แค่ปิดประเทศไม่พอ ทำไมจักรพรรดิเฉียนหลงทรงห้าม “แหม่มฝรั่ง” เข้าจีน

นายใหญ่บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษและครอบครัว

ต้นรัชศกซุ่นจื้อ รัฐบาลราชวงศ์ชิงเริ่มดําเนินนโยบายปิดประเทศ โดยออกคําสั่งห้ามชาวบ้านออกทะเล เพื่อรับมือกับกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ชิงซึ่งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน เมื่อจักรพรรดิคังซีทรงผนวกไต้หวันรวมเป็นหนึ่งได้สําเร็จใน ค.ศ.1684 พระองค์ทรงยกเลิกนโยบายปิดประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง

แต่เนื่องจากปัญหาโจรสลัดบริเวณกชายฝั่งทะเลรุนแรงขึ้นทุกวัน ดังนั้นสมัยรัชศกเฉียนหลงจึงดําเนินการควบคุมการออกทะเลของชาวบ้าน และควบคุมการค้ากับชาวต่างชาติอย่างเข้มงวดขึ้น นั่นทำให้รัฐบาลราชวงศ์ชิงตกใจมากเมื่อพบว่าเรือพาณิชย์ของอังกฤษพกอาวุธมาจํานวนมหาศาล

ค.ศ. 1757 จักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1735-96) ทรงประกาศใช้นโยบายปิดประเทศ  มีรับสั่งให้ยุติการค้าที่เมืองท่าต่างๆ เช่น เซี่ยเหมิน หนิงปัว และอวิ่นไถซาน ฯลฯ คงเหลือเพียงเมืองกวางเจา ที่อนุญาตให้ทําการค้ากับพ่อค้าต่างชาติได้

แต่ห้ามพ่อค้าต่างชาติติดต่อกับทางราชการโดยตรง กิจการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพ่อค้าต่างชาติจะต้องโอนให้ “สิบสามห้าง” [เป็นชื่อของ กลุ่มการค้าที่รัฐบาลชิงจัดตั้งขึ้นที่เมืองกวางเจา โดยได้รับสัมปทานมีสิทธิ์ผูกขาดทางการค้า] เป็นผู้ดําเนินการทั้งหมด เพื่อไม่ให้กลุ่มต่อต้านราชวงศ์ชิงมีโอกาสสมคบคิดกับคนในและนอกประเทศ มาคุกคามอํานาจการปกครองของรัฐบาลชิง

แต่ที่ออกจะประหลาดคือ ห้ามสตรีชาวตะวันตก หรือ“แหม่มฝรั่ง”เข้าเมืองโดยเด็ดขาด

ต่อมาข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งและมณฑลกวางสี่อนุญาตให้ “แหม่มฝรั่ง” ติดตาม “พ่อค้าฝรั่ง” มาพักอาศัยที่มาเก๊าได้ แต่เข้าพักที่กวางเจาไม่ได้ จึงทําให้บรรดาหนุ่มฝรั่ง “โสด” ซึ่งพักอยู่ในกวางเจาโกรธเคืองเป็นอย่างยิ่ง พวกเขามองว่าการออกกฎเป็นการกระทําที่เหลวไหล

เหตุใดรัฐบาลราชวงศ์ชิงจึงต้องห้ามแหม่มฝรั่งเข้าประเทศจีน ไม่ใช่เพราะรัฐบาลชิงคิดว่าแหม่มฝรั่งเป็น “เสือดุ” แต่เป็นเพราะเหตุผลทางวัฒนธรรมและการเมือง

หนึ่งคือความรู้สึกระแวดระวังภายในใจกําลังคุกรุ่น ชาวจีนได้รับการอบรมสั่งสอนให้อยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี ความคิดที่ว่าต้องครองตนให้อยู่ในทํานองคลองธรรม และ “หนุ่มสาวห้ามถูกเนื้อต้องตัวกัน” ล้วนฝังลึกในจิตใจชาวจีน แต่เสื้อผ้าของสตรี ชาวตะวันตกที่เปิดเผยเนื้อหนังมังสามากเกินไป รวมถึงพฤติกรรมที่ ผู้หญิงจับมือและโอบกอดผู้ชายตามใจชอบนั้นทําให้วัฒนธรรม “เสื่อมเสีย”

