เส้นทาง แฟนนี่ น็อกซ์ เมียฝรั่งของพระปรีชากลการ พบเจ้านาย แก้ต่างให้สามีที่ถูกประหาร

แฟนนี่ น็อกซ์ เมียฝรั่ง พระปรีชากลการ
(ซ้าย) แฟนนี่ น็อกซ์ (ขวา) พระปรีชากลการ ฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ภาพถ่ายทางเครื่องบินเมื่อ พ.ศ. 2489 ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คดีความกรณี พระปรีชากลการ ถูกประหารชีวิตถูกตีแผ่กันมาหลายครั้ง ผ่านการศึกษาสืบค้นข้อมูลเงื่อนงำก็มากหลาย ไม่เพียงแค่ปมเบื้องหลังปริศนาของคดีนี้ เรื่องราวภายหลังการประหารชีวิตพระปรีชากลการโดย แฟนนี่ น็อกซ์ ภรรยาชาวต่างชาติซึ่งเป็นอีกหนึ่งปมที่ผสมปนเปในเรื่องนี้ก็ยังมีหลักฐานปรากฏให้สืบค้นด้วยเช่นกัน เธอไม่ได้เดินทางออกจากประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเดินเรื่องแก้ต่างให้สามีอยู่

พระปรีชากลการ

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระปรีชากลการ เป็นบุตรของพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เสนาบดีคนสําคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปรีชากลการได้รับการศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์จากสกอตแลนด์ เป็นข้าราชสํานักหนุ่มรุ่นใหม่ที่ทรงโปรดปรานมากคนหนึ่ง

สำหรับตระกูลอมาตยกุล ก็เป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไกรฤกษ์ นานา คอลัมนิสต์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม บรรยายไว้ว่า บรรพบุรุษของคนในตระกูลนี้รับราชการสนองพระคุณพระเจ้าแผ่นดินมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ต้นวงศ์ของตระกูลคือพระยาสมบัติยาธิบาล (บุญเกิด) รับราชการในแผ่นดินพระที่นั่งสุริยามรินทร์

ส่วน พระปรีชากลการ ย่อมเป็นผู้มีหัวคิดทันสมัย เป็นนักประดิษฐ์ คบค้าสมาคมกับชาวต่างชาติ เป็นข้าราชสํานักหนุ่มรุ่นใหม่ที่ทรงโปรดปรานมากคนหนึ่ง เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2412 ก็ได้เป็นเจ้ากรมกระษาปน์สิทธิการแทนบิดา ในสมัยนี้เอง พระปรีชากลการมีผลงาน เช่น ประดิษฐ์ซุ้มจุดด้วยไฟแก๊สถวายในงานเฉลิมพระชนมพรรษา และเป็นนายงานสร้างตึกแถวบนถนนบำรุงเมือง และยังเป็นที่ทรงโปรดปรานต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การที่พระปรีชากลการสานสัมพันธ์กับ แฟนนี่ น็อกซ์ ธิดาของนายน็อกซ์ (Thomas Georges Knox) กงสุลใหญ่อังกฤษ จนกลายเป็นความรักขึ้นมานั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ขั้วอำนาจทางการเมืองในเวลานั้นปั่นป่วน

ความรักท่ามกลางขั้วอำนาจทางการเมือง

มร. น็อกซ์ ประพฤติตัวอย่างเปิดเผยว่าฝักใฝ่และสนับสนุนวังหน้า ขณะที่ฝั่งวังหลวง อีกขั้วอำนาจหนึ่งในเวลานั้นมีเพียงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการรุ่นหนุ่มที่มีความรู้ความสามารถตลอดจนแนวคิดที่ทันสมัย ซึ่งทรงโปรดใช้สอยและมอบความไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติงานต่างๆ

