ต้นกำเนิดการ “นุ่งซิ่น” ของสตรีไทยสมัยรัชกาลที่ 6

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (ขวา) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แฟชันการแต่งกายของสตรีไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสตรีในพระราชสำนักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการแต่งกาย ดังจะเห็นได้จากภาพเจ้าจอมมารดาเปี่ยม หรือสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตาที่ทรงแต่งกายด้วยชุดแบบตะวันตก

เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม แต่งกายแบบสตรียุโรปในคราวต้อนรับ ลอร์ด จอห์น เฮย์ ผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษประจำมหาสมุทรอินเดีย เมื่อมาเยือนกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๐๕ (ภาพจากหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร ๒๕๔๘)

ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แฟชันการแต่งกายของสตรีในพระราชสำนักมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วกว่าสมัยใด ๆ ทั้งการนุ่งโจงกระเบน เสื้อแพรจีนกระบอกเล็ก เสื้อแจ็กเก็ต เสื้อลูกไม้แขนพองหมูแหม ฯลฯ และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 แฟชันการแต่งกายของสตรีในราชสำนักก็ยังคงได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเช่นกัน แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมไทยด้วย นั่นคือ การนุ่งซิ่น

Advertisement

ในพระราชสำนักปรากฏว่ามีเจ้านายสตรีนุ่งซิ่นมาก่อนแล้วคือ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี แต่ก็เป็นการแต่งกายในพระตำหนักของพระองค์เท่านั้น เอนก นาวิกมูล เขียนเรื่องการนุ่งซิ่นไว้ในหนังสือ หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 5 อธิบายไว้ว่า “พระราชนิยมนุ่งผ้าซิ่นคงเริ่มหลัง พ.ศ. 2463 เพราะผู้เขียนค้นพบบทความในหนังสือพิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2463 เขียนชักชวนให้สตรีนุ่งผ้าซิ่น อย่า ‘ดัดจิรต’ นุ่งกระโปรงฝรั่ง เพราะพระราชินีในอนาคตคือ พระวรกัญญาปทาน ได้ทรงนำนุ่งผ้าซิ่นขึ้นแล้ว”

นอกจากนี้ ในหนังสือ เรื่องของคนห้าแผ่นดิน อัตชีวประวัติของท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ธิดาเจ้าพระยามหิธร (ลลอ ไกรฤกษ์) และเป็นภรรยาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งท่านผู้หญิงเคยอยู่ในพระราชสำนัก เล่าเรื่องการนุ่งซิ่นไว้ว่า ในงานประกวดภาพวาดของจิตรกรสมัครเล่น เมื่อ พ.ศ. 2463 ที่พระราชวังพญาไท รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สตรีเข้าร่วมงานอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าคงจะทรงสรรหาสตรีที่ต้องพระราชหฤทัยในงานนี้

ต่อมารัชกาลที่ 6 ก็ทรงประกาศหมั้นกับ หม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ พระราชทานนามใหม่ว่า หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี และต่อมาก็โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี โดยคำนำหน้าพระนามว่า พระวรกัญญาปทาน มีความหมายว่า สุภาพสตรีซึ่งเป็นพระคู่หมั้น

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 6 (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์”
โดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2547)

ครั้นพระวรกัญญาปทานมาประทับอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดา รัชกาลที่ 6 ก็เสด็จมาทรงเยี่ยมเป็นประจำ และพบว่า พระวรกัญญาปทานนุ่งซิ่นเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย จึงกลายเป็นพระราชนิยมในรัชกาลที่ 6 ที่โปรดให้สตรีนุ่งซิ่น ตามที่ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล บันทึกไว้ว่า

“ครั้งนั้นพระวรกัญญาปทานทรงผ้าซิ่นเชียงใหม่รับเสด็จและพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระราชนิยมให้สตรีนุ่งซิ่น มีผู้สั่งผ้าซิ่นเชียงใหม่มาขาย รวยไปหลายราย ขณะนั้นฉันเป็นนักเรียนมัธยมก็นุ่งซิ่นไปโรงเรียน แต่ผู้ที่ไม่โก้พอหรือฐานะไม่ดีพอนั้นยังนุ่งโจงประเบนอยู่เป็นส่วนมาก พระวรกัญญาปทานอยู่สวนจิตรได้ประมาณ 3 เดือน ก็มีประกาศทรงถอนหมั้นให้พระองค์วัลลภาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปอยู่ในวังหลวง”

อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมนุ่งซิ่นก็แพร่กระจายไปสู่สังคมนอกราชสำนัก จากนั้นมาชาวบ้านทั่วไปจึงหันมานุ่งซิ่นกันมากขึ้น ครั้นต่อมาได้รับอิทธิพลจากแฟชันการแต่งการในยุค แกต์สบี (The Great Gatsby) จึงนิยมนุ่งซิ่นที่สั้นขึ้น

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2563