เปิดเอกสารฝรั่งเศส ข้ออ้างพระเพทราชา “สาบานจะไม่ทำอะไร” พระอนุชาของพระนารายณ์

พระเพทราชา พระนารายณ์
พระบรมสาทิสลักษณ์ (ช้าย) สมเด็จพระเพทราชา (ขวา) สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในทัศนะของชาวตะวันตก

เปิดเอกสารฝรั่งเศส ข้ออ้าง พระเพทราชา “สาบานจะไม่ทำอะไร” พระอนุชาของ พระนารายณ์

เหตุการณ์เมื่อครั้ง พระเพทราชา ยึดอำนาจในช่วงแผ่นดินสมัย พระนารายณ์ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของทั้งคนทั่วไปและนักประวัติศาสตร์มาหลายทศวรรษแล้ว หลักฐานต่างๆ ที่นำมาใช้ศึกษามีหลากหลายประเภท อาจกล่าวได้ว่า เหล่าบันทึกของชนต่างชาติทั้งที่อยู่ในสถานะผู้ร่วมเหตุการณ์ หรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งโดยตรงและอ้อม เป็นหลักฐานที่ช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวให้เห็นภาพได้หลากหลายมิติมากขึ้น บันทึกที่น่าสนใจอีกชิ้นซึ่งมักถูกนำมาประกอบการศึกษาย่อมมีชื่อบันทึกของพันตรีโบชอง นายทหารชาวฝรั่งเศส

นายทหารยศพันตรีนาม โบชอง (Beauchamp) เดินทางมาสยามพร้อมกับลาลูแบร์ ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เขาเข้ารับราชการทั้งที่ลพบุรีและบางกอก ปรีดี พิศภูมิวิถี นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องสมัยสมเด็จพระนารายณ์มองว่า พันตรีรายนี้น่าจะทำงานที่บางกอกไม่นานนัก จากนั้นย้ายไปอยู่เมืองลพบุรีช่วงปลาย พ.ศ. 2230 ทำหน้าที่ทหารรักษาพระองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้นก็เกิดเหตุสมเด็จพระเพทราชาเข้ายึดอำนาจที่ลพบุรี

พันตรีโบชอง คือผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์โดยตรง เขาถูกจับพร้อมเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และต้องเป็นผู้เดินสารจากลพบุรีไปบางกอกเพื่อชักจูงให้ทหารฝรั่งเศสขึ้นไปที่ลพบุรี ภายหลังจากนั้น นายพลเดส์ฟาร์จ ลงนามในสัญญาสงบศึก คุมกองทหารฝรั่งเศสออกไปนอกพระราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2231

จากเนื้อหาในเอกสารบันทึกของโบชอง เขาระบุว่า ได้รับคำสั่งจากนายพลเดส์ฟาร์จ ผู้บัญชาการกองกำลังทหารฝรั่งเศสในสยามให้เขียนรายงานทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดินทางมาถึงจนถึงเดินทางออกไป ไปจนถึงการถูกพวกฮอลันดาจับกุมเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1689 ท้ายบันทึกยังเขียนกำกับไว้ว่า “ข้าพเจ้าขอยืนยันด้วยเกียรติของข้าพเจ้าว่าบันทึกนี้ล้วนแต่เป็นความจริงทั้งสิ้น”

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จออกท้องพระโรงพระราชวังที่ลพบุรี รับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเชอวาเลีย เดอโชมองต์ กับคณะทูตฝรั่งเศสทูลเกล้าถวายเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ.2228 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

บันทึกของโบชอง เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2232 (ค.ศ. 1689) ขณะถูกจับกุมตัวโดยฮอลันดา เนื้อหาใจความเป็นดั่งที่โบชองเกริ่นในตอนต้นของบันทึกตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อเล่ามาถึงช่วงที่พระเพทราชาก่อการนั้น ใจความบางส่วนมีทั้งที่สอดคล้องและแตกต่างกับบันทึกชาวต่างชาติรายอื่น ส่วนที่แตกต่างเป็นรายละเอียดเล็กน้อยอาทิวันที่ซึ่งพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถูกสำเร็จโทษ

โบชอง บอกว่าพระปีย์ถูกสำเร็จโทษวันที่ 25 พฤษภาคม ขณะที่บันทึกจดหมายของวิลเลียม โซม (William Soame) บอกว่า วันที่พระปีย์ ถูกสำเร็จโทษคือประมาณวันที่ 10 พฤษภาคม

