“ประกันสังคม” กฎหมายดูแลลูกจ้าง กับประเด็นที่วิตกเมื่อ 60 ปีก่อน

(ภาพจาก https://www.matichon.co.th)

สำนักงานประกันสังคม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 เพื่อให้ประเทศไทยมีการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบ โดยลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งในเรื่องการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ และตาย ทั้งนี้เนื่องและไม่เนื่องจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ (https://th.wikipedia.org)

โดยการจ่ายเงินสมทบจากลูกจ้าง, นายจ้าง รัฐบาลในปัจจุบันนั้น ลูกจ้างและนายจ้าง จะต้องจ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 ของค่าจ้างลูกจ้างแต่ละราย ส่วนรัฐบาลจะจ่ายสมทบในอัตราร้อยละ 2.75

นี่คือสถานกาณณ์ปัจจุบัน หากเมื่อ พ.ศ.2503 มีการเสนอ “ร่างกฎหมายประกันสังคม” ให้คณะรัฐมนตรีลงมติ แต่ก็ไม่สามารถสร้างระบบประกันสังคมให้เกิดขึ้น

มุมมองเมื่อ 60 กว่าปีก่อน ต่อเรื่องการประกันสังคมเป็นอย่างไร

โชติ มณีน้อย นักหนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์ เขียนบทความชื่อ กฎหมายประกันสังคม” ในคอลัมน์ “รอบสภา” ในหนังสือพิมพ์ชาวไทย ไว้ดังนี้ [จัดย่อใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน]

“กฎหมายประกันสังคม

มีเรื่องเก่าเล่าใหม่ ให้เสียขวัญกันอีกเรื่องหนึ่ง คือการประกาศใช้กฎหมายประกันสังคมฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ซึ่งตามคําให้ สัมภาษณ์ของ พล.อ. ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นําเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อไม่กี่วันมานี้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ลงมติรับหลักการ และจะได้เสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่ออนุมัติประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ประมาณว่ากฎหมายฉบับนี้จะเริ่มใช้บังคับ ตั้งแต่ต้นปี 2504 คือปีหน้าเป็นต้นไป

หลักการใหญ่ๆ ของกฎหมายประกันสังคมก็คือ บุคคลที่มีรายได้เป็นประจําอยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด (ยังไม่แน่ว่าเดือนละ 450 หรือ 500 บาทขึ้นไป) จะต้องจ่ายรายได้ส่วนหนึ่งออกให้แก่รัฐไว้ในราวร้อยละ 5 ซึ่งตามหลักเก่า ผู้มีรายได้ต้องเสียส่วนหนึ่ง สำนักงานนายจ้างจ่ายให้ 2 ส่วน และรัฐบาลสมทบอีก 2 ส่วน

ต่อจากนั้นผู้ประกันสังคมไว้แล้ว หากเจ็บไข้ได้ป่วย ทุพพลภาพ ว่างงาน หรือชราภาพ ทํางานอาชีพไม่ได้ รัฐบาลจะช่วยเหลือจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าเลี้ยงดูให้ฟรี เป็นการตอบแทนไปจนตลอดอายุ

และในขั้นแรกกฎหมายประกันสังคมนี้ จะประกาศใช้เป็นเขตๆ ไปก่อน โดยจะเริ่มใช้ในเขตที่มีพลเมืองหนาแน่น บ้านเมืองมีความเจริญและมีกิจการค้าอุตสาหกรรมมากๆ ซึ่งได้แก่ พระนคร-ธนบุรี ในเขตเทศบาล เป็นต้น

ความจริง เรื่องกฎหมายประกันสังคมนี้ ได้มีการวิพากษ์ วิจารณ์กันมามากแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนการปฏิวัติ ซึ่งก็ได้เลิกล้มไปครั้งหนึ่ง รัฐบาลคณะปฏิวัติมองเห็นความจําเป็นของการประกันสังคม และสวัสดิภาพของประชาชน จึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาอีก และได้ปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมซึ่งเป็นหมันไปแล้ว ออกมาเพื่อใช้กันใหม่

พิจารณาจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แล้วจะเห็นว่าทุกฝ่ายสนับสนุนหลักการของการประกันสังคม ว่าเป็นหลักการที่ดี และ ให้ประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติ ตลอดจนการกําหนดระยะเวลา เหตุผลก็คือ การประกันสังคมนั้นเมื่อประชาชนเอาประกันกับรัฐบาล และส่งเบี้ยประกันเป็นรายเดือนโดยครบถ้วนแล้ว ประโยชน์ที่รัฐบาลจะเป็นฝ่ายให้ก็คือช่วยเหลือในยามว่างงาน ทุพพลภาพ และชราภาพ การเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เข้าโรงพยาบาลรักษาให้ฟรี การศึกษาจะเรียนฟรีด้วยหรือเปล่าไม่

เอากันแค่การรักษาพยาบาลก่อน ซึ่งหมายความว่าก่อนประกาศใช้กฎหมายประกันสังคม รัฐบาลต้องเตรียมบริการต่างๆ เป็นต้นว่าขยายโรงพยาบาล แพทย์ เวชภัณฑ์ หยูกยาต่างๆ ให้มีปริมาณเพียงพอกับจํานวนประชาชน