อีกหนึ่งคือความจําเป็นในการควบคุมพ่อค้าต่างชาติ เมื่อห้ามผู้หญิงฝรั่งเข้ามาในเมือง พ่อค้าฝรั่งก็จะรู้สึกขาดความอบอุ่น ในครอบครัว ทําให้พวกเขาเบื่อการใช้ชีวิตคนโสดในเมืองกวางเจา และพวกเขาก็ย่อมไม่อาจพักอยู่ ระยะยาวต่อไปได้

ที่จริงแล้วรัฐบาลราชวงศ์ชิงจงใจขัดขวาง ชาวต่างชาติให้พวกเขาเจออุปสรรคและถอนตัวไปเอง

แต่ใน ค.ศ.1830 (รัชศกเต้ากวงปี ที่ 10) เหตุการณ์ “แหม่มฝรั่ง” เข้ามาที่เมืองกวางเจา (หรือเรียก ว่า “เหตุการณ์มาดามเบนส์”) ทําให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอังกฤษในประเด็นนี้กลายเป็นปัญหารุนแรง

วันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1830 มิสเตอร์เบนส์ นายใหญ่บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษประจําเมือกวางเจา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารสูงสุด ของบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ พาผู้หญิงต่างชาติหลายคน รวมทั้งมาดามเบนส์จากมาเก๊าเดินทางมากวางเจา พวกเขาและเธอนั่งเกี้ยวขุนนางขนาดเล็กเดินทางเข้าพักที่ย่านพ่อค้า หลายวันต่อมามาดามเบนส์พาหญิงต่างชาติอีกหลายคนนั่งเกี้ยว ขุนนางที่ใช้คนจีนแบกเที่ยวชมเมืองไปโดยรอบ แหม่มฝรั่งทุกคนล้วนสวมเสื้อผ้าทันสมัย สีสันสดใส ชาวเมืองกวางเจารู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาแย่งกันมาล้อมวงดูเพื่อชื่นชม “แหม่มฝรั่งสาวสวย”

แต่ใครจะไปรู้ว่า พวกเธอเหล่านี้จะกลับกลายเป็นต้นเหตุความวุ่นวายทางการทูต จนเกือบกลายเป็นสงครามเสียด้วย

ทางการจีนเคยออกกฎเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่า ห้ามชาวต่างชาติแอบพาครอบครัวเข้ามาในเมืองกวางเจา อีกทั้งห้ามนั่งเกี้ยวเข้าย่านพ่อค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่พวกเธอเหล่านี้กลับเฉิดฉายไปมาในเมืองจนเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่ว ขุนนางท้องในเมืองกวางเจาตกใจกับเหตุการณ์นี้มาก รีบสั่งให้ติดประกาศทั่วเมือง และยังสั่งชาวจีนให้หยุดมองหญิงสาวเหล่านี้

ทหารในเมืองกวางเจา หลี่หงปินข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งและมณฑลกวางสี ผู้ตรวจสอบศุลกากรมณฑลกวางตุ้งและข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งได้ร่วมลงนามถวายฎีกาแด่จักรพรรดิเต้ากวง(ค.ศ.1820-50) โดยให้ความเห็นว่าผู้หญิงต่างชาติเหล่านี้ “ทําผิดกฎราชสํานักแห่งสวรรค์” เมื่อพระองค์ทรงทราบความ และทรงเห็นว่าพ่อค้าต่างชาติมักทําผิดจารีต ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ จึงมีรับสั่งให้หลี่หงปินไปแจ้งให้พ่อค้าต่างชาติทราบชัดเจนว่าพวกเขาต้องปฏิบัติตามข้อห้ามของ ราชสํานักแห่งสวรรค์อย่างเคร่งครัด

หลังจากนั้นการติดต่อเจรจาด้านการทูตที่ดุเดือดจึงได้เปิดฉากขึ้น

หลี่หงปินออกคําสั่งให้พ่อค้าต่างชาติย้ายกลับไปอยู่ที่มาเก๊า ห้ามพักอาศัยที่เมืองกวางเจาโดยเด็ดขาด พ่อค้าอังกฤษรวมตัวกันประท้วง ไม่ยอมทําตามกฎดังกล่าว