(โซม เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ปรีดี พิศภูมิวิถี บรรยายไว้ว่า เขาส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงเพื่อนที่เมืองมัทราส ในอินเดีย ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2231 เนื้อหาในจดหมายเล่าเรื่องการปฏิวัติในสยาม รวมทั้งเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม แม้ว่าตัววิลเลียม อาจไม่ได้ประสบพบเห็นเหตุโดยตรง แต่ก็อาจได้ข้อมูลมาจากพ่อค้าจร และสันนิษฐานว่า วิลเลียมไปประจำการที่เมืองท่ามะริด แถบชายฝั่งอันดามัน เพราะเป็นสถานีการค้าที่ติดต่อกับบริษัทที่อินเดียโดยตรง)

ในวันเกิดเหตุที่เมอซิเออร์ก็องสต๊องส์เข้าวังกับโบชอง และทหารอีก 2 นายนั้น บันทึกของโบชอง เล่าไว้ว่า

“…พวกเราเดินเข้าไปในพระราชวังเพียง 20 ก้าว เมื่อเข้าไปนั้นเอง ข้าพเจ้าก็บอกกับเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ว่า ‘ฯพณฯ เหตุใดจึงไม่ออกคำสั่งให้ข้าพเจ้าจับสมเด็จพระเพทราชา’ เขาตอบว่า ‘อย่าพูดอะไรอย่างนั้นเด็ดขาด’ ในไม่ช้า เราก็เห็นสมเด็จพระเพทราชาพร้อมด้วยทหารกว่า 2,000 นาย (ตามความคิดเห็นของปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้แปลเอกสารบันทึกเชื่อว่า อาจเกินความเป็นจริงไป) แวดล้อมด้วยข้าราชบริพารเดินตรงเข้ามาหาเรา คว้าแขนเสื้อของเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์แล้วว่า ‘อ้า มันนี่แหละ’

ว่าแล้วก็บอกให้ขุนนางผู้หนึ่งเข้าไปจะจับตัดหัว เมอซิเออร์ ก็องสต๊องส์อยู่ในสภาพเกือบใกล้ตาย หันหน้าไปทางสมเด็จพระเพทราชาเหมือนร้องขอชีวิต ในขณะเดียวกันนั้นขุนนาง 6 คนก็เข้ามาจับกุมข้าพเจ้า แล้วบุตรชายของสมเด็จพระเพทราชา (ออกหลวงสรศักดิ์) ก็มาแย่งกระบี่ของข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้ายกมือทั้งสองขึ้นกั้นไว้ จ้องมองไปยังเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์เพื่อดูว่าอย่างน้อยเขาจะให้ข้าพเจ้าทําอย่างไร และมองผ่านไปยังสมเด็จพระเพทราชาและเชื่อว่าคงเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินที่จะจัดการเขาตามที่เขาเคยบอกไว้

เมอซิเออร์ ก็องสต๊องส์หันมาหาข้าพเจ้าแล้วบอกว่า ‘เมอซิเออร์ จงมอบกระบี่ของท่านให้เพทราชาไป’ ข้าพเจ้าจึงดึงกระบี่ออกมา และด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าถืออยู่ตรงกลางเพื่อจะยื่นให้สมเด็จพระเพทราชา แต่ ลูกชายของเขาซึ่งอยู่ด้านหลังข้าพเจ้าได้มาแย่งไป ข้าพเจ้าหันกลับไปทันที แต่เมื่อเห็นว่าเป็นใครแล้วก็ปล่อยไป เชอวาลิเยร์เดส์ฟาร์จ และแฟรตเตอวิลล์ถูกปลดอาวุธและถูกจับเมื่อเข้ามาในเขตวังได้เพียง 20 ก้าว

