Work from home ราชการไทยใช้มาตั้งนาน เพิ่งเลิกไปสมัยรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

การระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เช่น การทำงานที่บ้าน WFH (Work from home) เพื่อลดความแออัดของพนักงานในสำนักงาน นัยว่าเป็นการลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคด้วย

แต่ว่า WFH นี้เป็น new normal จริงหรือ!!!

ลองอ่าน “สภาพเมื่อแรกสถาปนากระทรวงมหาดไทย” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บางช่วงบางตอนก่อน (จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นโดยผู้เขียน)

“…ด้วยกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมเป็นศาลอุทธรณ์ ความหัวเมืองซึ่งอยู่ในบังคับบัญชา มีขุนศาลตุลาการตลอดจนเรือนจำ สำหรับการแผนกนั้นต่างหาก จึงต้องตั้งศาลที่บ้านเสนาบดี และหาที่ตั้งเรือนจำแห่งใดแห่งหนึ่ง

เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เรือนจำของกระทรวงนั้นตั้งอยู่ริมกำแพงหน้าพระราชวัง ตรงหลังหอรัษฎากรพิพัฒน์ออกไป แต่จะตั้งที่ตรงนั้นมาแต่เมื่อใดหาทราบไม่ ถึงกระทรวงอื่นๆ แต่ก่อนก็มีหน้าที่ทางตุลาการต้องชำระคดีอันเนื่องต่อกระทรวงนั้นๆ แต่ตั้งทั้งศาลและสำนักงานกระทรวงที่บ้านเสนาบดีด้วยกัน

เพราะฉะนั้นแต่ก่อนมา เสนาบดีจึงบัญชาการกระทรวงที่บ้าน แม้มีสำนักงานอยู่ที่อื่น เช่น กระทรวงมหาดไทยและกลาโหม ก็ไม่ไปนั่งบัญชาการที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ในกระทรวงต้องไปเสนอราชการแลรับคำสั่งเสนาบดีที่บ้านเป็นนิจ แต่ตามประเพณีเดิมข้าราชการกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่เสนาบดีลงมา ได้รับแต่เบี้ยหวัดประจำปีกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการที่ทำเป็นผลประโยชน์ในตำแหน่ง หาได้รับเงินเดือนไม่

อนึ่ง แต่ก่อนมาการพระคลังกับการที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ (อันเรียกว่า กรมท่า) รวมอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีจตุสดมภ์ เป็นหัวหน้า ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2418 โปรดให้แยกการพระคลังจากกรมท่ามา จัดเหมือนเป็นกระทรวงหนึ่งต่างหาก ตั้งสำนักงาน ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ จัดระเบียบในสำนักงานตามแบบออฟฟิศอย่างฝรั่งขึ้นเป็นกระทรวงแรก คือให้บรรดาผู้มีตำแหน่งในหอรัษฎากรพิพัฒน์รับเงินเดือนแทนค่าธรรมเนียมอย่างแต่ก่อน และต้องมาทำงาน ณ สำนักงานตามเวลาเสมอทุกวันทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย

ยกเว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระยาบำราบปรปักษ์ เวลานั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ ซึ่งเป็นอธิบดีพระองค์เดียวเห็นจะเป็นเพราะทรงพระราชดําริว่า ท่านทรงบัญชาการอยู่ทั้งกระทรวงวังและกระทรวงพระคลัง โปรดอนุญาตให้ทรงบัญชาการที่วังอย่างแต่ก่อน

เพราะฉะนั้นระเบียบสำนักงานที่ใช้ในหอรัษฎาฯ จึงยังเป็นอย่างเก่าเจืออยู่บ้าง จนถึง พ.ศ. 2428 ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น เป็นเสนาบดีกรมท่า ท่านกราบทูลขอให้มีสำนักงานกระทรวง อย่าให้ต้องว่าราชการที่วัง จึงขอพระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นสำนักงานกระทรวง ให้เรียกว่า กระทรวงว่าการต่างประเทศ

แต่นั้นมา สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ เป็นเสนาบดีแรกที่มาประจำทำงาน ณ สำนักงานทุกวันเหมือนกับผู้น้อย ทั้งเป็นเสนาบดีแรกที่ได้รับแต่เงินเดือนเหมือนกับคนอื่นอันมีหน้าที่ในสำนักงานกระทรวง