หนึ่งในจํานวนนั้นมีพระปรีชากลการรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง ซึ่ง ไกรฤกษ์ นานา บรรยายว่า การกระทำของพระปรีชากลการทำให้ถูกมองว่า ไม่สำนึกบุญคุณของวังหลวงที่ได้ชุบเลี้ยงตนและบรรพบุรุษตลอดมา และยังเป็นเรื่องเสี่ยงที่อาจจะล่วงล้ำเข้าไประแคะระคายความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง มร. น็อกซ์ ซึ่งสนิทกับทั้งฝ่ายวังหน้า และกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้กุมอำนาจในมือและมีอิทธิพลแม้จะพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการไปแล้วก็ตาม

เรื่องความรักของพระปรีชากลการไม่ได้มีข้อมูลเพียงเท่านั้น บทความเรื่อง “ฟื้นปริศนาคดีประวัติศาสตร์ นางแฟนนี่ น็อกซ์ แก้ต่างความผิดให้พระปรีชากลการ” โดย ไกรฤกษ์ นานา ยังอธิบายว่า พระปรีชากลการยังมีความรักกับผู้หญิงคนอื่นๆ ภายหลังที่ได้สมรสกับแฟนนี่แล้ว และมีภรรยาเพิ่มขึ้นอีก 4 คน จนมีบุตรธิดากับบ้านเล็กๆ ที่คนวงนอกไม่ค่อยรู้ โดยเนื้อหาส่วนนี้อ้างอิงจากหนังสือ ประวัติบรรพบุรุษ และสกุลวงศ์ อมาตยกุล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาปฏิภาณพิเศษ (อาเล็กซานเดอร์ อมาตยกุล) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2507

กลับมาที่เรื่องใจความหลักกันต่อ หนุ่มสาวทั้งคู่หาได้สนใจคำเตือนจากผู้หวังดี เมื่อแต่งงานกันแล้ว ทั้งสองพากันไปอยู่ที่ปราจีนบุรี ซึ่งฝ่ายชายมีหน้าที่ควบคุมการขุดทองส่งเมืองหลวง กระทั่งวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2421 พระปรีชากลการที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองปราจีนบุรี ซึ่งเป็นฝ่ายวังหลวง ถูกจับกุมตัวด้วยข้อหาพัวพันกับการทุจริตในผลประโยชน์จากบ่อทองของรัฐบาลที่กบินทร์บุรี ที่เขาดูแลกิจการอยู่ โดยถูกตั้งข้อหาว่าเบิกเงินล่วงหน้าถึง 15,500 ชั่ง เพื่อผลผลิตทองเพียง 111 ชั่งเศษเท่านั้น ทั้งยังมีพยานหลักฐานจากอำแดงบัวและอำแดงแข ถวายฎีกาว่า พระปรีชากลการฉ้อฉลทองมาให้พระยากษาปน์กิจโกศลผู้บิดา

ภายหลังยังขยายผลอันเนื่องมาจากมีราษฎรร้องเรียนกล่าวโทษพระปรีชากลการเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ มีทั้งการแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง การกดขี่ทารุณทําร้ายราษฎรและอื่นๆ อีกถึง 27 เรื่อง ข้อหาที่พระปรีชาฯ ได้รับคือ

-ทารุณเลขหัวเมืองที่เกณฑ์ให้ตัดฟันตอในน้ำ ซึ่งกีดขวางทางเดินเรือบรรทุกทอง โดยใช้ง่ามถ่อค้ำคอคนที่ดําลงไปตัดตอจนขาดใจตาย และทําการทารุณกรรมแก่ราษฎรอย่างร้ายแรงหลายประการ

-แล่นเรือตัดหน้าฉานขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน

-แต่งงานกับคนต่างประเทศโดยไม่ขอพระบรมราชานุญาต

สำหรับเรื่องข้อกล่าวหาทุจริตติดสินบนนั้น ไกรฤกษ์ นานา อ้างอิงผู้สันทัดกรณี พร้อมสรุปการวิเคราะห์ไว้ว่า “เป็นคำกล่าวหาเพื่อปรักปรำและกลั่นแกล้งทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะในประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริตนั้น ถึงจะพบว่าพระปรีชากลการบกพร่องจริง โทษก็ไม่หนักถึงขั้นประหาร

