมา
……………………… ……………………………
ว่าบัดนี้ชีเปลือยมาโปรดสัตว์ จะกำจัดโรคร้ายให้หายสูญ
ขี่อะไรไม่รู้จักศักดิ์ตระกูล รำพันทูลเขาว่าชีนี้ดีนัก ฯ
นอกจากงานของ ดร.อภิลักษณ์แล้ว อีกหนึ่งคือบทความเรื่อง “โรคห่ากับการสร้างนาฏกรรมรัฐ: ทำไมจึง ‘ยิงปืนใหญ่ไล่ผี’ เมื่อโรคอหิวาต์ระบาดในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2363” โดย กำพล จำปาพันธ์
พ.ศ. 2363 คือปีที่เกิดโรคอหิวาต์ระบาดในไทย ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 2 ความเชื่อของประชาชนทั่วไปในเวลานั้น สาเหตุของโรคระบาด มักเกิดจากอำนาจของผีหรือวิญญาณร้าย การจัดการเกี่ยวกับโรคระบาดจึงต้องจัดการ “ผี” การระบาดของอหิวาต์ในปีนั้น จึงมีการ “ยิงปืนใหญ่ไล่ผี” ในพระราชพิธีอาพาธพินาศ
แต่ธรรมเนียมการยิงปืนใหญ่ไล่ผีดังกล่าว กำพล จำปาพันธ์ ค้นคว้าเอกสารต่างๆ และพบว่า “มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นเพียงในสมัยรัชกาลที่ 2 ก่อนหน้านั้นร่นขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยา ไม่พบการใช้วิธีนี้ในการรับมือโรคระบาด
การยิงปืนใหญ่โดยทั่วไปใช้ในพิธีการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งเป็นการใช้ปืนใหญ่ในพิธีการแบบสากล เพื่อส่งสารระยะไกลว่ามีผู้มาเยือนจากต่างแดนที่เรียกว่า ‘การยิงสลุต’ โดยเป็นการยิงตอบโต้กันแบบไม่เล็งเป้าเข้าหาฝ่ายตรงข้ามระหว่างป้อมเมืองท่ากับเรือของคณะทูต เป็น ‘ภาษาปืน’ แสดงการต้อนรับด้วยไมตรีจิต”
เช่นนี้จึงมีประยุกต์ใช้ในพิธีอื่นๆ ในภายหลัง อย่างเช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, งานพระบรมศพ, พระราชพิธีฉัตรมงคล
จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า ธรรมเนียมยิงปืนใหญ่ไล่ผี ไล่โรคระบาด มาจากไหน
ในอดีตไม่ว่าจะเป็น “โรคระบาด” หรือ “ปืนใหญ่” ต่างล้วนเป็นสิ่งที่รู้จักกันในสยามมาช้านานแล้ว จึงมีศัพท์โบราณเรียกโรคระบาดร้ายแรงว่า “โรคห่า” และตำราพระราชพิธีกล่าวถึงปืนใหญ่ เช่น โคลงทวาทศมาส, ตำราพระราชพิธีเก่า เพียงแต่ไม่ได้ใช้ยิงไล่ผีเท่านั้นเอง
แต่ความเชื่อเรื่องผี ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ผิดปกติต่างๆ เช่น โรคระบาด, ข้าวยากหมากแพง, จลาจล ฯลฯ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่ปรากฏใน เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา, ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ
จึงน่าสนใจว่า การใช้ปืนใหญ่ต่อสู้กับศัตรูอย่างเชื้อโรคที่มองไม่เห็น ในพระราชพิธีอาพาธพินาศเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 มีมาอย่างไร ทำไมจึงมีการยิงปืนใหญ่ “ผีห่า” ที่เป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดครั้งนั้นต่างจากผีที่เคยมีมาก่อนหน้าหรือมีที่มาที่ไปอย่างไร?
รวมถึงผลงานเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ กล่าวถึงโรคภัย ไข้ระบาดต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเมืองช่วง 4 รัชกาลที่สุนทรภู่พบเห็นเป็นอย่างไร
คำตอบของทั้งหมดนี้ ขอได้โปรดอ่านจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายน 2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ.2563