พ่อค้าฝรั่งแย้งว่า ประเทศอังกฤษใช้กฎหมายผัวเดียวเมียเดียว ห้ามมีภรรยาน้อยโดยเด็ดขาด บางครั้งพ่อค้าอังกฤษมาอยู่ในเมืองกวางเจานานถึงครึ่งปี การไม่อนุญาตให้พาครอบครัวเข้ามาอยู่ด้วย ถือเป็นการไม่เห็นอกเห็นใจกันเลย

แต่หลี่หงปินไม่สนใจ การประท้วงและคําอธิบายใดๆ ของพ่อค้าต่างชาติเหล่านี้ ท้ายที่สุด ความรุนแรงของเหตุการณ์ก็ยกระดับไปถึงจุดที่จะต้องใช้กําลังแก้ปัญหา ฝ่ายจีนประกาศว่า หากมิสเตอร์เบนส์ไม่ส่งมาดามกลับไปมาเก๊าตามคําสั่งภายใน 2-3 วันนี้ ทางการจีนจะส่งกองกําลังทหารเข้าไปในย่านพ่อค้าเพื่อขับไล่ มิสเตอร์เบนส์ก็ไม่ยอมอ่อนข้อ เขาได้ระดมกําลังทหารเรือติดอาวุธกว่าร้อยนายและแอบขนปืนใหญ่เข้ามาในย่านพ่อค้าเพื่อเตรียมการต่อสู้

ปัญหา “แหม่มฝรั่ง” ทําให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอังกฤษ ตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดจนอาจปะทุเป็นสงคราม แต่จริงทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกันขึ้น ขุนนางในมณฑลกวางตุ้งกลัวว่าปัญหาที่นี้จะบานปลาย จึงรีบส่งพ่อค้าที่ติดต่อค้าขายกับต่างชาติไปช่วยคลี่คลายปัญหาแทน ฝ่ายอังกฤษเองก็ยอมถอยก่อน โดยอธิบายสาเหตุของการส่งทหารไปป้องกันย่านพ่อค้าต่างชาติว่า หากทางการจีนรับประกันความปลอดภัยในย่านพ่อค้าเขาก็จะถอนทหารเรือและปืนใหญ่ออกไปเอง

หลี่หงปินตกลงรับปาก เรือรบอังกฤษก็ถอยทัพไป แต่มาดามเบนส์ไม่ได้กลับไปทันที

มาดามอ้างว่าต้องอยู่ดูแลสามีซึ่งไม่สบาย หลี่หงปินทูลรายงานแด่จักรพรรดิเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มาดามเบนส์อยู่ต่ออีกระยะ มาดามเบนส์ได้อยู่ต่อเรื่อยมาอีก 50 กว่าวัน จึงกลับไปอยู่มาเก๊า

แม้เหตุการณ์นี้จะยุติลงชั่วคราว แต่ เสี่ยอู่ (เซี่ยจื้ออัน) ซึ่งเคยจัดหาเกี้ยวขุนนางให้มิสเตอร์เบนส์ และภรรยา ถูกปลดจากตําแหน่ง และถูกเนรเทศไปซินเจียง รัฐบาลราชวงศ์ชิงเพิ่มความระแวดระวัง โดยการประกาศกฎต่างๆ เกี่ยวกับ “แหม่มฝรั่ง” อีกครั้ง ในช่วงสิบปีหลังจากนั้นก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ผู้หญิงชาวตะวันตกเข้าเมืองกวางเจาอีกเลย

หลังสงครามฝิ่น มีการบันทึกข้อกําหนดลงในสนธิสัญญานานกิงอย่างชัดเจนว่าชาวอังกฤษสามารถ “พาครอบครัว” เข้ามาพักอาศัยอยู่ที่เมืองท่าการค้าได้ จากนั้นมาก็จะเห็น “แหม่มฝรั่ง” เดินไปมาบนท้องถนนของจีน และเกิดการแลกเปลี่ยน ระหว่างผู้หญิงจีนกับผู้หญิงตะวันตก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เส้าหย่ง, หวังไห่เผิง (เขียน) กำพล ปิยะศิริกุล (แปล). หลังสิ้นบัลลังก์มังกร, สำนักพิมพ์มติชน 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2563