“เหรียญปราบฮ่อ” มูลค่านับล้านบาทที่ร.5 พระราชทานแก่ผู้มีความชอบ คราวสงครามปราบฮ่อ

เหรียญปราบฮ่อ สงครามปราบฮ่อ

เหรียญปราบฮ่อ เป็นเหรียญในสมัย รัชกาลที่ 5 ที่สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จให้กับผู้มีความชอบใน สงครามปราบฮ่อ นับเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกของเหรียญประเภทนี้

สงครามปราบฮ่อ มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ‘ฮ่อ’ พวกนี้ก็คือชาวจีนนั่นเอง แต่ในภาคเหนือนิยมเรียกว่าฮ่อ ขณะที่ภาคกลางอย่างกรุงเทพฯ นิยมเรียกว่าจีนไม่ก็เจ๊ก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เมื่อครั้งปราบฮ่อ พ.ศ. 2418 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ชื่น กัลยาณมิตร) ได้จับฮ่อส่งลงมากรุงเทพฯ ก็มีคนพูดกันว่า พระยามหาอำมาตย์จับชาวจีนมาหลอกว่าเป็นฮ่อ แต่ความจริงแล้วฮ่อก็คือจีนนั่นเอง

เมื่อสยามยกทัพปราบฮ่อ

ฮ่อที่มาสร้างความวุ่นวายในสยามนั้น เป็นชาวจีนที่ลุกขึ้นต่อต้านราชวงศ์ชิง เรียกว่า ‘กบฏไท่ผิง’ แต่ถูกราชสำนักชิงปราบปรามอย่างหนัก จนถอยร่นเข้ามาบริเวณตอนใต้ของจีน เที่ยวซ่อนตัวตามป่าเขาและเข้าก่อเหตุความวุ่นวายในดินแดนสยาม ทั้งในส่วนลาว พวน หลวงพระบาง สิบสองจุไท ฯลฯ

ฮ่อแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ฮ่อธงดำและฮ่อธงเหลือง

พ.ศ. 2418 ฮ่อเตรียมทัพโจมตีเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณเวียงจันทน์ แล้วจะเข้ามายังหนองคาย กรมการเมืองหนองคายทราบข่าวจากชาวบ้านที่อพยพหนีมา จึงแจ้งข่าวมายังกรุงเทพฯ ขณะนั้นพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ชื่น กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงขึ้นไปสักเลกที่มณฑลอุบล จึงได้มีคำสั่งให้รับหน้าที่เกณฑ์คนจากมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล เป็นกองทัพขึ้นไปสมทบกับกองทัพของพระยานครราชสีมา (เมฆ) ขึ้นไปป้องกันหนองคาย กระทั่งได้ตีทัพฮ่อแตกหนีไป

อีกด้านหนึ่ง กองทัพสยามยกไปปราบฮ่อทางหลวงพระบาง ก็ตีทัพฮ่อแตก ป้องกันเมืองได้สำเร็จเช่นกัน

ฮ่อได้หนีรวมตัวกันปล้นสะดมสร้างความวุ่นวายในจีนและญวณ แต่เมื่อ ‘ปวงนันชี’ หัวหน้าฮ่อธงเหลืองถูกปราบปรามจนตาย พวกฮ่อธงเหลืองแตกออกเป็นหลายกลุ่ม ยังก่อความวุ่นวายอยู่เนือง ๆ กระทั่ง พ.ศ. 2426 ฮ่อเข้ามาตั้งค่ายที่ทุ่งเชียงคำ มีแนวกอไผ่แน่นหนาเป็นป้อมปราการ กองทัพสยามนำโดยพระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) เข้าไปปราบ ล้อมค่ายนาน 2 เดือน ก็ยังเอาชนะไม่ได้ กองทัพสยามเริ่มขาดแคลนเสบียงอาหารและมีคนป่วยจำนวนมาก สุดท้ายต้องยกทัพกลับมายังหนองคาย

พ.ศ. 2428 กองทัพสยามเรียนรู้จากการปราบฮ่อครั้งก่อนว่า เป็นกองทัพแบบโบราณ จึงทำการปราบปรามไม่สำเร็จ ครั้งนี้จึงส่งกองทัพที่ได้รับการฝึกอย่างหทารตะวันตกขึ้นไปสมทบกองทัพหัวเมือง

ถึงเวลานี้ ฮ่อมีทั้งฮ่อแท้และฮ่อปลอม คือพวกฮ่อแท้ที่เป็นชาวจีน ได้กวาดต้อนเอาผู้คนที่ตนเข้าปล้นสะดมก่อความวุ่นวายมาเป็นพวกของตน ส่วนมากเป็นเด็กที่พรากมาจากพ่อแม่ที่ถูกฆ่าทิ้ง จับเด็กมาฟั่นเปียและนุ่งห่มอย่างฮ่อ กับอีกพวกหนึ่งเป็นคนพาล สูบฝิ่น กินเหล้า ไม่มีปัญญาเลี้ยงตัว ก็ไปเข้ากับพวกฮ่อ กลายเป็นฮ่อปลอม และก็ไว้เปียแต่งตัวอย่างฮ่อเช่นกัน

การปราบฮ่อครั้งที่ 3 สำเร็จผล ด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่าพวกฮ่อที่มีแต่ปืนคาบศิลาและสามง่าม แต่กองทัพสยามก็ต้องเผชิญความยากลำบากจากไข้ป่าและการขาดแคลนยาควินิน พ.ศ. 2430 เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) นำหัวหน้าพวกฮ่อลงมากรุงเทพฯ ฮ่อจึงถูกกำราบลงนับแต่นั้น

