ทันตพยาธิวิทยาโบราณ ตามรอยประวัติศาสตร์จาก “ฟัน” แต่ละซี่

ฟันเขี้ยวที่กรามล่างด้านซ้ายของชายคนหนึ่งมีร่องรอยความผิดปกติของชั้นเคลือบฟัน (enamel hypoplasia)ซึ่งสันนิฐานว่าเกิดจากการขาดความสมดุลของสารอาหารในวัยเด็ก

ถ้าอยากจะรู้ว่าผู้คนในอดีตที่มา มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร นอกจากสืบค้นจากเอกสารแล้ว หลักฐานอีกอย่างที่ดีอีกอย่างก็คือ ซากและชิ้นส่วนของมนุษย์นั่นเอง (ชิ้นส่วนที่นิยใช้ก็คือ กระดูก และฟัน) ที่เรียกว่า โบราณคดีเชิงชีววิทยา (bioarchaeology) จะช่วยให้เข้าใจมนุษย์ในมิติต่างๆ

แต่ก็เป็นหลักฐานที่อ่านยาก และไม่ใช่ทุกคนจะอ่านออก

Advertisement

เช่นนี้ เราจึงเรื่องอ่าน จากที่นักวิชาการได้เรียบเรียงไว้แทน และนี่คืองานอของนักวิชาการด้านโบราณคดี 3 ท่าน ธนิก เลิศชาญฤทธ์, สก็อต เคิร์กแลนด์ และสก็อต เบอร์เนตต์  ที่ศึกษาจากซากฟันของมนุษย์สมัยเหล็ก จากแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และเรียบเรียงเป็นบทความชื่อ “ทันตพยาธิวิทยาโบราณ : ผลการศึกษาเบื้องต้นจากฟันมนุษย์สมัยเหล็กในภาคกลาง” (ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2556)

พวกเขาต้องการศึกษาว่าในสังคมที่มีการเพาะปลูกและบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ผู้คนมีสุขภาพอนามัยเป็นอย่างไร

โดยศึกษาจากร่องรอยของ ”ฟัน” เช่น รอยฟันผุ, การสึกกร่อนของฟัน การหลุดของฟันก่อนเสียชีวิต และการคืนตัวของกระดูกบริเวณเบ้าฟัน จากฟันทั้งหมด 192 ซี่จากโครงกระดูกในหลุมฝังศพของมนุษย์ 14 คน (ชาย 4 คน หญิง 3 คน และไม่สามารถระบุเพศได้ 7 คน เป็นวัยรุ่น 4 คน วัยผู้ใหญ่ 9 คน ส่วนอีก 4 คนไม่สามารถระบุวัน (เนื่องจากกระดูกแตกหักเป็นชิ้นส่วนยากแก่การระบุเพศ, วัย) เปรียบเทียบกับลักษณะทันตพยาธิวิทยาของมนุษย์โบราณในพื้นที่อื่นของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการศึกษาในประเด็นเดียวกัน

ผลการศึกษาครั้งนี้จากประชากรที่ศึกษา (N = 14) สรุปได้ดังนี้

ไม่มีคนใดประสบปัญหาฟันหลุดก่อนการเสียชีวิต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าฟันของบุคคลที่เสียชีวิตอยู่ในสภาพค่อนข้างดี และฝังแน่นติดกับกรามบนและกรามล่างตลอดช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่

ร่องรอยผุบนฟัน ก็พบเพียง 1 ซี่ คิดเป็นอัตราส่วนฝันผุเพียง 0.5% (คิดจากฟัน 1 ซี่จากทั้งหมด 192 ซี่ที่ใช้ในการศึกษา) และเนื่องจากฟันซี่ที่มีร่องรอยฟันผุเป็นฟันของบุคคลซึ่งไม่สามารถระบุอายุและเพศได้ชัดเจน ดังนั้นจึงไม่สามารถเปรียบเทียบอัตราส่วนฟันผุระหว่างเพศและอายุของประชากรที่ศึกษาได้

