ผู้เขียน | สิทธิโชค ชาวไร่เงิน อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกสัปดาห์วิทยาศาสตร์ นักเรียนมัธยมทั่วประเทศที่ใฝ่ฝันจะเป็นแพทย์ ล้วนมุ่งไปยังคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมีกิจกรรมหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของการไปทัศนศึกษาครั้งนั้น คือ การดู “อาจารย์ใหญ่” หรือศพที่ได้รับการบริจาคมาเพื่อให้นักศึกษาแพทย์และคณะอื่นใช้ศึกษาการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายของมนุษย์ ที่เรียกกันว่า “กายวิภาค” (anatomy)
ความรู้ด้านกายวิภาคถือเป็นหัวใจสำคัญของการแพทย์สมัยใหม่ (biomedicine) องค์ความรู้และเทคโนโลยีการแพทย์ปัจจุบันล้วนอาศัยความเข้าใจการทำงานของร่ายกายมนุษย์ทุกระดับนับตั้งแต่ผิวหนังไปจนถึงยีน ซึ่งสิ่งที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกายวิภาคก็คือ “การผ่าศพ” แต่การจะนำร่างกายมนุษย์ที่เสียชีวิตแล้วมาผ่าเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางการแพทย์นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับกันได้ทันทีในระดับสังคม เช่นเดียวกับในประเทศอังกฤษ
ในศตวรรษที่ 19 ขณะที่การผ่าตัดศพมนุษย์เพื่อศึกษานั้นเป็นสิ่งที่ทำกันได้ในสังคมอื่นของภาคพื้นยุโรป อังกฤษยังคงจำกัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่ ตามกฎหมาย “พระราชบัญญัติอาชญากรรม 1752” (Murder Act 1752) กำหนดให้ศพที่ใช้ในการเรียนการสอนแพทย์นั้นต้องเป็นศพอาชญากรที่ถูกประหารชีวิตแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการศพเพื่อมาศึกษาก็มีมากเกินกว่าที่จะใช้แค่ศพอาชญากรเพียงอย่างเดียว
ความต้องการนี้นำไปสู่การเกิดธุรกิจค้าศพอย่างผิดกฎหมาย พ่อค้าจะไปแอบขุดศพจากป่าช้าขึ้นมาในตอนกลางคืนเพื่อไปขายให้ผู้ที่ต้องการศึกษากายวิภาคของมนุษย์ คดีหนึ่งที่ดังมากในช่วงเวลาดังกล่าวคือ “ฆาตกรรมท่าเรือตะวันตก” (West Port Murder) เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นฆาตกรรมต่อเนื่อง 16 ศพ ในปี 1828 โดยฆาตกรสองคน คือ วิลเลียม เบิร์ก (William Burke) และ วิลเลียม แฮร์ (William Hare) เพื่อนำศพเหยื่อไปขายให้กับแพทย์ชาวสกอตชื่อ โรเบิร์ต นอกซ์ (Robert Knox) ใช้ผ่าศึกษา
เพื่อทำให้การผ่าศพเพื่อศึกษามีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากสังคม และลดอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากธุรกิจค้าศพจึงเกิดการเสนอร่างกฎหมายพระราชบัญญัติกายวิภาคขึ้นมาในปี 1828 โดยศัลยแพทย์กลุ่มหนึ่ง
ธรรมเนียม “เซ็กส์ในงานศพ” มีอยู่จริง ทำไมปรากฏกิจกรรมนี้ในบางวัฒนธรรม?
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนัก ทั้งจากราชสมาคมศัลยแพทย์ (Royal College of Surgeons) ซึ่งมีกษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์ หัวหน้าคณะบาทหลวงแห่งแคนเทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) ซึ่งถือเป็นผู้นำสูงสุดของคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England) รวมถึงสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่ง เช่น วิลเลียม คอบเบ็ท (William Cobbett) ที่กล่าวว่า การอ้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จากการผ่าศพนั้น เป็นความก้าวหน้าเฉพาะคนรวยเท่านั้น แต่ไม่เกิดประโยชน์ใดกับคนจนเลย หากต้องการจะทำแล้ว ให้ผู้ที่ต้องการผ่านกฎหมาย ไปหาศพคนรวยมาผ่าแทน
แต่ในท้ายที่สุด ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ถูกนับกลับมาพิจารณาอีกครั้งในปี 1832 แล้วก็ผ่านการพิจารณาจากสภาสูงออกเป็นกฎหมายในท้ายที่สุด ภายใต้ชื่อ “พระราชบัญญัติกายวิภาค 1832 (Anatomy Act 1832)” มีใจความสำคัญคือ ให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และผู้อื่นซึ่งมีใบอนุญาตจากรัฐบาล สามารถผ่าตัด “ศพบริจาค” เพื่อการศึกษาได้อย่างถูกกฎหมาย
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 21 พฤษภาคม 2563