ความบกพร่องดังกล่าวมักจะมีให้เห็นเนืองๆ ในการปฏิบัติราชการของข้าราชการทุกระดับชั้นในสมัยนั้น เพราะความหละหลวมของระบบ และช่องโหว่ในระเบียบปฏิบัติของทางการ เช่น รัฐบาลไม่ค่อยจะเข้มงวด หรือควบคุมการตรวจสอบการเบิกจ่าย และใช้จ่ายเงินของหน่วยงาน ไม่กวดขันผลประโยชน์ที่ข้าราชการจะต้องนำส่งให้รัฐ

ฉะนั้นถ้าได้มีการสอบสวนแล้วก็จะพบว่าโดยมากขาดประสิทธิภาพ และมีข้อบกพร่องอยู่เสมอ เมื่อผลประโยชน์ของแผ่นดินที่ผ่านมือมาที่ขุนนาง ขุนนางจะส่งให้หลวงเท่าใดก็ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ดังเช่นผลประโยชน์สุราก็เป็นของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (บุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ทั้งหมด แต่ท่านก็มิได้นำส่งพระคลังข้างที่เต็ม 2,000 ชั่ง ดังที่เคยตกเป็นของพระคลังข้างที่ แต่ผู้รับผิดชอบคือพระยาอาหารบริรักษ์ (นุช บุญหลง) กลับนำไปยกให้เป็นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ดังนั้นจะเห็นว่ากรณีอย่างใดจะเรียกว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าขุนนางคนใดถ้าถูกสอบสวน ก็มักจะพบความบกพร่องโดยไม่ยากนัก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการที่ขาดกฎเกณฑ์ที่รัดกุม เมื่อการสอบสวนพบว่าพระปรีชากลการทุจริต ก็น่าที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย แต่พระปรีชากลการกลับต้องเผชิญชะตากรรมแต่ผู้เดียว

นายนิวแมน เจ้าหน้าที่กงสุลอังกฤษเขียนรายงานฟ้องไปยังรัฐบาลอังกฤษเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2422 หลังจากพระปรีชากลการถูกประหารไปแล้วว่า พระปรีชาฯ มิได้รับการไต่สวนที่ยุติธรรม และโทษที่ได้รับก็รุนแรงเกินกว่าเหตุ” (บทวิเคราะห์เหตุการณ์ ในหนังสือ “ตัวจึงตายเพราะได้เมียฝรั่ง” โดย สืบแสง พรหมบุญ, 2524)

บานปลายเกือบเป็นวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คดีนี้ยิ่งบานปลายใหญ่โต เมื่อนายน็อกซ์ ผู้เป็นพ่อตา มีความประสงค์จะช่วยเหลือบุตรเขย พยายามเจรจากับสมเด็จเจ้าพระยาฯ และขอเข้าเฝ้ากราบทูลขอพระราชทานอภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เป็นผล เพราะคดีนี้มิใช่ความผิดธรรมดา แต่กลายเป็นเรื่องการประลองกำลังระหว่างขั้วอํานาจทั้งสอง โดยมีพระปรีชากลการที่แทบกลายเป็นเป้านิ่ง

นายน็อกซ์คิดหาทางออกขั้นสุดท้าย ซึ่งเขาเองคงคาดว่าจะได้ผล นั่นคือการขู่จะนําเรือปืนอังกฤษเข้ามาปิดปากอ่าวไทยตามอํานาจกงสุล การขู่เช่นนี้แทนที่จะได้ผลดีกลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องรีบแก้ไขเหตุการณ์โดยด่วน ด้วยการส่งคณะทูตพิเศษมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นหัวหน้า นําเรื่องราวความเป็นจริงไปชี้แจงให้รัฐบาลอังกฤษเข้าใจ

