เผยแพร่ |
---|
คนจีนอพยพที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยนั้นมีหลายกลุ่ม ที่สำคัญมีกลุ่มหนึ่งคือ คนจีน “แต้จิ๋ว” โดยเฉพาะในสมัยกรุงธนบุรีต่อกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่เริ่มมีบทบาทสำคัญมาก ทั้งทางด้านการค้าและการปกครอง
สามารถแบ่งคนจีนแต้จิ๋วออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคหบดี และกลุ่มเจ้าหน้าที่ท่าเรือ
กลุ่มคหบดี คือเจ้าของสำเภาขนาดใหญ่ที่แล่นค้าขายระหว่างจีนกับไทย แต่คนจีนกลุ่มนี้มักว่าจ้างให้ผู้อื่นดำเนินธุรกิจซื้อขายแทน ขณะที่คนจีนที่เป็นเจ้าของสำเภาขนาดย่อมลงมา ที่มีฐานะปานกลางจะดำเนินกิจการด้วยตนเอง เป็นนายเรือเอง
กลุ่มเจ้าหน้าที่ท่าเรือ คือพวกท่าเรือ รับผิดชอบหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ค่าภาษี ค่าเทียบท่า ฯลฯ มีความรอบรู้ เฉลียวฉลาด นอกจากนี้ ยังมีคนจีนอีกกลุ่มซึ่งเป็นลูกเรือ แต่ไม่มีบทบาทสำคัญนัก เพราะเป็นคนจีนอพยพมาใช้แรงงาน แสวงหาลู่ทางหากินใหม่ ส่วนใหญ่เป็นชาวนาและมีฐานะยากจน
แต่คนจีนทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นคนจีนแต้จิ้วที่อพยพมาปักหลักในไทยทั้งสิ้น คนจีนแต้จิ๋วที่สำคัญเช่น
อ๋องไหล่หู (Ong Lai-Hu) และบุตรครโตคือ มั่วเส็ง (Mua Seng) ทั้งสองรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำการค้าขายระหว่างจีนกับไทย มั่วเส็งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอภัยพานิช ส่งสำเภา 10-15 ลำไปค้ายังกว้างตุ้งในนามของพระมหากษัตริย์ไทย และมีสิทธิ์ต่อเรือได้เอง บุตรอีกคนหนึ่งของอ๋องไหล่หูคือ จีนเรือง (Chin Ruang) เป็นเศรษฐีอยู่ที่จันทบุรี ภายหลังก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เช่นกัน
หลิน หงู่ (Lin Ngou) หรือ หลิน วู่ (Lin Wu) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระพิไชยวารี รับผิดชอบการค้าสำเภาหลวง คนจีนแต้จิ๋วอีกคนหนึ่งคือ จีนกุน เป็นหลานชายของอ๋อง เฮงฉวน (Ong Heng-Chuan) และบุตรของจีนกุ๋ย ได้รับแต่งตั้งเป็นกรมท่าซ้าย แต่ได้ลาออกไปทำการค้า ต่อมาถูกบังคับให้ตัดผมเปียและเข้ารับตำแหน่งใหม่สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และรัชกาลที่ต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์
จีนกุ๋ย มีหน้าที่รับผิดชอบการค้าสำเภา บ้านอยู่ที่ตำบลบ้านคลองโรงช้าง ราชบุรี บุตรชายคือจีนกุน ได้รับราชการแล้วย้ายมาอยู่ที่แม่กลอง สมุทรสงคราม ก่อนจะโยกย้ายมาอยู่หน้าวัดเลียบ กรุงเทพฯ แล้วยกที่ดินที่บ้านเดิมให้สร้างวัด คือวัดใหญ่
สันนิษฐานว่าจีนกุนใกล้ชิดสนิทสนมกับรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ทรงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และเมื่อย้ายมาอยู่ที่สมุทรสงครามก็คงคุ้นเคยกับพระญาติของพระมเหสีในรัชกาลที่ 1 มาก่อน จีนกุนจึงรับราชการเป็นขุนนางมีบรรดาศักดิ์ใหญ่โต มั่งคั่ง จนเรียกกันว่า “เจ๊สัวกุน” คำว่าเจ๊สัวเพี้ยนมาจากเจ้าสัว ซึ่งมาจากคำว่า โจ้ซาน (Cho Shan) ภาษาฮกเกี้ยน แปลว่าคนร่ำรวย ใจบุญสุนทาน
จีนกุนหรือเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์รับราชการจนถึงรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงแก่อสัญกรรม เป็นต้นสกุล “รัตนกุล”
คนจีนแต้จิ๋วอีกคนคือ จีนเต้กฮะ มาจากตำบลคังตึ้ง เมืองซ่านโถว เป็นทายาทคนที่ 22 ของตระกูล “ตั้ง” เกิดในแผ่นดินพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง เดินทางเข้ามาในไทยเมื่อย่างสู่วัยกลางคน ทำการค้าขายตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รับราชการและค้าขายจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีราชอากร มีภรรยาที่เมืองจีน แซ่ “จู” มีบุตรด้วยกันคน 6 คน บุตรคนโตได้สืบทอดกิจการในเมืองไทยและรับราชการจนได้เป็น พระยาสมบัติวานิช เป็นต้นสกุล “สมบัติศิริ”
นอกจากคนจีนแต้จิ้วจะมีบทบาทในด้านการค้าแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังโปรดเกล้าฯ ให้คนจีนแต้จิ๋วรับราชการช่วยเหลืองานด้านทหาร กล่าวคือ ในปี 2314 คราวสงครามตีเมืองบันทายมาศ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้รองเจ้ากรมท่าซ้ายชื่อ พระยาพิพิธ เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาราชาเศรษฐีครองเมืองบันทายมาศ โดยมีทหารจีนจำนวนหนึ่งเป็นกองกำลัง
คนจีนแต้จิ๋วกลุ่มนี้ เป็นคนจีนอพยพกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาในไทย มีบทบาทสำคัญต่อการปกครองและเศรษฐกิจ มีส่วนช่วยวางรากฐานและพัฒนาบ้านเมืองไม่น้อย กระทั่งสืบตระกูลกันหลายชั่วคน จนกลายเป็นคนไทยในที่สุด
อ้างอิง :
สุภางค์ จันทวานิช และคณะ. (2534). ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและในภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซ่าน : สมัยที่หนึ่งท่าเรือจางหลิน (2310-2393). โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2563