เมื่อข้าพเจ้าถูกปลดอาวุธแล้วเขาก็พาไปรวมกับเชอวาลิเยร์ เดส์ฟาร์จและแฟรตเตอวิลล์ไปรวมในห้องหนึ่งในพระราชวัง โดยให้ท่านอุปทูตสยาม และชาวสยามอีก 50 คน ควบคุมไว้ ทุกคนมีดาบในมือทั้งสิ้น สมเด็จพระเพทราชาหิ้วปีกเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ บังคับให้เดินเท้าเปล่า ถอดหมวก พาเดินประจานรอบพระราชวังเพื่อให้คนจํานวนมากได้เห็น จากนั้นก็พาไปรวมกับเราในห้อง เกือบจะทันทีที่เขาเข้ามารวมกับเรา เมื่อเห็นข้าพเจ้าเขาก็บริภาษว่า ‘เมอซิเออร์ ข้าพเจ้าโกรธมากที่เห็นท่านที่นี่’ ข้าพเจ้าตอบว่า ‘ก็ ฯพณฯ ปรารถนา ในสิ่งนี้มิใช่หรือ หากว่าท่านเชื่อข้าพเจ้าแล้ว ทั้งท่านและข้าพเจ้า คงไม่ต้องมาอยู่ที่นี่หรอก’ สมเด็จพระเพทราชาเห็นพวกเราพูดคุยกันก็พาเขาออกไป เขาถูกตีตรวน ใส่ขื่อคา เอาไฟลนฝ่าเท้า จากนั้นสมเด็จพระเพทราชาก็เข้าไปในห้องเล็กข้างห้องบรรทมของพระเจ้าแผ่นดิน จับหม่อมปีย์สําเร็จโทษโดยตัดออกเป็น 3 ส่วน…”

หลังจากนั้นโบชอง ถูกใช้เป็นผู้ประสานกับทหารฝรั่งเศส โดยให้ไปพบกับนายพลเดส์ฟาร์จ ที่บางกอกให้ขึ้นมาเข้าเฝ้า ท้ายที่สุดนายเพลเดส์ฟาร์จ ตัดสินใจเดินทางมาเข้าเฝ้าที่ละโว้ สมเด็จพระเพทราชามีรับสั่งให้เขาจัดเตรียมทหารเพื่อไปรบกับพวกลาว แต่นายพลเดส์ฟาร์จ ปฏิเสธ อ้างว่าอยู่นอกฐานทัพและไม่มีอำนาจ พระเพทราชาไม่พอพระทัยคำตอบของนายพล และรับสั่งจับกุม แต่บาทหลวงที่มาด้วยบอกว่า เมื่อนายพลเดส์ฟาร์จ ออกจากป้อมแล้วก็ไม่สามารถทำอะไรในป้อมได้เลย เพราะไม่มีอำนาจ พระเพทราชาจึงให้เขียนจดหมายถึงเมอซิเออร์ เดอ บรูออง (De Bruant) ที่คุมกองทหารอยู่มะริด ให้มาเจอกัน ณ สถานที่ที่กำหนด เพื่อรวมกันไปโจมตีศัตรูของราชอาณาจักร เสมือนเป็นการบังคับบรูออง โดยไม่มีข้ออ้าง

ภาพสันนิษฐานของสมเด็จพระเพทราชา (PiteraTjay) พิมพ์ในปี พ.ศ. 2238 หลังการปฏิวัติแล้ว 7 ปี (ภาพจาก Military Revolutions Wars of Europe & Asia Ottoman Turks Mohammed Siam 27 Portraits. 1695)

แม้นายพลเดส์ฟาร์จ ยอมเขียนจดหมายแต่ก็จงใจเขียนแบบผิดสังเกต บันทึกของโบชอง เล่าว่า นายพลเดส์ฟาร์จ ตั้งใจไม่ลงนามเพื่อให้ เดอ บรูออง เห็นความผิดปกติ

หลังจากนั้นพระเพทราชานำผ้างามมามอบแด่นายพลเดส์ฟาร์จ และลูกชาย ให้นายพลเดินทางไปบางกอก ส่วนลูกชายให้อยู่ในวังที่นั่น

ในส่วนของบรูออง นั้น ปรีดี พิศภูมิวิถี อธิบายไว้ว่า “ออกพระเพทราชามีความคิดในการปฏิวัติตั้งแต่ต้นปี 2231 โดยการพยายามจำกัดสิทธิ์และพื้นที่ของชาวฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ที่หัวเมืองรอบนอกอยุธยา เช่น บาทหลวงที่พิษณุโลกรายงานว่า การเผยแผ่ศาสนาที่พิษณุโลกประสบปัญหาต่างๆ และไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ง่ายเช่นดังก่อน และเมื่อเห็นว่ามีทหารฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาที่บางกอกตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2230 แล้วก็พยายามจะแบ่งจำนวนทหารฝรั่งเศสให้น้อยลงเพื่อการจัดการให้ง่ายขึ้น จึงต้องสั่งให้ทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งนำโดย เดอ บรูออง (De Bruant) นำทหารไปมะริดเพื่อปราบเหล่าโจรสลัดในน่านน้ำทะเลอันดามันที่เข้ามาก่อกวนการค้าทางฝั่งตะวันตก “

