อนามัยเรื่อง “กิน” เพื่อความปลอดภัยจากอหิวาต์ สมัยจอมพล ป.

จอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิง (ภาพจากหนังสือนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฯ)

“กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” คาถาหนึ่งที่ท่องกันจนขึ้นใจ และใช้กันอย่างจริงจังเมื่อเกิดโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ จนถึงโควิด19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ แล้วในอดีตที่ผ่านรัฐบาลก็มีมาตรการให้ความรู้เรื่อง “สุขอนามัย” แก่ประชาชนเช่นกัน ดังที่ในหนังสือ “ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ” ที่พิมพ์ตามคำสั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

หนังสือ“ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ” ในส่วนของวัธนธัมเกี่ยวแก่การบริโภค มีอยู่ 3 เรื่องที่กล่าวถึงสุขอนามัย ได้แก่ 1. ระเบียบการบริโภคอาหาร 2. การไช้ช้อนส้อมเปนเครื่องมือรัปบระทานอาหาร 3. หย่าเปิบข้าด้วยมือ  โดยทั้ง 3 เรื่องนั้นรัฐบาลออกเป็น ประกาสสภาวัธนธัมแห่งชาติ, ประกาสกะซวงการสาธารนะสุข และคําแนะนําของกรมประชาสงเคราะห์  ในช่วงปี 2485-86

Advertisement

สถานการณ์ของประเทศในช่วงปี 2485-86 นั้น เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ (2482-88), อหิวาต์ระบาดใหญ่ (2486-2490) ช่วง 5 ปีมีการระบาดใน 50 จังหวัด มีผู้ป่วยรวม 19,169 ราย แต่เสียชีวิตสูงถึง 13,036 ราย เฉพาะปี 2486 มีผู้ป่วย 2,030 ราย เสียชีวิต 1,410 ราย [1]

รายละเอียดเกี่ยวกับวัธนธัมการบริโภคทั้ง 3 เรื่อง ที่ในหนังสือ“ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ” [คงตัวสะกดไว้ตามต้นฉบับเดิม และจัดย่อหน้าใหม่ และเน้นโดยผู้เขียน] มีรายละเอียดดังนี้ [2]

ประกาสสภาวัธนธัมแห่งชาติ

เรื่อง ระเบียบการบริโภคอาหาร

ด้วยสภาวธนธันแห่งชาติพิจารนาเห็นว่า การบริโภคอาหารอันเป็นกิจประจาวันของคนไทยในปัจจุบัน ยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมาะสมกับวัธนธัมของชาติ จึงเห็นควนกำหนดระเบียบ สําหรับปติบัติไว้ดั่งต่อไปนี้

ข้อ 1. คนไทยพึงนิยม การบริโภคอาหารไห้ตรงตามเวลา วันหนึ่งไม่เกิน 4 มื้อ

ข้อ 2. ก่อนบริโภคอาหาร คนไทยพึงชําระล้างร่างกายหรือหย่างน้อยล้างมือให้สะอาดและแต่งตัวเรียบร้อย

ข้อ 3. คนไทยพึงนิยมการบริโภคอาหารพร้อม ด้วยสมาชิกในครอบครัว

ข้อ 4. คนไทยจึงนิยมใช้อุปกรน์ เช่น ช้อนซ่อมที่สอาดและที่จัดให้ใช้ฉเพาะคนไนการบริโภคอาหาร

ข้อ 5. เมื่อบริโภคร่วมกัน คนไทยจึงนิยมไช้ช้อน หรือซ่อมกลางตักแบ่งอาหารมาเพื่อบริโภคฉเพาะตน

ขย 6. คนไทยจึงนิยมไช้โต๊ะ เก้าอี้ในเวลาบริโภคอาหาร

ข้อ 7. คนไทยพึงระวังรักสากิริยามารยาทในเวลา บริโภคอาหารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เปนที่รำคานหรือเปนที่น่ารังเกียดแก่ผู้ที่บริโภคร่วมกัน

ทั้งนี้ สภาวัธนธมแห่งชาติ หวังเป็นหย่างยิ่งว่า ประชาชนชาวไทยคงสนไจไนอันที่จะปติบัติตามระเบียบนี้โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นการแสดงถึงความร่วมมือกันบำรุงส่งเสริม และเชิดชูวัธนธัมของชาติไทยไห้ดียิ่งขึ้น

ประกาส นะ วันที่ 15 พรึสภาคม 2486

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ประธานกัมการสภาวัธนธัมแห่งชาติ

