“สระอรทัยเทพกัญญา” ข่าวลือเสียหาย เสื่อมพระเกียรติยศเจ้านาย มิได้เป็นดังที่ว่าเลย

พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา สระอรทัย พระราชฐานชั้นใน วังหลวง
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ประทับทรงศีล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ถวายศีล พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ในพิธีถวายสระเทพกัญญา พระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ฉลองสระ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“สระอรทัยเทพกัญญา” ข่าวลือเสียหาย เสื่อมพระเกียรติยศ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา มิได้เป็นดังที่ว่าเลย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบัว (สกุลเดิม ณ นคร) ธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) กับท่านผู้หญิงอิน เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2402 มีพระเชษฐาและพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณเลิศ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนศิริธัชสังกาศ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดำรงฤทธิ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ทรงมีพลานามัยไม่ค่อยแข็งแรงมาแต่ทรงพระเยาว์ ประชวรกระเสาะกระแสะมานาน แต่ทรงมีพระศรัทธาตั้งมั่นอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา มีพระทัยน้อมไปในการกุศลอย่างยิ่งยวด นอกจากทรงบำเพ็ญพระกุศลตามกาลานุกาลตามพุทธศาสนประเพณีแล้ว ยังได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างศาสนาวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย

นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญกุศลอันเป็นสาธารณประโยชน์แก่มหาชนอีกด้วย อาทิ ทรงสร้างสะพานข้ามคลองเปรมประชากรที่ถนนลูกหลวง เมื่อ ร.ศ. 120 ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 5 ว่า สะพานอรไทย และ สระเทพกัญญา ที่รู้จักกันในชื่อว่า สระอรทัยเทพกัญญา ซึ่งเป็นที่มาของข่าวลือเสียหาย เสื่อมพระเกียรติยศนี้

พระยาบำเรอภักดิ์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงวังกำลังอ่านรายงานก่อสร้างสระต่อพระพักตร์พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ประทับอยู่ด้านข้างรั้วสระ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ข่าวลือว่า พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญาสิ้นพระชนม์ด้วยอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) เหตุพระโรครุมเร้า และพระวิญญาณยังวนเวียนอยู่ในเขตพระราชฐานเที่ยวหลอกหลอนชาววัง จนความทราบถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสร้างสระนี้ พระราชทานพระราชกุศลอุทิศแด่พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา แท้จริงแล้ว หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ประชวรมาช้านาน และทรงมีพระทัยน้อมไปในการบำเพ็ญพระกุศลอย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ด้วยเหตุแห่งโรคาพาธเบียดเบียนพระองค์อยู่เนือง ๆ จึงทรงบำเพ็ญพระกุศลด้วยหวังจะหายจากโรคภัยทั้งปวง ได้มีพระดำริสร้างสระดังกล่าวขึ้น โดยนำความขึ้นกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ขอ

เมื่อแล้วเสร็จได้ประกอบพิธีถวายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2448 โดยมีข้อความจารึกไว้ที่สระดังกล่าวนั้น ดังนี้

“ศุภมัสดุรัตนโกสินทร์ศก 124 สุริยคติกาลที่ 9 เดือนมีนาคม จันทรคตินิยม วันศุกร์ เดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมเสงสัปตศก จุลศักราช 1267 พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ทรงพระดำริห์ว่า จะใคร่บำเพ็ญอุทกทานให้เป็นสาธารณประโยชน์ทั่วไปในบรรดาผู้ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวังอันตั้งอยู่ ณ ที่ห่างไกลจากฝั่งน้ำ จึงนำพระประสงค์ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตแลพระราชานุเคราะห์ให้ได้ขุดสระดังความประสงค์

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโยธาในกระทรวงวัง จัดการสร้างสระนี้ กว้าง 5 วา ยาว 7 วา 2 ศอก ลึก 2 วา ได้ลงเขื่อนถือปูนสิเมนมีบันไดลาดศิลาขึ้นลง ปลูกสร้างหลังคาครอบแลรั้วกั้นแล้วสำเร็จเงิน 8,661 บาท 8 อัฐ จึ่งได้อาราธนาพระสงฆ์เจริญพระปริตพุทธมนต์รับอาหารบิณฑบาตรเป็นเบื้องต้นแห่งทาน แล้วได้มีการแจกสลากต่าง ๆ มีช้างแลกระบือเป็นอาทินับจำนวนถ้วน 5,000 สลาก ทรงบริจาคทั่วไปในบรรดาผู้ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยหวังพระทัยให้เป็นประโยชน์แลยินดีทั่วหน้า

ดังอำนาจพระเมตตาแลสาธารณทานอันได้ทรงบำเพ็ญครั้งนี้ จงเป็นอุปการวิธีกางกั้นสรรพพิบัติอันตราย ให้พระโรคเสื่อมคลายทรงพระเจริญศุขศิริสวัสดิ์สิ้นกาลนาน ทรงอุทิศพระกุศลส่วนสาธารณทานนี้แด่ท่านทั้งหลายผู้ได้อนุโมทนาจงสำเร็จความปรารถนาในทางธรรม ทั้งประจุบันแลภายน่านั้นเทอญ”

พระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์และรับพระราชทานฉัน ในพิธี มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็นประธานสงฆ์ ๒. สมเด็จพระวันรัต (ฑิต) วัดมหาธาตุ ๓.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ฤทธิ์) วัดอรุณราชวราราม ๔.หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต ที่พระธรรมปาโมกข์ วัดราชบพิธฯ เป็นต้น (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในพิธีถวายสระเทพกัญญา มีพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ฉลองสระ มีการแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 ในงานได้จัดไทยธรรมถวายพระอย่างโอฬาร สร้างพัดรองเป็นที่ระลึกด้วย ตามกำหนดการต่าง ๆ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา รุ่งขึ้นปีถัดมาก็เสด็จสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 4 เดือนเมษายน พ.ศ. 2449

ไทยธรรมถวายพระในงาน (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พระสงฆ์เสกน้ำพระพุทธมนต์แล้วเทลงในสระโดยรอบ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เพราะฉะนั้น การที่ลือกันไปต่างๆ ให้เสื่อมพระเกียรติยศ มิได้เป็นดังที่ว่าเลย การจะเขียนประวัติศาสตร์ใด ๆ ควรศึกษาให้ดีเสียก่อน เพราะมิเช่นนั้น เราจะเป็นผู้ทำลายประวัติศาสตร์เสียเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ่านเพิ่มเติมเอกสารราชกิจจานุเบกษา

ข่าวสิ้นพระชนม์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2449/002/41.PDF

ถวายสะพานอรไทย http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2445/004/61.PDF

การเปิดสระเทพกัญญา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/…/2448/051/1164_1.PDF

คำถวายรายงาน http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/051/1165.PDF


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2564