ต่อนั้นมาอีกสักกี่ปีข้าพเจ้าจำไม่ได้ และไม่มีอะไรจะสอบ เมื่อเขียนนิทานนี้ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้จัดกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็นแบบใหม่ เหมือนเช่นได้จัดกระทรวงพระคลังกับกระทรวงต่างประเทศมาแล้ว จึงโปรดให้รื้อศาลาลูกขุนในทั้ง 2 หลังลง สร้างใหม่ทำเป็นตึก 3 หลังเรียงกัน มีมุขกระสันทั้งข้างหน้าข้างหลังเชื่อมตึก 3 หลังนั้นให้เป็นหมู่เดียวกันดังปรากฏอยู่บัดนี้

…เมื่อสร้างตึกสำเร็จแล้ว กระทรวงมหาดไทยก็ขึ้นอยู่ติดกับมุขกระสันทางฝ่ายซ้ายเป็นสำนักงาน กระทรวงกลาโหมก็ขึ้นอยู่ทางฝ่ายขวาเป็นสำนักงานเช่นเดียวกัน…

เมื่อกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมขึ้นอยู่ศาลาลูกขุนใหม่แล้ว ข้าราชการที่มีตำแหน่งประจำทำงานในศาลาลูกขุนทั้ง 2 กระทรวง ได้รับเงินเดือนเหมือนอย่างกระทรวงพระคลังและกระทรวงต่างประเทศ”

ไม่เพียงแต่ข้าราชการส่วนกลางที่ WFH ข้าราชการในภูมิภาคก็ WFH เช่นกัน

“ตามหัวเมืองในสมัยนั้น ประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่ไม่มีศาลารัฐบาลตั้งประจำสำหรับว่าราชการบ้านเมืองเหมือนอย่างทุกวันนี้ เจ้าเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการบ้านเมืองที่บ้านของตน เหมือนอย่างเสนาบดีเจ้ากระทรวงในราชธานีว่าราชการที่บ้านตามประเพณีเดิม

บ้านเจ้าเมืองผิดกับบ้านของคนอื่นเพียงที่เรียกกันว่า “จวน” เพราะมีศาลาโถงปลุกไว้นอกรั้วข้างหน้าบ้านหลังหนึ่งเรียกว่า “ศาลากลาง” เป็นที่สำหรับประชุมกรมการเวลามีการงาน เช่นรับท้องตราหรือปรึกษาราชการเป็นต้น เวลาไม่มีการงานก็ใช้ศาลากลางเป็นศาลชำระความ เห็นได้ว่าศาลากลางก็เป็นเค้าเดียวกับศาลาลูกขุนในราชธานีนั้นเอง เรือนจำสำหรับขังนักโทษก็อยู่ในบริเวณจวนอีกอย่างหนึ่ง แต่คงเป็นเพราะคุมขังได้มั่นคงกว่าที่อื่น ไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับจวนเหมือนกับศาลากลาง

มีเรื่องปรากฏมาแต่ก่อนว่า ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเมืองเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2409 ทอดพระเนตรเห็นศาลากลางตามหัวเมืองซอมซ่อ จนทรงสังเวชพระราชหฤทัย ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ซ่อมแซม เมืองละ 10 ชั่ง (800 บาท) เมืองไหนทำสำเร็จแล้วพระราชทานป้ายจำหลักปิดทองประดับกระจก ทำเป็นรูปเงินเหรียญรัชกาลที่ 4 ลายเป็นรูปพระมหามงกุฎแผ่น 1…

แต่มาภายหลังมาศาลากลางก็กลับทรุดโทรมน่าทุเรศอย่างเก่า หามีแห่งใดที่เป็นสง่าผ่าเผยไม่ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเจ้าเมืองต้องสร้างจวนและศาลากลางด้วยทุนของตนเอง แม้แต่แผ่นดินซึ่งจะสร้างจวน ถ้ามิได้อยู่ในภายในเมืองมีปราการ เช่นเมืองพิษณุโลกเป็นต้น เจ้าเมืองก็ต้องหาซื้อที่ดินเหมือนกับคนทั้งหลาย จวนและศาลากลางจึงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าเมือง

เมื่อสิ้นเจ้าเมืองก็เป็นมรดกตกแก่ลูกหลาน ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้…”

เช่นนี้แล้ว WFH จะจัดเป็น new normal หรือ old fashion ดี?


ข้อมูลจาก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.“สภาพเมื่อแรกสถาปนา กระทรวงมหาดไทย” ใน,อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยารามราชภักดี (ม.ล. สวัสดิ์ อิศรางกูร) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 พฤษภาคม 2519


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563