ฟันผุ 1 ซี่ จากแหล่งโบราณคดีบ้านพรหม ลพบุรี

การสึกกร่อนของฟัน โดยทั่วไปไม่ค่อยมีร่องรอยการสึกหรือรอยสึกมากนัก พบฟันของบุคคล 12 คน ไม่มีร่องรอยการสึกกร่อน (0/135 ซี่) และมีฟันเพียง 13 ซี่ (6.8%) จาก 192 ซี่ ที่แสดงรอยสึกกร่อน (นักวิชาการส่วนมากเชื่อว่าฟันที่มีรอยสึกค่อนข้างมากอาจเกิดจากอาหารที่บริโภค หรือกิจกรรมที่ใช้ฟันเป็นเสมือนเครื่องมือ (เช่น กัด เคี้ยว ตัด))

การคืนตัวของกระดูกบริเวณผนังเบ้าฟัน พบไม่มากนัก มีเพียง 3 คน (จาก 14 คน) ที่มีร่องรอยที่เชื่อว่าประสบปัญหาโรคฟัน และมีเพียง 1 คนจาก 14 คนที่ประสบโรคฟันผุรุนแรงจนเกิดหนองในโพรงเบ้าฟัน

เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์สมัยเหล็กจากแหล่งโบราณคดีอื่น

คณะผู้เขียนเปรียบเทียบผลการศึกษาเรื่องโบราณทันตพยาธิจากแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ กำหนดอายุอยู่ในสมัยเหล็ก หรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (แหล่งโบราณคดีเพียงแห่งเดียวในภาคกลางของประเทศไทยในขณะนี้ที่มีผลการศึกษาเรื่องโบราณทันตพยาธิ) กับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ กำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยหินใหม่และสมัยสำริด ซึ่งมีอายุเก่ากว่าแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้

แหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่ว่าได้แก่ แหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล 2 แหล่ง (แหล่งโบราณคดีโคกพนมดีและหนองโน) และแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ที่ราบสูงโคราช 5 แหล่ง (แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง บ้านนาดี โนนนกทา เนินอุโลก และบ้านหลุมข้าว)  สรุปผลและนำเสนอในตาราง 1 ดังนี้ฟันผุ แหล่งโบราณคดีในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลมีประชากรหรือผู้คนประสบปัญหาโรคฝันผุมากที่สุด (8.7%) รองลงมาคือประชากรจากแหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสูงโคราช (4.8%) ส่วนในเขตที่ราบภาคกลางในกรณีของแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ ประชากรหรือผู้คนมีอัตราการเป็นโรคฟันผุน้อยที่สุด (0.5%)

การหลุดของฟันก่อนมนุษย์จะเสียชีวิต แหล่งโบราณคดีแถบใกล้ชายฝั่งทะเลประสบปัญหาประชากรฟันหลุดร่วงก่อนเสียชีวิตมากที่สุด หรือคิดเป็น 6.6% แหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสูงโคราชมีอัตราการหลุดของฟันก่อนจะเสียชีวิตใกล้เคียงกับประชากรจากพื้นที่แถบใกล้ชายฝั่งทะเล คิดเป็น 6.2% และประชากรหรือผู้คนในเขตที่ราบภาคกลางในกรณีของแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ มีอัตราการหลุดของฟันก่อนเสียชีวิตน้อยที่สุด (0.00%)

การคืนตัวของกระดูกบริเวณเบ้าฟัน พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ประชากรสมัยโบราณจากแหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสูงโคราชประสบโรคฝันผุจะเกิดโพรงฟันอักเสบ โดยมีอัตราส่วนสัดส่วนการเป็นโรคโพรงหรือเบ้าฟันอักเสบคิดเป็น 7.1% ซึ่งมากกว่าประชากรในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล ซึ่งมีอัตราส่วนสัดส่วนเบ้าฟันอักเสบคิดเป็น 3.4% ในขณะที่ประชากรจากเขตที่ราบภาคกลางมีสัดส่วนการคืนตัวของกระดูกเบ้าฟันอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเบ้าฟันอักเสบน้อยที่สุด คิดเป็น 0.6% เท่านั้น