การปราบฮ่อทั้ง 3 ครั้ง ปรากฏปีในเหรียญปราบฮ่อคือ จ.ศ. 1239 (พ.ศ. 2420), จ.ศ. 1247 (พ.ศ. 2428) และ จ.ศ. 1249 (พ.ศ. 2430) แต่หากยึดตามพงศาวดาร ปราบฮ่อครั้งแรกจะเป็น จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) ปราบฮ่อครั้งที่ 2 จะเป็น จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2426) มีเพียงการปราบฮ่อครั้งที่ 3 ที่ปีในเหรียญกับในพงศาวดารตรงกัน

เหรียญปราบฮ่อ (เงิน) (ภาพจากศิลปวัฒนธรรมฉบับมกราคม 2536)

เหรียญปราบฮ่อ

รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญปราบฮ่อขึ้นใน พ.ศ. 2431 ซึ่งเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์เพื่อบำเหน็จความดีความชอบ พระราชทานแก่ผู้ไปราชการปราบฮ่อ โดยว่าจ้างให้บริษัทบีกริมแอนด์โก ผลิตที่ประเทศเยอรมนีจำนวน 500 เหรียญ

เหรียญปราบฮ่อเป็นเหรียญกลม แบน มีห่วงหู และไม่มีห่วงหู เนื้อเงิน และทองแดง (เป็นเหรียญลองพิมพ์) ด้านหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 พระพักตร์เสี้ยว (หันข้าง) มีช่อชัยพฤกษ์ ด้านบนริมขอบมีข้อความ “จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช” ด้านหลังเหรียญเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงของ้าวขี่คอช้างศึก มีควาญอยู่ท้ายช้าง ด้านล่างริมขอบมีแพรแถบ ด้านบนริมขอบมีข้อความ “ปราบฮ่อ 1239 1247 1249”

จากการรวบรวมข้อมูลเท่าที่สืบพบ พบว่ารัชกาลที่ 5 พระราชทานเหรียญปราบฮ่อให้แก่ พระวิภาคภูวดล (เจมส์ แม็กคาร์ธี) หลวงคำนวนคัดณานต์ (ตรี) ขุนประมาณสถลมารค (ใจ) นายสว่าง นายเวรกรมแผนที่ หลวงพลสินธวาณัตถ์ (ริ ชิ ลิว) ขุนนภาภาคพัติการ (เอม) เป็นต้น รวมบรรดาข้าราชการและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ก็ต้องได้รับพระราชทานอย่างแน่นอน

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ กล่าวว่า “ทั้งหมดมี 500 เหรียญและมีเฉพาะเหรียญเงินเท่านั้น ส่วนเหรียญทองแดงนั้นเป็นเหรียญตัวอย่างส่งมาถวายรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรว่าชอบหรือไม่ชอบ แล้วเหรียญทุกเหรียญจะต้องมีหมายเลขกำกับระบุถึงเลขที่ผู้ที่ได้รับเหรียญ ซึ่งรายชื่อจะไปปรากฏในราชกิจจานุเบกษาปีใดปีหนึ่ง และเหรียญทองแดงที่เป็นเหรียญตัวอย่างจะสังเกตได้ว่า จะระบุคำว่า ‘จุพาลงกรณ์’ และคำว่า ‘ปราบฮอ’ ซึ่งเป็นการสะกดผิด จึงนำกลับไปแก้แล้วเหรียญที่สะกดผิดนั้นจึงตกค้างอยู่ที่เมืองไทยซึ่งมีราคาแพงมากเพราะมีเหรียญเดียว…” นอกจากนี้ยังระบุมูลค่าของเหรียญปราบฮ่อว่า มีราคาสูงสุดที่ประมาณ 2.6 ล้านบาท (เมื่อ พ.ศ. 2559)

เหรียญปราบฮ่อ (ทองแดง) เป็นเหรียญลองพิมพ์ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรมฉบับมกราคม 2536)

เชื่อกันว่า ในด้านพุทธคุณนั้นข้าราชการผู้ใหญ่ในสมัยก่อนเรียกว่า ‘เหรียญนักเลง’ เพราะเชื่อว่าเมื่อพกติดตัวไปที่ใดก็จะประสบแต่ชัยชนะ ปราศจากอันตราย จึงนิยมนับถือกันมาก บางเหรียญมีการลงเหล็กจารของเกจิดังในยุคเก่า ๆ อีกด้วย

มูลค่าของเหรียญปราบฮ่อในยุคนี้คงไม่ต้องพรรณา ถ้าเป็นเหรียญสภาพสมบูรณ์ มูลค่าคงแตะหลักสามล้านบาท (+-) เห็นจะไม่เกินจริงนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

วิษณุ บุญนิ่ม. (มกราคม, 2536). เหรียญปราบฮ่อ “เหรียญมหัศจรรย์” สมเด็จพระปิยมหาราช. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 14 : ฉบับที่ 3.

ศิวพร อ่องศรี. (2559). ‘เหรียญปราบฮ่อ’ ล้ำค่า บำเหน็จสมัยรัชกาลที่ 5. หนังสือพิมพ์ข่าวสด. ฉบับ 28 มกราคม 2559.

อภิญญา. (2554). มุมพระเก่า : เหรียญปราบฮ่อ-เสด็จกลับ (2) สุดยอดนิยม-นักสะสมชื่นชอบ. หนังสือพิมพ์ข่าวสด. ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2563