ในระหว่างที่เหตุการณ์เริ่มบานปลาย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กราบทูลแนะนำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เอาเรื่องการเมืองและการล่วงละเมิดอำนาจแผ่นดินเป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องทุจริตให้เป็นประเด็นรอง และยังกราบบังคมทูลให้ทรงใช้มาตรการเด็ดขาดโดยเร็ว

เมื่อถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2422 พระปรีชากลการถูกสำเร็จโทษโดยการตัดศีรษะในที่สาธารณะและครอบครัวถูกริบราชบาตร ส่วนแฟนนี่ก็หายออกนอกประเทศไปหลังจากนั้นไม่กี่วัน

ร่องรอยของแฟนนี่ น็อกซ์ และการเดินเรื่องแก้ต่างกับเจ้านาย

สำหรับเส้นทางของแฟนนี่ หลังจากนั้น ไกรฤกษ์ นานา เขียนอธิบายไว้ในบทความ “ฟื้นปริศนาคดีประวัติศาสตร์ นางแฟนนี่ น็อกซ์ แก้ต่างความผิดให้พระปรีชากลการ” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2551 ใจความส่วนหนึ่งว่า

“แฟนนี่เดินทางออกจากประเทศสยาม พร้อมด้วยบุตรชายที่เกิดจากพระปรีชากลการชื่อ Henry Spencer (มีชื่อไทยว่าจำรัส-ผู้เขียน) ซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะ นอกจากนั้นยังมีบุตรธิดาอีก 2 คนที่เกิดจากภรรยาคนแรกของพระปรีชากลการ ชื่อลม้าย เป็นเด็กหญิงชื่อตระกูล (ต่อมากลับเมืองไทย และสมรสกับพระยาภูบาลบันเทิง (ประยูร อมาตยกุล-ผู้เขียน) ส่วนเด็กชายชื่ออรุณ (ต่อมากลับเมืองไทย รับราชการจนได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิศาลสารเกษตร-ผู้เขียน) ถูกพาออกนอกประเทศไปด้วย[1]

แฟนนี่และเด็กๆ เดินทางถึงยุโรปก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2422 โดยขึ้นบกที่ฝรั่งเศส ที่นั้นเธอพาเด็กๆ ไปพักชั่วคราวที่เมือง Biaritz ซึ่งเป็นเมืองสงบริมทะเล อากาศไม่หนาวเหน็บดังเช่นในอังกฤษซึ่งกำลังเป็นฤดูหนาว มร. น็อกซ์เดินทางจากอังกฤษ ข้ามมาเยี่ยมเธอที่นั่น

ระหว่างที่พักอยู่ในฝรั่งเศส เธอได้ขอเข้าพบอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส คือ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เพื่อขอความช่วยเหลือ และให้ข้อมูลที่เธอไม่อาจเปิดเผยในกรุงเทพฯ ได้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์บันทึกคำให้การของแฟนนี่ ซึ่งจะมีผลต่อรูปคดีดังนี้

แฟนนี่ปรารถนาที่จะสารภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามี อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเคลียร์ตัวเองและชี้เบาะแสที่มาของเงินทุจริตที่หุ้นส่วนของพระปรีชากลการยักยอกไป เพื่อรายงานต่อรัฐบาลสยาม

สิ่งที่ต้องการตอบแทนเป็นเพียงขอคืนทรัพย์สินส่วนตัวที่ถูกยึดไป เพื่อจะได้นำเงินนั้นมาเป็นทุนการศึกษาของลูกๆ ในอุปการะของเธอ ซึ่งถือสัญชาติไทยโดยกำเนิด คำให้การของแฟนนี่โยงใยไปถึงตัวบุคคลที่พัวพันอยู่เบื้องหลังข้อกล่าวหากรณีทุจริต ซึ่งเป็นความผิดกระทงแรกที่สามีถูกตั้งข้อหา และทางการยังไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด[2]

