นามอันสะเทือนใจของเรือ “ทอเรียะ” ที่เนรเทศ “พระเจ้าธีบอ” กษัตริย์พม่าไปอินเดีย

ภาพลายเส้นพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยลัต พระมเหสี

เนื้อหานี้เผยแพร่ในเฟซบุ๊กเพจ รามัญคดี – MON Studies เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 โดย “Admin อาโด๊ด” หัวเรื่องเดิมชื่อ “เรือลำที่เนรเทศกษัตริย์พม่าชื่อว่าทอเรียะ” และได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้นำมาเผยแพร่ต่อแล้ว


 

Advertisement

เป็นความบังเอิญอย่างที่สุด ภายหลังอังกฤษยึดครองพม่าแล้ว ได้ทำการเนรเทศพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยลัตไปไว้ยังอินเดีย ซึ่งตกเป็นอาณานิคมอังกฤษไปก่อนหน้านั้น

เรือพระที่นั่งที่ใช้เนรเทศกษัตริย์และพระราชินีองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์คองบองของพม่าไปยังอินเดียชื่อว่า “ทอเรียะ” (Thooreah ထဝ်ရ)

“ทอเรียะ” (ထဝ်ရ) เป็นชื่อของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) บุตรชายเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ต้นตระกูล คชเสนี อดีตเจ้าเมืองเตริน และเป็นโอรสในพระอนุชาในพญาทะละ กษัตริย์มอญพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงหงสาวดี ราชวงศ์พระเจ้าฟ้ารั่ว ที่ถูกราชวงศ์คองบองแห่งพม่าปล้นชิงเอกราชและประหารชีวิตพญาทะละ พระมเหสี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์มอญจนสิ้นราชวงศ์ เมื่อพุทธศักราช 2300

เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เกิดในเมืองมอญ เวลานั้นพญาเจ่งยังยอมรับราชการอยู่กับพม่าต่อจึงมิได้ถูกประหารชีวิตไปด้วย แต่หลังจากพญาเจ่งคิดกอบกู้เอกราชจากพม่า ทว่าไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฎ ต้องพาไพร่พลเรือนหมื่นหนี รวมทั้ง ทอเรียะ ขณะยังรุ่นหนุ่มติดตามตามพญาเจ่งผู้เป็นบิดาเข้าเมืองไทยเมื่อสมัยธนบุรี ในปีพุทธศักราช 2317

ครั้งหนึ่ง อังกฤษคิดจะตั้งประเทศมอญขึ้นใหม่เพื่อจะได้คานอำนาจกับแผ่นดินพม่าทางตอนบน แต่ติดที่อังกฤษหาตัวเชื้อพระวงศ์มอญที่ราษฎรให้ความเชื่อถือไม่ได้ ยังหลงเหลือก็แต่เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ที่อพยพหลบหนีมาอยู่เมืองไทย

อังกฤษทำหนังสือขอตัวจากรัชกาลที่ 3 แต่ได้รับการปฏิเสธ ด้วยสถานการณ์การเมืองในเวลานั้นยังคุกรุ่นไปทั้งภูมิภาค ท้ายที่สุดแล้ว ตระกูล “คชเสนี” ของพญาทอเรียะ หรือเจ้าพระยามหาโยธาก็รับราชการอยู่ในแผ่นดินไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ขณะที่พระเจ้าธีบอและพระนางศุภยลัตถูกนำลงเรือ “ทอเรียะ” (Thooreah) เมื่อเช้าวันที่ 29 พฤศจิกายน ปีพุทธศักราช 2428 ไปกักขังไว้ยังบ้านหลังเล็กๆ ในชนบทห่างไกลของเมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดียกระทั่งสวรรคคต โดยไม่ได้กลับมายังแผ่นดินพม่าอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 20 ธันวาคม 2563