ผู้เขียน | รศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงพาเที่ยวออนไลน์ เบื่อโควิด ตอน ชายฝั่งทะเลโบราณอ่าวไทยซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ระดับน้ำทะเลของอ่าวไทยเคยสูงขึ้นไปถึงแถบ จ.พระนครศรีอยุธยา มีแนวฝั่งจากเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เมืองนครปฐม พาดผ่านทางตะวันออกของราชบุรีลงมาจนถึงเพชรบุรีเมื่อต้นสมัยโฮโลซีน (Holocene) ราว 10,000 ปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีมนุษย์คนใดลงมาตั้งถิ่นฐาน
ครั้นพอถึงราว 7,000-3,000 ปีมาแล้วน้ำทะเลลดระดับลงมาเรื่อยๆ จนมีชายฝั่งซึ่งปกคลุมด้วยป่าชายเลนและสังคมพืชน้ำกร่อยแถบๆกรุงเทพฯในปัจจุบัน ทิ้งแนวสันทรายที่เคยเป็นชายฝั่งเดิมไว้ตามจุดต่างๆ โคกเนินเหล่านี้ได้กลายมาเป็นถิ่นฐานชุมชนของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงปลายจนถึงการตั้งเป็นเมืองในสมัยทวารวดีราว 1,000 ปีมาแล้ว นั่นหมายความว่าเมื่อผู้คนลงมาตั้งถิ่นฐานกันในแถบนี้ สภาพภูมิประเทศมิได้เป็นชายฝั่งทะเลอีกแล้ว
นับตั้งแต่เมืองนครปฐมลงมา มีสันทราย-เนินดินชุมชนเช่นนี้เป็นระยะ เช่น เนินพระ-ดอนยายหอม ใน จ.นครปฐม แหล่งโบราณคดีโคกพลับและอีกหลายแห่งในทุ่งโพหัก จ.ราชบุรี (แม้บ้านโพหักเองก็น่าจะเป็นสันทรายเก่าที่คนรุ่นหลังเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์)
แหล่งโบราณคดีหนองสองห้อง จ.สมุทรสาครที่เคยเป็นเนินหอย (Shell mound) มาก่อนเพราะพบซากหอยแครงขนาดใหญ่ปะปนกับโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในภายหลังกลายเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไททรงดำหรือชาวโซ่งขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในสมุทรสาคร
จากนั้นผ่านลงมาถึงแหล่งโบราณคดีโคกพริก บ้านดอน เมืองคูบัว บ่อตะคร้อ บ้านป่าไก่ บ้านโคกพระ ปากท่อ ซึ่งอยู่บนแนวสันทรายชายทะเลเดิม (เรียกกันว่าถนนท้าวอู่ทอง) ระหว่างนี้มีแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีเรียงรายกัน เช่น บ้านหนองปรง เขาย้อย บ้านหนองปลาไหล ต่อเนื่องกันลงไปจนถึงเมืองเพชรบุรี
หลักฐานยืนยันถึงชายฝั่งหรือเส้นทางออกทะเลคือแหล่งเรือจมสมัยทวารวดีที่พบตามที่ลุ่มใกล้ปากอ่าวเช่นเรือจมบ้านขอม เรือจมพนมสุรินทร์ในสมุทรสาคร เรือเหล่านี้อาจติดสันดอนปากน้ำโบราณจนอับปางลง แสดงว่าปากอ่าวหรือสันดอนทะเลตื้นในสมัยทวารวดีราว 1,000 ปีมาแล้วอยู่บริเวณไม่ไกลจากทะเลปัจจุบันมากนักและมีทางน้ำเป็นชะวากลึกเข้าไปจนถึงเมืองโบราณที่ติดต่อมายังทะเลได้สะดวก
ชุมชนโบราณที่กล่าวมาข้างต้น จึงน่าจะใช้สันทรายและเนินดินที่เป็นแนวชายฝั่งในสมัยต้นโฮโลซีนเป็นที่ตั้งเมืองโดยมีแนวที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงซึ่งพัฒนามาจากทะเลโบราณเป็นชายขอบร่วมกัน และเมื่อลงจุดในแผนที่ก็จะเห็นแนวขอบชายฝั่งเก่า (ที่กลายเป็นสันเนินยาว) ค่อนข้างเป็นเส้นชัดเจน และจากการสำรวจทางธรณีวิทยาได้พบว่าพื้นที่นอกชายฝั่งโบราณนี้ออกมาในอ่าวไทยโบราณนั้นมีสัณฐานดินเป็น “ดินเหนียวกรุงเทพฯ” (Bangkok marine clay) ที่เกิดจากการตกตะกอนในท้องทะเลร่วมกันทั้งหมด
ชายทะเล-ปากอ่าวในสมัยอยุธยาราว 500 ปีมาแล้วน่าจะเคลื่อนมาอยู่ใกล้ปัจจุบันมากที่สุด มีหลักฐานเช่น เมืองโบราณที่ใช้โคกเนินใกล้ปากแม่น้ำตั้งชุมชนเช่นบ้านท่าจีน-เมืองสาครบุรี ที่มีวัดใหญ่จอมปราสาทโบราณสถานสมัยอยุธยาตอนปลายตั้งอยู่
หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นพัฒนาการบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจนกลายมาเป็นรัฐสำคัญที่จะมีส่วนให้เกิดกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ ต่อมา
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2563