แฟนนี่เปิดเผยโฉมหน้าขบวนการที่ปิดบังตัวเองอยู่ภายหลังการประหารชีวิตพระปรีชากลการ โดยยืนยันว่าก่อนที่เรื่องจะแดงขึ้น พระปรีชากลการได้ลงทุนไว้เป็นเงิน $38,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) กับบริษัท MSSRS. MALHERBE, JULLIEN & Co., ในกรุงเทพฯ เพื่อนำเงินมาเป็นทุนเปิดกิจการโรงสีข้าว แฟนนี่อ้างว่าระยะแรกพระปรีชากลการจะได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอเป็นเงินครั้งละ 500 ปอนด์ (อังกฤษ) แต่ต่อมาบริษัทก็ได้หยุดส่ง แฟนนี่ร้องต่อไปว่า

กลางเดือนมีนาคม 2422 ดิฉันได้สมรสกับพระปรีชากลการ พอถึงวันที่ 26 มีนาคม ศกนั้น พระปรีชากลการก็ถูกเรียกตัวเข้าวัง ทันทีที่ไปถึงก็ถูกจับกุมโดยมิได้เข้าเฝ้า ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันพระปรีชากลการได้มอบกุญแจหีบสมบัติทุกดอกให้ดิฉันเป็นผู้ดูแล โดยมี มร. กูลด์ (Mr. Gould) ตำแหน่งรองกงสุลอังกฤษ [และเป็นทนายส่วนตัวของแฟนนี่-ผู้เขียน] เป็นสักขีพยาน

หม่อมยี่สุ่นเป็นผู้นำกุญแจหีบทุกดอกมาจากน้องสาวคนเดียวของพระปรีชากลการ [ตามประวัติบรรพบุรุษ น้องสาวคือคุณหญิงทรามสงวน เป็นภรรยาของพระยาอภัยรณฤทธิ์-ผู้เขียน] ทรัพย์สินของครอบครัวซึ่งดิฉันครอบครองอยู่ [ก่อนถูกริบราชบาตร] ขณะที่สามีถูกควบคุมตัวมีดังนี้ : –

(1) ใบสำคัญผู้ถือหุ้น จำนวน 1 หุ้น ในชื่อพระปรีชากลการ จากโรงสีข้าว MALHERBE, JULLIEN & CO., มีค่าเท่ากับ 100 ชั่ง

(2) สัญญาเงินกู้ของพระปรีชากลการ เป็นจำนวนเงิน $24,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งโรงสีข้าว MALHERBE, JULLIEN & CO., ขอกู้ไป

(3) สัญญาเงินกู้ของพระปรีชากลการ เป็นจำนวนเงิน $14,400 (ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งโรงสีข้าว PATRIEW COMPANY MILL ขอกู้ไป

(4) ใบสำคัญผู้ถือหุ้น จำนวน 1 หุ้น อีกใบหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 150 ชั่ง ในนามพระปรีชากลการ

(5) ใบเสร็จรับเงิน ลงนามโดยนายสิน ผู้จัดการโรงสี PATRIEW COMPANY MILL จำนวนเงิน 6,286 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ซึ่งพระปรีชากลการให้กู้ยืมไป

(6) ใบเสร็จรับเงิน จากนายสิน ผู้จัดการโรงสี PATRIEW COMPANY MILL จำนวนเงิน 8,000 บาท ซึ่งพระปรีชากลการสั่งซื้อข้าว

(7) ใบเสร็จรับเงินจากจีนโต จำนวนเงิน 50 ชั่ง ซึ่งพระปรีชากลการให้จีนโตหยิบยืมไป

(8) กล่องเอกสารจำนวนมาก รวมทั้งโฉนดที่ดินของพระปรีชากลการ[2]

