ประวัติศาสตร์โรคระบาดและความเจ็บป่วย มีอะไรเป็นสาเหตุ

เหตุการณ์โรคระบาดในเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ (ภาพจาก Wellcome Collection)

ในวันที่ประชากรโลกกำลังเผชิญกับ “โควิด 19” ที่ระบาดไปในเกือบทุกประเทศบนโลก แล้วการเกิด “โรคระบาด” ในยุคแรก ๆ มีความเป็นมาอย่างไร มีอะไรเป็นสาเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัยให้ความเจ็บป่วยนั้นรุนแรงขึ้น

ชาติชาย มุกสง ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในผลงาน “จากปีศาจสู่เชื้อโรค: ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย” (สนพ.มติชน, เมษายน 2563) ที่รวบรวมประวัติศาสตร์ศาสตร์ของโรค การเกิดโรคระบาด ตั้งแต่ในระดับโลก จนถึงประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งในที่นี้ขอสรุปมาเพียงในส่วนของการเกิดโรคระบาดในโลก และโรคใหม่ที่มาพร้อมกับนักสำรวจ

ในสังคมยุคบุพกาลที่มนุษย์รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 50-100 คน เร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง ยังชีพด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ จำนวนประชากรที่หนาแน่นน้อย ทำให้ไม่เกิดแหล่งเพาะเชื้อโรค บรรพบุรุษรุ่นแรก ๆ จึงปลอดจากโรตติดต่อ เช่น ฝีดาษ,หัด ฯลฯ

ราว 8,000-10,000 ปีก่อน มนุษย์ได้ลงหลักปักฐานเพื่อทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ขึ้นเป็นครั้งแรกในตะวันออกใกล้ มนุษย์ก็ได้เริ่มต้นก่อแหล่งเพาะเชื้อโรคใหม่ ๆ ขึ้น ยิ่งเมื่อมีการปฏิวัติทางการเกษตร มนุษย์สามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอจนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเพิ่มจำนวนประชากร ผลจากการมีประชากรที่หนาแน่นขึ้น

การตั้งถิ่นฐานถาวรและการใช้ประโยชน์จากที่ดินรอบตัวไม่ได้ทำให้มนุษย์สุขภาพดีขึ้น แต่กลับทำให้เกิดโรคที่ติดต่อจาสัตว์เลี้ยงสู่มนุษย์จำนวนมากในสังคมเกษตรกรรม การปศุสัตว์ทำให้เกิดฝี, โรคหัด และโรคกลัวน้ำ โดยโรคที่แพร่จากสัตว์สู่คน หรือเป็นกลับไปกลับมาระหว่างคนกับสัตว์ ทำให้โรคปรับตัว และเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปก็จะส่งผลร้ายต่อมนุษยชาติ

เมื่อนักเดินทางชาวยุโรปสามารถเดินทางไปถึงโลกใหม่หรือทวีปอเมริกา ครั้งแรกใน ค.ศ. 1492 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกหลาย ๆ ด้าน เพราะนอกจากค้นพบดินแดนโลกใหม่, ผู้คน, สัตว์, พืช แล้ว ยังพบ “โรค” ที่ต่างออกไปจากโลกเก่าคือ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งสัตว์ พืช และโรคที่ค้นพบในโลกใหม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ทั้งโลกใหม่และโลกเก่าไปพร้อมกัน

การค้นพบโลกใหม่จึงกลายเป็นการเชื้อเชิญเอาโรคที่ไม่มีใน 2 ทวีปมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งได้นําไปสู่หายนะครั้งใหญ่

การเสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งแรกในโลกใหม่เกิดขึ้น ใน ค.ศ. 1493 ชาวอาราวัคในแคริบเบียนติดโรคไข้หวัดใหญ่ (บางแหล่งก็สันนิษฐานว่าเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่) จากหมูที่มากับเรือของโคลัมบัส ต่อมาใน ค.ศ. 1518 โรคฝีดาษระบาดประชากรในแคริบเบียนเสียชีวิตไปถึง 1 ใน 3 หรืออาจจะถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว ตามด้วยโรคระบาดอื่น ๆ จากยุโรป ที่ทยอยมาเป็นระลอก โรคระบาดอย่าง “ฝีดาษ” ทําให้อารยธรรมโบราณของชาวพื้นเมืองอย่างอินคา มายา และแอซเทคถึงกลับล่มสลาย

โรคของชาวพื้นเมืองอเมริกาก็ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความตายของชาวยุโรปไม่น้อยเช่นกัน โรคใหม่ที่เชื่อว่ามาจากทวีปอเมริกาพร้อมกับลูกเรือของโคลัมบัสคือ โรคซิฟิลิส มีรายงานว่าชาวพื้นเมืองในอเมริกาเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Great Pow” (ชื่อเรียกซิฟิลิสเวลานั้น) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสนำโรคซิฟิลิสไปกับเรือสํารวจที่เดินทาง และเผยแพร่เชื้อโรคสู่เอเชียตั้งแต่อินเดียถึงญี่ปุ่น