————-

ประกาสกะซวงการสาธารนะสุข

เรื่อง การไช้ช้อนซ่อมเปนเครื่องมือรับประทานอาหาร

เนื่องด้วยการไช้เครื่องมือสำหรับหยิบอาหารบริโภคแทนไช้มือดั่งที่ปรากตหยู่เกือบทั่วๆ ไนขนะนี้ ย่อมเปนกรนีหนึ่งซึ่งสแดงถึงประเพนีที่เปนระเบียบเรียบร้อยสมกับวัธนธัมของชาติ อันที่จิงประเพนีของไทยที่ไช้ช้อนซ่อมเปนเครื่องมือหยิบอาหารกินมานมนานแล้วนั้น จัดเปนวัธนธัมส่วนของคนไทยโดนฉเพาะ

จิงหยู่ที่ช้อนและซอ่มเปนเครื่องไช้ที่เริ่มทำหรือก่อเกิดขึ้นจากต่างประเทส แต่กล่าวถึงวิธีใช้แล้ว เราไม่ได้เลียนแบบชาติได ทั้งนี้เพราะชาวต่างประเทสเองที่ใช้เครื่องมือชนิดที่กล่าวก็ไช้มีดและซ่อมจิ้มอาหารแทนที่จะไช้ช้อนซ่อมเปนเครื่องมือหยิบอาหาร

การไช้ช้อนและซ่อมนี้นับวันแต่จะแพร่หลายขึ้นทุกที เพราะการไช้ช้อนซ่อมเปนวิธีที่ถูกสุขลักสนะ กล่าวคือ จะลดอันตรายเนื่อง จากการติดโรคซึ่งอาดเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใช้มือหยิบอาหาร และเปนการต้องด้วยหลักการส่งเพิ่มความเปนระเบียบ เรียบร้อย อันเปนวัธนธันของชาติ ฉะนั้นกะซวงการสาธารนะสุขจึงขอชักชวนประชาชนชาวไทย บันดาที่ยังไม่ได้ไช้ช้อนซ่อมเป็นเครื่องมือไนการรับประทานอาหารไห้ไช้ช้อนซ่อมโดยทั่วกัน

กะซวงการสาธารนะสุข

16 พรึสภาคม 2485

————

คําแนะนําของกรมประชาสงเคราะห์

เรื่อง หย่าเปิบข้าวด้วยมือ

แต่เดิมมาเราเปนชาวชาติหนึ่งที่นิยมใช้มือเป็นเครื่องพาอาหารเข้าปาก หากจะพิจารนาดูแล้ว ประโยชน์ที่จะได้รับนั้น นอกจากความสดวกและประหยัด แล้วคงไม่มีอะไรอีก โดยธัมชาติมนุสมีมือและนิ้ว สําหรับประกอบการงานและหยิบจับวัตถุอาหารที่มีรูปร่าง ตามความประสงค์ของจิตใจ ด้วยเหตุนี้เองมือและนิ้วอันเปนส่วนประกอบของมือจึ่งถูกไช้ไห้ประกอบการงานทุกสิ่ง

ชีวิตและการงานบังคับเราไห้ไช้มือหยู่เสมอ ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาพบแสงสว่างไนยามเช้าจนถึงหลับตาลงอีกครั้งหนึ่งไนยามค่ำ ตลอดเวลอันไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมงนี้ ถ้าจะตัดสินแล้วก็ต้องยอมไห้มือเปนผู้ได้รับเกียรติไนการประกอบการงานไห้แก่ร่างกายมากที่สุดสิ่งหนึ่ง งานชั้นดีที่สุด เช่นการประพรมเครื่องประทินของหอม และงานที่ต้องพบกับความสกปรกที่สุด เช่นการชำระล้างสิ่งปติกูลเหล่านี้ต้องไช้มือทั้งสิ้น

มือมีนิ้วเปนส่วนประกอบที่สำคันฉันได นิ้วก็มีเล็บเปนส่วนประกอบสำคันฉันนั้น มนุสไช้ความคมของเล็บไนการ แคะ จิก วัถตุ อาหารที่ต้องไช้ความคม โดยธัมชาติเล็บเปนอวัยวะที่งอกได้ ถ้าหากไม่ตัดออกแล้ว ล็บจะงอกยื่นออกมาพ้นนิ้ว อันเปนเหตุเสสวัตถุอาหารซอกเข้าไปติดหยู่ได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีคนไทยอีกเปนจํานวนมาก โดยฉเพาะหย่างยิ่งท่านสุภาพสตรีที่นิยมแต่งเล็บเจียนเล็บ ไห้เป็นรูปแหลมยาวยื่นออกมาพ้นส่วนปลายของนิ้ว ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะไห้โอกาสทําให้กลายเปนรังของบัคเตรี จุลินทรีย์และเสสอาหารได้ง่าย