ระหว่างที่สามีถูกจองจำนั้น ดิฉันได้แสดงความยินยอมที่จะมอบกุญแจหีบสมบัติต่างๆ ให้แก่ท่านพระยากระสาปน์กิจโกศล, พระนายศรี และหลวงพินิจ [ทนายประจำครอบครัว-ผู้เขียน] แต่ท่านบิดาปฏิเสธที่จะรับมันไว้ มร. กูลด์เป็นพยานได้ ในเรื่องนี้

ตกคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2422 มีทหารกลุ่มหนึ่งมาที่บ้านของดิฉัน และอายัดทรัพย์สินต่างๆ ไว้ เมื่อดิฉันตัดสินใจที่จะออกจากสยามนั้น Mr. Sigg จากโรงสี MALHERBE, JULLIEN & CO., เขียนจดหมายอนุญาตให้ Mr. Read มอบเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง ซึ่งเขายินดีจะทดแทนให้ อันเป็นดอกเบี้ยจากเงินที่เคยกู้ยืมไปจำนวน $24,000 (ดอลลาร์) ซึ่งค้างจ่ายดอกเบี้ยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2420

แต่แทนที่จะส่งคืนเงินที่กู้ไปทั้งหมด โรงสี MALHERBE, JULLIEN & CO., กลับขายทอดตลาดหุ้นของพระปรีชากลการ โดย Mr. Sigg เป็นผู้ซื้อไว้เอง ทั้งยังไม่แยแสกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีก่อนหน้านั้น ดอกเบี้ยที่ Mr. Sigg สั่งให้ Mr. Read มอบให้ดิฉันเป็นเงินเพียง 500 ปอนด์ (อังกฤษ) เท่านั้น ดิฉันไม่มีทางรู้เลยว่าเขาได้ซื้อหุ้นของพระปรีชากลการไปด้วยเงินเท่าใด

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2423 Mr. Sigg ยังได้ขอให้ดิฉันคืนเอกสารการกู้ยืมทั้งหมดที่ทำไว้กับพระปรีชากลการ เมื่อดิฉันส่งใบเสร็จของเงิน $14,000 (ดอลลาร์) ให้ Mr. Sigg กลับนำเอกสารนั้นแสดงความเป็นเจ้าหนี้กับโรงสี PATRIEW COMPANY MILL ต่อไปโดยได้ทิ้งใบรับไว้ให้ดิฉันแทน

พอถึงเดือนมิถุนายน 2424 Mr. Sigg ยื่นข้อเรียกร้องใหม่ผ่านทาง มร. กูลด์ ทนายของดิฉัน ให้ดิฉันคืนเงิน $14,400 (ดอลลาร์) ให้กับเขา เพื่อแลกเปลี่ยนกับสัญญาเงินกู้ครั้งแรก $24,000 ที่ Mr. Sigg กู้จากพระปรีชากลการไป มร. กูลด์ตกลงทำตามเพราะเห็นว่าจำนวนที่จะแลกคืนมีจำนวนมากกว่า ซึ่งสัญญาฉบับดังกล่าว ขณะนี้อยู่กับดิฉัน และดิฉันยินดีที่จะมอบคืนให้กับรัฐบาลสยามอันเป็นหลักฐานทรัพย์สินของพระปรีชากลการตามกฎหมาย

ดิฉันไม่มีทางล่วงรู้เลยว่าสัญญาต่างๆ ถูกเปลี่ยนมือไปด้วยชั้นเชิงทางธุรกิจที่ดิฉันไม่ค่อยเข้าใจนัก นอกเหนือไปกว่านี้ก็มีแต่กล่องเอกสารและโฉนดที่ดิน ซึ่งดิฉันฝากไว้ที่กรุงเทพฯ กับแคโรไลน์น้องสาวของดิฉัน

