ปัญหาสำคัญเมื่อแรกมี “โรงพยาบาลสมัยใหม่” ในสยาม

โรงพยาบาลคนเสียจริต (ภาพจากเพจ หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ)

เมื่อวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากตะวันตกได้รับการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับของแพทย์ในราชสำนัก ไทยจึงเริ่มสร้างโรงพยาบาลสมัยใหม่ หรือโรงพยาบาลแผนปัจจุบันขึ้นสำหรับให้บริการประชาชาน หากโรงพยาบาลสมัยใหม่ในระยแรกเริ่มนั้นต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ 2 อย่างคือ เงินทุนในการก่อสร้าง และความเชื่อถือในการใช้บริการ

ทางออกเรื่องเงินทุนในการก่อสร้างนั้นคือ การใช้ “อาคารเก่า” ที่มีการบริจาค หรือเป็นทรัพย์สินของทางการ ก่อสร้างโรงพยาบาล ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการก่อสร้างโรงพยาบาลของไทยในยุคแรกจำนวนไม่น้อยใช้วิธีนี้ ตัวอย่างเช่น

โรงพยาบาลศิริราช (พ.ศ. 2431) รัชกาลที่ได้ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ ไปสร้างโรงพยาบาลศิริราชอีกด้วย นอกจากนี้ยังพระราชทาน เรือนไม้หลังใหญ่ของพระไชยบูรณ์ (อิ่ม) ที่ตกเป็นของหลวง ให้นำสร้าง “เป็นที่ว่าการกับที่ผสมยาหลังหนึ่งและเรือนผู้ดูการโรงพยาบาล กับโรงครัวโรงแถวที่อยู่ของคนรับใช้ที่ริมน้ำหมู่หนึ่ง”

โรงพยาบาลเสียจริต (พ.ศ. 2432) หรือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน อาคารของโรงพยาบาลปรับปรุงจากเก๋งจีนของพระยาภักดีภัทรากร (บ้างเรียกเจ้าสัวโกงซัว, เกงซัว หรือเกงซัก) ซึ่งประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น 3 หลัง และอาคารเล็กๆ ชั้นเดียวโดยรอบ ที่ดัดแปลงเป็นที่รับแขก และหอผู้ป่วย

โรงพยาบาลหญิงหาเงิน (พ.ศ. 2440) ที่สร้างขึ้นสำหรับรักษาหญิงโสเภณี (โรงพยาบาลกลาง ปัจจุบัน) พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ผู้บัญชาการกรมสุขาภิบาล สั่งให้รื้อบ้านของ มิสเตอร์ยอน แมกกลิน บริเวณถนนสีลม ที่ตกเป็นสมบัติของรัฐบาล มาดัดแปลงอาคารส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล

โรงพยาบาลบูรพา (พ.ศ. 2432) หรือโรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย (ต่อมาปิดตัวลง) ดัดแปลงจาก บ้านนายอากรตา

แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ยังมีปัญหาว่าชาวบ้านไม่ยอมรักษาในโรงพยาบาลสมัยใหม่ เพราะ “ไม่มั่นใจ”

โรงพยาบาลศิริราชเมื่อสร้างเสร็จแล้ว คณะกรรมการเห็นว่า นอกจากความเรียบร้อยต่างๆ และควรมีผู้ป่วยมารักษาตัวในโรงพยาบาล จึงค่อยทูลเชิญพระบาทเสมด็จพระจุลจอมเกล้าเข้าอยู่หัวมาเปิดโรงพยาบาล แต่กลับไม่มีผู้ป่วยมารักษาตัว โรงพยาบาลต้องประกาศให้รักษา “ฟรี” ไม่เสียค่าหมอ, ค่ายา ถ้าต้องเป็นผู้ป่วยในก็ไม่คิดค่าที่พักและค่าอาหารเช่นกัน

ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีผู้ป่วยไว้ใจมารับการรักษา ผู้ป่วยที่มามักเป็นผู้ที่มีอาการหนักมาก มาถึงโรงพยาบาลก็มักเสียชีวิต ยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้ามารักษาในโรงพยาบาลสมัยใหม่

คณะกรรมการของโรงพยาบาลจึงหารือว่า ควรรับผู้ป่วยที่พอจะรักษาหายมารักษาในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความมั่นใจกับสังคม และมีผู้แนะนำให้ชักชวนคนป่วยที่มีแผลเรื้อรังบริเวณหน้าแข้ง ที่นั่งขอทานอยู่แถวสะพานหัน และบริเวณถนนสำเพ็งมารักษา นายแพทย์ปีเตอร์ กาแวน ที่เป็นหมอใหญ่และหนึ่งในคณะกรรมการจัดตั้งโรงพบาบาล เห็นด้วยและรีบดำเนินการ

แต่กลับถูกปฏิเสธจากผู้ป่วยแผลเรื้อรังเหล่านั้น และโกรธว่าจะทำให้หมดทางทำกินขอทานไม่ได้อีก

สุดท้ายคณะกรรมการโรงพยาบาลต้องกลับไปชักชวน บ่าวไพร่ในบ้านที่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ มารักษา ขอยาที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนทั่วไป จนเกิดความน่าเชื่อถือขึ้น ปริมาณผู้ป่วยที่มารักษาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมาก


ข้อมูลจาก

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย, หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, เมษายน 2561

https://www.si.mahidol.ac.th สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2563


เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 9 เมษายน 2563