บันทึกของโบชอง เล่าต่อมาว่า

“นายพลเดส์ฟาร์จ ออกเดินทางจากละโว้ในไม่ช้า พร้อมกับขุนนางสยามอีกหลายคนและท่านอุปทูต เพื่อจะได้สั่งการต่างๆ และเตรียมเรือให้พร้อมสำหรับการขนส่งกองทหารกลับขึ้นมา เกือบจะทันทีที่นายพลเดส์ฟาร์จออกเดินทางไป สมเด็จพระเพทราชาได้ส่งขุนนางผู้ใหญ่ทุกคนลงไปเฝ้าพระอนุชา 2 พระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ประทับอยู่ในพระราชวังอยุธยา เพื่อให้เสด็จขึ้นมาที่ละโว้ และให้สร้างความมั่นใจว่าสมเด็จพระเพทราชาได้สาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะไม่มีอันตรายใดๆ พระอนุชาทั้ง 2 พระองค์ทรงรีบขึ้นมาทันใด ครั้นถึงที่ละโว้แล้ว สมเด็จพระเพทราชาได้นำไปที่หน้าพระเจดีย์ใหญ่ที่สร้างขึ้นริมอ่างเก็บน้ำทะเลชุบศรนั้น แล้วจับทั้ง 2 พระองค์ใส่ถุงกำมะหยี่ ประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์อันเป็นไม้มีค่าในบูรพทวีป วิธีการเช่นนี้เป็นการเฉพาะสำหรับผู้มีเลือดกษัตริย์เท่านั้น การประหารชีวิตนี้กระทำเบื้องหน้าบุตรชายของสมเด็จพระเพทราชา ที่ถูกส่งมาเพื่อดูว่าการเป็นไปจริงหรือไม่”

กรณีของพระอนุชา 2 พระองค์นี้ ในเอกสารของโซม พ่อค้าอังกฤษ ยังมีบรรยายไว้ว่า

“เป็นที่รู้กันว่ายังมีพระอนุชาอีก 2 พระองค์ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระเชษฐาทรงทำโทษโดยตัดขาดออกจากราชวงศ์ คิดจะแก้แค้นพระองค์ แม้กระทั่งพระศพของพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พยายามเข้าไปทำลาย แต่ถูกพระชายาขอร้องไว้ให้รอจนกว่าใกล้สวรรคตจึงค่อยเข้าไปฆ่าเป็นการแก้แค้น

วันที่ 28 มิถุนายน เวลาค่ำ ออกพระเพทราชา ผู้สำเร็จราชการ ได้จับพระอนุชาทั้งสองพระองค์และพระชายามาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์จนสิ้นพระชนม์เมื่อค่ำวันที่ 30 มิถุนายน ประมาณ 2 ทุ่ม หลังจากนี้ ออกพระผู้สำเร็จราชการได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์และราชวงศ์สืบต่อมา”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในบันทึกจดหมายของพ่อค้าอังกฤษก็แตกต่างจากข้อมูลแหล่งอื่น ยังไม่นับเรื่องข้อเท็จจริงเรื่องการคิดแก้แค้นที่เล่ากันมาข้างต้น

สำหรับเรื่องวันที่ของเหตุการณ์ บางแห่งบอกว่า ในช่วงต้นมิถุนายน ช่วงใกล้เคียงกับวันที่ฟอลคอน ถูกประหาร หลวงสรศักดิ์ให้อัญเชิญพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย เสด็จขึ้นไปยังลพบุรี พระอนุชาทั้งสองไม่ทันเข้าใจเหตุแห่งการอัญเชิญมาจึงถูกประหารชีวิต ณ วัดซาก เช่นเดียวกัน ข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์อย่างปรีดี พิศภูมิวิถี ก็บ่งชี้ว่า “เจ้าฟ้าอภัยทศทรงถูกสำเร็จโทษไปแล้วตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชยังไม่สวรรคต” (แต่ยังมีคนเชื่อว่าไม่สิ้นพระชนม์จนเกิดกบฏธรรมเถียรหลังพระเพทราชาครองราชย์ไม่นาน)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปรีดี พิศภูมิวิถี แปล. หอกข้างแคร่. กรุงเทพฯ : มติชน. 2556.

__________. “332 ปี ปฏิวัติสมเด็จพระนารายณ์ฯ ในจดหมายพ่อค้าอังกฤษ”. ใน ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2563.

กิติกร มีทรัพย์. “เมืองลพบุรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ มุมมองทางจิตวิทยาประวัติศาสตร์ (Psychohistory Viewpoint)”. ใน ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2563