ในปี พ.ศ. 2423 รัฐบาลสยามมีหมายเรียกให้โรงสี MALHERBE, JULLIEN & CO., แสดงตนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กู้ยืมไปจากพระปรีชากลการ แต่โรงสีดังกล่าวกับปฏิเสธที่จะยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แล้วยังแสดงตนว่าเป็นเจ้าหนี้ และเจ้าของข้าวสารจำนวนมากที่พระปรีชากลการสั่งซื้อไป ซึ่งดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลสยามพาซื่อชดใช้ให้โรงสีนี้ไปหมดแล้วอีกต่างหาก

ดิฉันยังล่วงรู้อีกว่ามีไม้พะยูงจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นของสามีดิฉัน แต่ตกอยู่ในครอบครองของโรงสี MALHERBE, JULLIEN & Co., เก็บอยู่ในโกดังของพวกเขา ดิฉันไม่มีโอกาสรู้ว่าพวกเขาจัดการกับไม้เหล่านี้อย่างไร

(ลงชื่อ) แฟนนี่ ปรีชากลการ

ปารีส 12 มิถุนายน 1884 (2427)[2]’

เมื่อพระปรีชากลการถูกสำเร็จโทษแล้ว แฟนนี่ก็ลี้ภัยออกนอกประเทศ Mr. Sigg ส่งข้อความตามออกมาว่ารัฐบาลสยามไม่พอใจกับการหนีหน้าแบบกะทันหันของเธอ

ทางการต้องการสอบสวนตัวเธอเช่นกัน Mr. Sigg เขียนจดหมายคุกคามแฟนนี่หลายครั้ง เป็นทำนองขู่เข็ญให้เธอ ปิดปาก เกี่ยวกับเบาะแสของทรัพย์สินต่างๆ ระหว่างพระปรีชากลการกับกิจการของ Mr. Sigg โดยเฉพาะเรื่องใบเสร็จ ขณะที่แฟนนี่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสนั้น Mr. Sigg ยังได้ตามออกมารังควาญถึงยุโรป ในปี พ.ศ. 2426 อีกด้วย

เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้รับคำร้องเรียนจากแฟนนี่ จึงได้เชิญตัวแทนของบริษัท MSSRS. MALHERBE, JULLIEN & Co., ซึ่งบังเอิญอยู่ในปารีสมาพบเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ทว่าบริษัทดังกล่าวกลับปฏิเสธความรับผิดชอบทุกอย่าง แล้วยัง ปรักปรำ Mr. Sigg ในพฤติกรรมที่พัวพันกับคดีนี้

ตัวแทนของบริษัทอ้างว่าเงินกู้จากพระปรีชากลการมีอายุสัญญา 10 ปี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกข้อผูกมัดก่อนเวลา พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงแนะนำว่าเนื่องจากทรัพย์สินเป็นของพระปรีชากลการ จึงเป็น ของกลาง ในคดีอาญา มันจึงควรถูกริบเข้าหลวงทั้งหมด ถ้ายังปิดบังซ่อนเร้นต่อไปก็จะทำผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดีไปด้วย

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือแฟนนี่แก้ข้อกล่าวหา โดยสนับสนุนให้เธอแจ้งเบาะแสทุกอย่างกับทางรัฐบาล ส่งคืนทรัพย์สินให้หลวงแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงให้ความเห็นว่าท่านเชื่อมั่นว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระประสงค์ร้ายต่อแฟนนี่ และเหตุการณ์ทั้งหมดก็เกิดขึ้นในช่วงที่ราชการแผ่นดินตกอยู่ในอำนาจของ ผู้สำเร็จราชการ แต่การดำเนินการใดๆ เท่ากับต้องรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่!