รอยสึกบนฟัน ว่าประชากรในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลมีสัดส่วนฟันสึกกร่อนมากที่สุด คิดเป็น 12.6 %  รองลงมาคือประชากรสมัยโบราณในเขตที่ราบสูงโคราช ที่มีสัดส่วนฝันสึกกร่อนคิดเป็น 11.8% ส่วนประชากรจากเขตที่ราบภาคกลางมีสัดส่วนฟันสึกกร่อนน้อยที่สุด คิดเป็น 6.8%

ร่องรอยการคืนตัวของกระดูกเบ้าฟัน (alveolar resorption) ของบุคคลคนหนึ่งจากหลุมฝังศพที่แหล่งโบราณคดีบ้านพรมทินใต้ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

ผลการศึกษาข้างต้น เห็นได้ชัดว่า ทันตพยาธิของประชากรที่แหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ในสมัยเหล็กมีน้อย หรือมีอัตราส่วนโรคฟันต่ำกว่าประชากรจากแหล่งโบราณคดีอื่นที่นำมาเปรียบเทียบ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะตัวอย่างฟัน [แหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้] กล่าวคือประชากรที่ศึกษานั้นส่วนใหญ่อายุอยู่ระหว่าง 17-25 ปี (50% ของประชากรตัวอย่าง) ซึ่งยังไม่ประสบปัญหาโรคฟัน และการใช้งานของฟันยังมีน้อย ความเสียหาจึงมีไม่มาก

ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องโบราณทันตพยาธิวิทยากับผู้คนสมัยโบราณจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ก็จะทำให้เห็นภาพรวมกว้างไกลยิ่งขึ้นว่าผู้คนในอดีตเมื่อครั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์มีสุขภาพฟัน รวมทั้งสุขอนามัยโดยรวมเป็นอย่างไร การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน หรือบริโภคอาหารต่างประเภทกัน หรือมีรูปแบบการดำรงชีพแตกต่างกัน จะมีอัตราส่วนการเป็นโรคฟันและสุขอนามัยต่างกันด้วยหรือไม่

ดังกรณีศึกษาในเขตที่ราบสูงโคราชที่พบว่าที่แหล่งโบราณคดีโนนนกทา ผู้คนในระยะแรกมีรูปแบบการยังชีพแบบผสมผสานทั้งการเก็บหาและล่าสัตว์เป็นอาหาร และเริ่มมีการเพาะปลูกมีอัตราการเป็นโรคฟันผุ 1.3% ต่อมาในระยะหลังที่ผู้คนดำรงชีพหลักด้วยการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าว พบว่าผู้คนมีอัตราส่วนการเป็นโรคฟันผุเพิ่มขึ้นเป็น 5.7%

สรุปเบื้องต้นได้ว่า ประชากรจากแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ในช่วงสมัยเหล็ก มีสุขภาพฟันที่แข็งแรง และอาจจะมีพัฒนาการด้านการดูแลสุขภาพพลานามัยทั่วไปมากกว่าประชากรในสมัยก่อนหน้านั้น (สมัยหินใหม่และสมัยสำริด)

จากการวิเคราะห์เบื้องต้นลักษณะและขนาดของกระดูกของประชากรที่แหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ ก็พบว่าประชากรมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าประชากรสมัยเหล็กในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันหรือลบล้างข้อค้นพบหรือข้อเท็จจริงข้างต้นเราคงต้องรอผลการศึกษาวิเคราะห์พยาธิวิทยาจากกระดูกของมนุษย์โบราณที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ และแห่งอื่นในภาคกลางในช่วงยุคสมัยเดียวกันประกอบด้วย

ต้องยอมรับว่า ฟันแต่ละซี่นอกจาก บด เคี้ยว กัด แทะ สิ่งต่างๆ แล้ว ยังเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบอนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2563