เผยแพร่ |
---|
วันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดของประเทศ และขอเดินทัพผ่านไทยไปโจมตีอังกฤษที่พม่า อินเดีย และมาเลเซียทางใต้ รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจตอบรับตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านและประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ แต่มีคนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วย เห็นว่าการยินยอมเช่นนั้นเท่ากับเราสูญเสียเอกราช
นั่นทำให้เกิดการก่อตั้งขบวนการต่อสู้ที่เรียกว่า “เสรีไทย” ขึ้น
เสรีไทยทำงานใต้ดิน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในและนอกประเทศ และมีบุคคลหลากหลายอาชีพเข้าร่วมเป็นเสรีไทย รวมทั้งนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ กำพล จำปาพันธ์ เขียนไว้ในบทความชื่อ “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ : นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศิลปวัฒนธรรม, มีนาคม 2560)
มกราคม 2488 พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ เสรีไทย (ที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการและหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทยแต่งตั้งเป็น “นายทหารสารวัตรใหญ่” เพื่อสะดวกในการเดินทางได้ทั่วประเทศ โดยไม่เป็นที่สงสัย) หารือกับ นายปรีดี เพื่อดำเนินงานผลักดันฐานทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทยขั้นแตกหัก ขบวนการเสรีไทยจะต้องมี “หน่วยทหารลับพร้อมรบแบบสงครามกองโจร” (Gurrilla Warfare) ที่สามารถทำการรบทั้งในป่าและในเมือง, มีระเบียบวินัยแบบทหารและสามารถใช้อาวุธที่ฝ่ายพันธมิตรส่งมาให้ทางอากาศ
พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ เสนอว่าผู้ที่จะเหมาะสมกับหน่วยทหารลับพร้อมรบคือ “นิสิติชายจุฬาฯ”
ด้วยขณะนั้นมหาวิทยาลัยปิดการเรียนการสอนเพราะภัยสงคราม นิสิตชายเป็นยุวชนทหาร ผ่านการฝึกวิชาทหารตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา นายปรีดี พนมยงค์ เห็นด้วยและอนุมัติให้ดำเนินการได้ทันที
พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ จึงได้ขอเข้าพบ หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล ก็อนุญาตให้นิสิตไปช่วยราชการคับขันได้ โดยให้เป็นความสมัครใจของนิสิตชายแต่ละคน พร้อมกันนั้นได้ทำหนังสือเวียนไปยังคณบดีคณะต่าง ๆ ให้เรียกนิสิตชายทุกคนมาเข้าร่วมประชุมเป็นการด่วนในวันที่ 15 มีนาคม 2488 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การรับสมัครนิสิตจุฬาฯ เพื่อไปเป็นทหารลับของเสรีไทย ต้องกระทำอย่าง “ปิดลับ” พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ แม้จะขอกล่าวเชิญชวนในที่ประชุม แต่คงไม่สามารถพูดได้ชัดเจนเต็มที่ จึงได้ใช้วิธีให้คนไปกระซิบบอกต่อ ๆ กันในที่ประชุมนั้น ดังปรากฏในบันทึกของผู้ร่วมในเหตุการณ์อีกท่านหนึ่งดังนี้
“พล.ร.ต. สังวรฯ ได้ลุกขึ้นกล่าวอารัมภบทและชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเปิดรับสมัครนักเรียนนายทหารสารวัตรครั้งนี้ ท้ายสุดได้ขอร้องให้บรรดานิสิตทั้งหมดเสียสละเพื่อประเทศชาติ โดยสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายทหารสารวัตร ในตอนแรกบรรดานิสิตทั้งมวลต่างงวยงง และไม่สู้เข้าใจในคำพูดของท่านสารวัตรใหญ่เท่าใดนัก ทว่าต่อมามีการกระซิบบอกกันเป็นทางลับ ๆ ว่า การเป็นนักเรียนนายทหารคราวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อไปสู้รบต่อต้านญี่ปุ่นนั่นแหล่ะ บรรดานิสิตทั้งหมดจึงเข้าใจ ต่างได้สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนทหารสารวัตร”
วันที่ 15 มีนาคม 2488 มีนิสิตชายเข้าร่วมประชุมราว 300-400 คน หลังจากนิสิตทุกคนทราบถึงวัตถุประสงค์ของการเรียกประชุมวันนี้แล้ว มีนิสิตตัดสินสมัครเข้าร่วมจำนวนมากถึง 300 กว่าคน ทั้งหมดเป็นคนหนุ่มอายุราว 18-23 ปี เมื่อตรวจโรคเสร็จแล้ว มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 298 คน แบ่งเป็น 2 หน่วย คือ หน่วยรบ 273 คน และหน่วยสื่อสาร 25 คน หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ยังได้ให้การสนับสนุนแก่นิสิต โดยอนุมัติเงินรายได้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมทบจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นิสิตในระหว่างไปปฏิบัติราชการลับนี้ด้วย