ความคืบหน้าของคดีเป็นอย่างไรไม่มีใครบอกได้ เพราะจากหลักฐานที่พบปะปนอยู่กับเอกสารจำนวนมากที่ใต้ถุนสถานทูตไทย ณ กรุงปารีสในรัชกาลต่อมา ไม่มีคำอธิบายหรือความก้าวหน้าของคดีให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงมีความเป็นไปได้ว่าก่อนที่คำอุทธรณ์จะถูกรับหรือการตัดสินใจของภาครัฐจะส่งกลับมายังปารีส พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้พ้นจากตำแหน่งอัครราชทูตสยาม และเดินทางกลับประเทศไปแล้ว[2]”

หลักฐานที่เอ่ยถึงข้างต้นนั้น สะท้อนได้ว่าถึงจำเลยจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาในการปฏิบัติหน้าที่จนดิ้นไม่หลุด ตามหลักฐานการสอบสวนว่าพระปรีชากลการได้เบิกเงินหลวงไปใช้ล่วงหน้าเพื่อดำเนินการผลิตทองคำ ณ บ่อทองของรัฐที่กบินทร์บุรี เพียงเพื่อผลผลิต 111 ชั่งเศษๆ เท่านั้นซึ่งไม่คุ้มทุนก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้เป็นผู้ต้องหาคนเดียวในคดีนี้

คำสารภาพของญาติผู้ใกล้ชิดจำเลยคือแฟนนี่ แก้ต่างว่าสามีของเธอตกเป็นเหยื่อของนักธุรกิจเจ้าเล่ห์ อันเป็นการหักหลังกันเองภายใน ซึ่งอาจเป็น อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ คดีฟอกเงิน ครั้งแรกๆ สำหรับรัตนโกสินทร์ และกลายเป็นเครื่องมือของ มือที่สาม ที่ใช้สาเหตุจากความล้มเหลวทางธุรกิจ ปรักปรำเอาผิดจำเลยเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แบบยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว

ข้อมูลที่ยังไม่ทราบมาก่อน จากคำให้การของแฟนนี่คือ นอกจากตัวบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของภาครัฐ และมีตัวตนอยู่ตามประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีเบาะแสอ้างอิงถึงชื่อ “ผู้ร่วมขบวนการ” คนอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์และไม่ยอมเปิดเผยตัวเอง

เช่น Mr. Sigg จอมบงการ ทั้ง Mr. Sigg ยังมีพฤติกรรมข่มขู่พยาน และซัดทอดผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ เช่น Mr. Read, นายสิน, จีนโต, บริษัท MALHERBE, JULLIEN & CO., และโรงสี PATRIEW COMPANY MILL นอกจากนั้นยังมีพยานบุคคลที่ไม่ยอมปริปากมาก่อน เช่น นางแคโรไลน์ น้องสาวของแฟนนี่, หม่อมยี่สุ่น, คุณหญิงทรามสงวน น้องสาวพระปรีชากลการ, มร. กูลด์ รองกงสุลอังกฤษ เป็นต้น[2]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดย่อเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “ฟื้นปริศนาคดีประวัติศาสตร์ นางแฟนนี่ น็อกซ์ แก้ต่างความผิดให้พระปรีชากลการ” โดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2551 และ “พิษรักต่างขั้วในการเมืองไทย “แฟนนี่ น็อกซ์” เมียฝรั่งฝั่งวังหน้า-พระปรีชากลการวังหลวง” ในศิลปวัฒนธรรมออนไลน์


เชิงอรรถ :

[1] จุมพนันท์. ตัวจึงตายเพราะได้เมียฝรั่ง. มติชน, 2524. (บทบรรณาธิการ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ).

[2] _______. ตัวจึงตายเพราะได้เมียฝรั่ง. มติชน, 2524. (บทวิเคราะห์เหตุการณ์ โดย สืบแสง พรหมบุญ).

เอกสารประกอบ

ประวัติบรรพบุรุษ และสกุลวงศ์ อมาตยกุล, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาปฏิภาณพิเศษ (อาเล็กซานเดอร์ อมาตยกุล) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส 30 มีนาคม 2507.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563