เราท่านทั้งหลายรู้กันหยู่เต็มอกทุกคนแล้วว่า บัคเตรี จุลินทรีย์ มากมายหลายชนิด อันเปนพาหะที่จะนําโรคภัยไข้เจ็บมาสู่ มนุสนั้น กะจายหยู่ทั่วไปในอากาส และเกาะติดขยายพันธุ์ได้หย่างรวดเร็วไน วัตถุ และเสสอาหาร จึงปติเสธไม่ได้ว่าไนมือ ซอกนิ้วและปลายเล็บของเรานั้น จะไม่มีบัคเตรีอาศัยหยู่ เพื่อที่จะขจัดภัยอันนี้เอง พวกเราจึ่งสอนกันว่า “ไห้ล้างมือก่อนเปิบ”

ประการนี้จะเห็นได้ชัดแจ้งยิ่งขึ้น เมื่อพิจารนาถึงเล็บซึ่งมีซอกเล็บซอกน้อย อันเปนธัมดาหยู่เองที่บัคเตรี และสิ่งโสโครกหลายอย่างจะเข้าซ่อนตัวหยู่ได้ เมื่อเปนเช่นนี้จึ่งเปนการสมควนที่เราจะหาวิธีที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

อาหารทั้งคาวหวานขงอเราที่นิยมกินหยู่ทุกวันนี้ หากจะจำแนกออกไห้เหมาะสมกับการไช้เครื่องมือไนการบริโภคแล้ว คงจำแนกออกได้เปน 2 ชนิด คืออาหารแห้งและอาหารเหลว บางท่านเข้าไจว่าเครื่องมือไนการหยิบอาหารนั้นจำเปนฉเพาะอาหารที่หยู่ไนสภาพเหลวเท่านั้น

ส่วนอาหารแห้งคงไช้มือหยิบแทนเช่นเราเปิบข้าวด้วยมือและซดน้ำแกงด้วยช้อน ดังนี้ยังเปนการเพียงพอไนความ…………(ข้อความหาย) ต้องสงสัยเลยว่า เล็บจะกลายเปนเรือนอาศัยของจุลินทรีย์และจะเปนพาหะต่อไนการนำจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายอีกทอดหนึ่ง

เมื่อเช่นนี้ จึ่งเป็นการสมควนยิ่งที่เราท่านทั้งหลายจักได้เลิกไช้มือเปิบข้าวและไช้ช้อนแทน เครื่องมือเช่นนี้โดยปรกติจะทําความสอาดได้งาย และเก็บไว้ได้ ไนที่ที่จุลินทรีย์ไม่สามาถผ่านเข้าไปได้ เมื่อถึงคราวก็นําออกใช้ได้เลย ส่วนมือนั้นธัมชาติได้ส้างไว้ให้เปนส่วนประกอบของร่างกาย ต้องทําหน้าที่หย่างหนัก ทั้งยังมีลักสนะเปนซอกเปนร่องดังได้กล่าวเเล้ว จึ่งกล่าวได้เต็มปากว่า มือที่เปิบอาหารของเรานี่แหละ จะพาเชื้อโรคเข้าปาก

ภัยที่เกิดจ่กการเปิบอาหารด้วยมือนี้เปนมหันตภัยที่คร่าได้แม้ที่สุดชีวิตของเจ้าของมือ ตัวหย่างอันง่าย……..(ข้อความหาย)ก็คืออหิวาตกโรค…………(ข้อความหาย) เปนการสมควนที่เราท่านทั้งหลาย จักได้เลิกไช้มือเปิบอาหารเสียแต่บัดนี้ และไช้ภาชนะที่สอาดเช่นช้อนแทน นอกจากจะเปนการจําเปนจิงๆ หรือบริโภคอาหารแห้งที่ไม่มีลักสนะชื้นแฉะ เช่นผลไม้จึงค่อยไช้มือ

แต่มือนั้นควนล้างไห้สอาดด้วยน้ำและสะบู่ หากทำได้ดังนี้แล้ว เราก็จะได้ชื่อว่าได้เปนผู้ส้างทั้งชีวิตและวัธนธัมชองชาติ ซึ่งหวังเปนหย่างยิ่งว่า ท่านพี่น้องทั้งหลายคงจะร่วมจันโลงชาติ อันเปนที่รักของเราไนแง่สุขาภิบาลและวัธนธัมนี้ด้วยดีอีกครั้งหนึ่ง

2 กุมภาพันธ์ 2485

——-

ข้อมูลต่างๆ นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งให้รวบรวมพิมพ์ไว้ในหนังสือ“ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ” เพื่อแจกให้แก่พี่น้องชาวไทย, ผู้ไหย่บ้าน, กำนัน, นายอำเภอ และข้าหลวงประจำจังหวัด ช่วยในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

เชิงอรรถ

[1] นายแพทย์ประเมิน จันทวิมล. “ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย”ใน อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505

[2] กรมโคสนาการ, “วัธนธัมเกี่ยวแก่การบริโภค” ในประมวนวัธนธัมแห่งชาติ, มิถุนายน 2486


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2563