เพราะมิฉะนั้นแล้ว เมื่อประชาชนผู้เอาประกัน เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาแล้ว ยังต้องอาศัยคลีนิคของเอกชนอยู่ต่อไปอีก การประกันสังคมก็ไม่มีความหมายอะไรมากกว่าการเก็บจากประชาชนไปเฉยๆ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็ยังเชื่อกันอยู่ว่า ทางการไม่พร้อม

จะเห็นได้จากการไปรับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลต่างๆ ยังต้องเสียเวลาเข้าคิวกันเป็นครึ่งวันก่อนวัน จะอาศัยรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ขัดข้องเพราะเตียงมีไม่พอ นายแพทย์ที่ตั้งสำนักงานคลีนิคเป็นของตัวเอง ยังมีกิจการเจริยก้าวหย้ากันอยู่ และเมื่อไม่พร้อมในขณะนี้ ในปีหน้าก็ยังไม่พร้อมเช่นเดียวกัน

ปัญหาที่วิตกกันมาก อีกประการหนึ่งก็คือ อัตราที่จะเรียกเก็บค่าประกันสังคม ไม่ทราบว่าจะเรียกเก็บในอัตราอย่างไร เพราะถ้าเก็บสูงเกินไป ประชาชนก็เกิดความเดือดร้อน เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าประชาชนส่วนใหญ่ ระดับการครองชีพยังต่ำมาก เพราะยังมีรายได้ไม่สมดุลย์กับค่าครองชีพ นอกจากนั้นปัญหาต่างๆ ยังสุมเข้ามาอีกมาก อันได้แก่การเสียภาษีช่วยชาติบ้านเมือง ค่าการศึกษาเล่าเรียนของลูกหลาน เหล่านี้ล้วนแต่ต้องจ่ายในอัตราสูงทั้งสิ้น

ที่นี้เมื่อมาพิจารณากันตามหลักการประกันสังคม นายจ้างจะต้องออกค่าประกันสังคมให้กับลูกจ้าง ในอัตรา 2 ส่วนของจํานวนที่ลูกต้องจ่าย ก็กลายเป็นภาระของนายจ้างเพิ่มขึ้นอีก ถ้าบังเอิญนายจ้างเห็นประโยชน์และความสําคัญของการประกันสังคมก็ดีอยู่

แต่ถ้านายจ้างถือว่านั้นเป็นบําเหน็จที่ต้องจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นประจําอยู่แล้ว เลยไม่พิจารณาเพิ่มอัตราเงินเดือนกันอีก ก็เท่ากับว่ากฎหมายออกมาเป็นอุปสรรคในการก้าวหน้าของคนงานไป ก็จะเสียผลประโยชน์ในทางอ้อม โดยปกตินายจ้างกับลูกจ้างเท่าที่ปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ ก็มีความเห็นเห็นใจกันดีอยู่

กิจการอุตสาหกรรมบางแห่งถึงกับมีบ้านพักให้พนักงาน มีสถานพยาบาล บริการให้ฟรีแถมยังมีโรงเรียนช่วยการศึกษา ของบุตรคนงานอีกด้วย ดังนั้นถ้าจะบังคับในเรื่องต้องประกันสังคมตามกฎหมายอีก บริการและสวัสดิการที่คนงานเคยได้รับอยู่เดิมก็จะพลอยถูกยกเลิกไปด้วย คนที่เสียประโยชน์ก็คือลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจรัฐบาล เพราะถ้ารัฐบาลเก็บค่าประกันสังคม รายได้ก็น้อยไม่พอแก่การที่จะใช้จ่ายในการบริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลตอบแทนสําหรับประชาชน เหตุผลขัดกันอยู่เช่นนี้ จึงหวังว่ารัฐบาลคงจะหาทางออกที่งดงามกว่านี้ คือ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ในเวลาเดียวกันก็ไม่เสียชื่อว่า เอาประกันสังคมแล้วบริการไม่ดี

ยังไงๆ ละก็ลองเปิดเผยรายละเอียดให้พิจารณากันก่อน แล้วรัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดผลดีตามเจตนารมณ์เอาทีหลัง คิดว่าคงจะดีกว่าประกาศตูมตามออกมาให้ประชาชนต้องเกิดภาระจํายอม

เสาร์ที่ 23 เมษายน 2503

หมายเหตุ

กฎหมายประกันสังคมได้เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อน พ.ศ. 2500 เป็นเวลากว่า 10 ปี ผ่านรัฐบาลมา 5 ชุดแล้ว ก็ยังไม่ประกาศใช้ เพราะประชาชนพากันค้านว่า บริการทางด้านรัฐบาลยังไม่พร้อม และอีกประการหนึ่งจะทําให้บริการและสวัสดิการต่างๆ ซึ่งนายจ้างเคยให้กับลูกจ้างอยู่แล้ว ก็จะถูกยกเลิก ความผูกพันทางใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก็จะพลอยขาดเยื่อใยกันไปด้วย”

อ่านจบแล้วคิดเห็นเช่นไรกับระบบประกันสังคม ขอให้เป็นความคิดเห็นของท่านผู้อ่าน

 


ข้อมูลจาก

โชติ มณีน้อย. 10 ปีที่ได้พบเห็น: ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ “รอบสภา” ในหนังสือพิมพ์ “ชาวไทย” พ.ศ. 2500-10, พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ กอบกุล มณีน้อย ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2511


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 4 มิถุนายน 2563