การค้นพบดินแดนใหม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงนั่นคือ สุขภาพ

ปรากฏว่ามีโรคจากการติดต่อค้าขาย การค้าทาส การทําสงคราม การล่าอาณานิคม การอพยพของผู้คน การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ พืชพันธุ์ใหม่ที่นําเข้าไปสู่ยุโรปโดยพ่อค้าและนักเดินทาง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง กลายเป็นแหล่งอาหารหลักของชาวยุโรปและทําให้ประชากรมีเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ได้นําโรคชนิดใหม่มากับพืชพันธุ์เหล่านั้นด้วย หากพืชบางชนิด เช่น เปลือกต้นชิงโคนาก็สามารถมาใช้ทํายารักษาโรคได้

ช่วงเริ่มต้นปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดโรคหลายอย่างขึ้นในเมืองที่แออัด ผู้คนต้องเข้าร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสถานที่เดียวกันมาก ๆ เมืองอุตสาหกรรมยิ่งดึงดูดแรงงานจํานวนมหาศาลเข้ามารวมกันในเมืองเดียว ขณะที่ไม่ได้มีการจัดการด้าน สาธารณสุขที่ดีพอ

ในช่วงเริ่มต้นสมัยใหม่นั้น “ไข้รากสาดใหญ่” กลายเป็นโรคระบาดร้ายแรงของชาวยุโรปแทนซิฟิลิส มักเกิดการระบาดช่วงสงคราม เนื่องจากการตั้งค่ายทหารที่สกปรก เช่น การระบาดในสเปนระหว่าง ค.ศ. 1596-1602 มีผู้เสียชีวิตกว่า 500,000 คน, การระบาดในกองทัพนโปเลียนที่กําลังรุกรานรัสเซียใน ค.ศ. 1812 กองทัพฝรั่งเศสยึดกรุงมอสโกที่ชาวรัสเซียทิ้งร้าง (ไม่มีอาหาร ยารักษา หรือแพทย์ที่จะคอยบํารุง กองทัพ) ช่วงเวลา 5 สัปดาห์ กองทัพนโปเลียนก็ต้องทนทุกข์จากโรครากสาดใหญ่จนทหาร 600,000 นาย มีชีวิตรอดกลับบ้านไปไม่มากนัก

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา สภาพของเมืองเริ่มแออัดไปด้วยผู้คน การสร้างที่อยู่อาศัยไม่เป็นระเบียบและผิดสุขลักษณะ เมืองเต็มไปด้วยความสกปรก ทั้งจากควันจากโรงงาน น้ำเสีย ขยะที่จัดเก็บไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ ล้วนเป็นสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะในหมู่คนยากจนที่อาศัยกันอย่างแออัดและเป็นแหล่งโรคที่เกิดจากความสกปรก เช่น ไข้รากสาดใหญ่ ปวดบวม

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะการปลูก ป้องกันฝีดาษที่ริเริ่มโดยเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์  เมื่อ ค.ศ. 1796 ส่งผลให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนโรคระบาดที่เกิดขึ้น และติดต่อถึงกันไปทั่วทุกมุมโลกกลับ ได้พัฒนาภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ รวมถึงมาตรการป้องกันการระบาด เช่น การกักเรือเพื่อป้องกันโรคระบาดจนได้ผล รวมทั้งการปรับปรุงระบบสุขาภิบาลของเมือง

คริสต์ศตวรรษที่ 19 วัณโรคเป็นโรคที่น่ากลัวมากและคร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านโดยเฉพาะหนุ่มสาว จนถูกให้สมญานาม ว่า “โรคระบาดสีขาว (white plague)” อัตราการตายของชาวยุโรปในเมืองใหญ่ทางตะวันตก เฉียงเหนือของทวีปยุโรปและฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริการาว 1 ใน 4 มาจากวัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความอับชื้น เถ้าในอากาศ และหมอกควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ด้วยเรือกลไฟและการล่าอาณานิคมของชาวยุโรปไปทั่วทุกมุมโลก การเดินทางที่รวดเร็วขึ้นทำให้เชื้อโรคฟักตัวและแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น อหิวาต์ที่เคยระบาดเฉพาะในเอชียใต้มานับพันปี กลายเป็นโรคระบาดในที่น่ากลัวที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีการระบาดไปทั่วโลกถึง 6 ครั้ง

นี่คือบางส่วนจากผลงานของชาติชาย มุกสง ที่ว่าด้วยประวัติการแพทย์และโรคระบาด


ข้อมูลจาก

ชาติชาย มุกสง. จากปีศาจสู่เชื้อโรค:ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย , สำนักพิมพ์มติชน, เมษายน 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563