15 เมษายน 2488 โรงเรียนนายทหารสารวัตรเปิดเรียน การเรียนเหมือนอย่างโรงเรียนนายร้อย แต่มีหลักสูตรรวบรัดเพียง 1 ปี มีการสอนการบรรยายในห้องเรียน การฝึกเช้าเย็นเมื่อเรียนผ่านไปได้ระยะหนึ่ง
การเปิดโรงเรียนนายทหารสารวัตรในครั้งนั้น นายพล นากามูระ (พลโท นากามูระ อาเกโตะ) แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จับตาดูโรงเรียนแห่งนี้อย่างใกล้ชิด แต่ นายปรีดี พนมยงค์ นายทวี บุณยเกตุ และ พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ก็ได้อาศัยสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับญี่ปุ่น เข้าพบและพูดคุยอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีหน่วยทหารสารวัตร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระหว่างสงคราม และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อแม่ทัพญี่ปุ่น ได้มีการเชิญ “หน่วยงิ” ของญี่ปุ่น ให้มาถ่ายทำสารคดีไปเผยแพร่ว่า ไทยกับญี่ปุ่นร่วมวงศ์ไพบูลย์เดียวกันอย่างเหนียวแน่นอีกด้วย
ดังนั้น ถึงแม้ว่า นายพล นากามูระจะสงสัยระแคะระคาย แต่ก็ไม่อาจสั่งปิดโรงเรียนนี้ได้
กรกฎาคม 2488 มีการทยอยส่งนักเรียนนายทหารสารวัตรทั้ง 298 นาย ไปยังค่ายสวนลดาพันธุ์ ตั้งอยู่ที่วัดเขาบางทราย อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่าเพื่อไปฝึกภาคสนามสร้างความชำนาญ แต่ที่จริงค่ายสวนลดาพันธุ์ ได้เตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ทิ้งร่มลงมาไว้ให้ที่บ้านมาบตาพุด จังหวัดระยอง ถูกลำเลียงมาเก็บไว้ที่ค่าย เพื่อรอนักเรียนนายทหารสารวัตรแล้ว
และมีนายทหารอเมริกันหลายนายโดดร่มลงมาอยู่ที่ค่ายนี้โดยมี “พันตรี ฟรานซิส” เป็นหัวหน้า การฝึกรบต่อต้านญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง มีครูฝึกทหารอเมริกันรับผิดชอบควบคุมทุก ๆ หน่วย มีการสอนใช้อาวุธทันสมัย ตลอดจนยุทธวิธีการรบ จนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงคราม แต่การฝึกของนักเรียนนายทหารสารวัตรยังคงดำเนินต่อมาจนจบหลักสูตรในเดือนกันยายน 2488 และได้เข้าร่วมพิธีการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488
เมื่อสงครามยุติลง แต่ทหารญี่ปุ่นบางหน่วยยังไม่ยอมแพ้ตามพระราชโองการของพระจักรพรรดิ โจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วประเทศ ชาวจีนส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ก่อเหตุจลาจลยิงกันกลางเมืองหลวง นักเรียนนายทหารสารวัตรที่เตรียมไว้รบกับญี่ปุ่น ก็เลยถูกส่งมารบปราบปรามคนจีนที่ก่อความวุ่นวายนี้แทน โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ใช้ชื่อว่า “สารวัตรทหารตำรวจผสม” (สห.-ตร.-ผสม)
บางส่วนก็ทำหน้าที่ประสานงานกับทหารสหประชาชาติที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย การปราบปรามดำเนินไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2488 เหตุการณ์จึงสงบ นักเรียนนายทหารสารวัตรทั้งหมดจึงได้กลับเข้ากรมกอง
วันที่ 1 ธันวาคม 2488 นักเรียนนายทหารสารวัตรก็ได้รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ทำพิธีประดับยศ ณ กรมสารวัตรทหาร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2488 หลังจากนั้นนักเรียนทหารสารวัตรกลุ่มนี้ก็ได้สลายตัว บางส่วนกลับเข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางส่วนสมัครเข้ารับราชการเป็นตำรวจ อีกส่วนเข้ารับราชการกรมศุลกากร และบางคนก็หันไปประกอบอาชีพส่วนตัว
หลังสงครามยุติและเหตุการณ์บ้านเมืองสงบ อดีต นร.สห. 2488 ได้รวมตัวกันในนาม “ชมรมนักเรียนสารวัตรทหาร 2488” เป็นกลุ่มนัดพบปะสังสรรค์ ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี ต่อมาในเดือนเมษายน 2534 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสืออนุมัติให้ใช้สถานที่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสร้าง “อนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488” และดำเนินก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2538
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 16 พฤษภาคม 2563