“ภารกิจด่วน” ราชสำนักชิง ประหาร-ยึดทรัพย์ “เหอเซิน” ขุนนางทุจริตสอพลอ

ภาพวาดขบวนเสด็จของพระเจ้าเฉียนหลง

แม้พระเจ้าเฉียนหลงทรงมีปณิธานว่า หากครองราชย์ถึงปีที่ 60 จะสละราชบังลังก์ให้ทายาท ทั้งทรงกระทำจริงตามที่ตรัสไว้ในปี ค.ศ. 1795 แต่ ค.ศ. 1796 หยงเหยี่ยน พระราชโอรสองค์ที่ 15 ที่เป็นรัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจียชิ่ง พระเจ้าเฉียนหลงก็ยังทรงควบคุมงานของราชสำนัก จนถึงค.ศ. 1799 เมื่อพระเจ้าเฉียนหลงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเจียชิ่งจึงทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารจัดการราชการอย่างแท้จริง

ในปีนั้นเองพระเจ้าเจียชิ่งทรงตัดสินประหารชีวิต “เหอเซิน” และยึดทรัพย์ทั้งหมดของเขา

เหอเซิน เดิมชื่อซ่านเป่า มาจากสุกลหนิ่วฮู่ลู่ เป็นชาวแมนจู มีชีวิตวัยเด็กที่ลำบาก 3 ขวบเสียแม่ 10 ขวบกำพร้าพ่อ แต่ด้วยความมุมานะ ทำให้มีโอกาสเรียนหนังสือและเข้ารับราชการ ระหว่างที่เป็นองครักษ์เคยมีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าเฉียนหลงครั้งหนึ่งซึ่งเขาได้สร้างความพอพระทัยแก่พระองค์เป็นอย่างมาก จึงได้เป็นองครักษ์ผู้ติดตาม

ในช่วงต้นของการรับราชการเหอเซินนับเป็นขุนนางซื่อสัตย์และสุจริต ขึ้นทำเนียบตงฉิน แต่ไม่นานก็เรียนรู้ที่การประจบสอพลอและติดสินบนเพื่อผ่านทางไปสู่หน้าที่การงานที่สูงขึ้น เขารู้จักที่ประจบพระเจ้าเฉียนหลงที่ทรงถือตนว่าเป็นกษัตริย์ผู้ทรงปรีชา ทุกวันจึงหาคำพูดมาสรรเสริญพระองค์จนกลายเป็นขุนนางคนสนิท ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว ตัวเหอเซินไม่นานก็ได้เป็นต้าเสวซื่อควบตำแหน่งซ่างซูในกระทรวงการคลัง, บุตรชายของเขาได้เป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าเฉียนหลง, น้องชายได้เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลเสฉวน

แน่นอนว่าเหอเซินก็เป็นผู้มีความสามารถรอบรู้ทั้งบู๊บุ๋น แต่ที่ถือเป็นความสามารถโดดเด่นที่แท้จริงของเหอเซินคือ “ความสอพลอ” เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเจ้าเฉียนหลง กลับอ่อนน้อมยิ่งกว่าขันทีทั่วไปเสียอีก เล่าว่าครั้งหนึ่งพระเจ้าเฉียนหลงจะทรงบ้วนเสมหะอย่างกะทันหัน ขันทีไม่ทันจะนำกระโถนมารอง เหอเซินรับยื่นมือไปรับเสมหะนั้นแทนเสียแล้ว

ดูเรื่องการสอพลอของเขาแล้ว ก็มาดูเรื่องการทุจริตกันบ้าง

ตัวเหอเซินเองมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต และยังมีเครือข่ายญาติที่อยู่ในราชการ ใกล้ชิดราชสำนักดังที่กล่าวไปแล้ว รวมถึงความเป็นคนโปรด เขาจึงมีอำนาจในให้คุณให้โทษไม่น้อย การติดสินบน, รีดไถเงิน ฯลฯ ล้วนอยู่ในวงจรของเหอเซิน ตั้งแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักลงมาจนถึงขุนนางเทศภิบาล หากไม่มอบเงินหรือของมีค่าให้เขาก็อย่างหวังว่าจะได้เข้าใกล้พระเจ้าเฉียนหลง

นอกจากนี้สิ่งของที่ข้าราชการถวายให้พระเจ้าเฉียนหลงต้องผ่านมือเหอเซินก่อนทุกครั้ง เขาจะเก็บชิ้นที่ดีที่สุดไว้ แล้วส่งส่วนที่เหลือเข้าวังหลวง ขุนนางผู้ใหญ่ต่างรับรู้การกระทำของเขาแต่ก็รู้ว่าเขามีอำนาจ ไม่มีไม่มีใครกล้ากล่าวโทษเขา ซ้ำร้ายยังพยายามลอกเลียนแบบอีกด้วย

ในการเตรียมงานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 80 ปี ของพระเจ้าเฉียนหลง เหอเซินก็เห็นเป็นโอกาสดีที่จะขูดรีดเหล่าขุนนางและพ่อค้า จึงถวายรายงานว่าเขาจะจัดพระราชพิธีครั้งนี้โดยไม่ต้องใช้เงินท้องพระคลังเลย เหอเซินสั่งให้ขุนนางชั้นสูงบริจาคเงินตามมากน้อยตามเงินที่ได้รับ, ข้าราชการท้องถิ่นให้บริจาค 1 ใน 4 ของเงินเดือนที่ได้รับ, พ่อค้าก็ต้องร่วมบริจาคเงิน เงินบริจาคจำนวนมหาศาลที่ได้มา เหอเซินแบ่งจำนวนกว่าครึ่งเล็กน้อยไปจัดพระราชพิธีดังกล่าว ส่วนที่เหลือเก็บเข้ากระเป๋าตนเอง

ในปี 1799 ที่พระเจ้าเจียชิ่งทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารจัดการราชการอย่างแท้จริง ทรงสั่งสอบสวนเหอเซินและประกาศความผิด 20 ข้อ ตัดสินประหารชีวิตพร้อมทั้งยึดทรัพย์ของเขาทั้งหมด

ว่ากันว่าเขามีที่ดินกว่า 8,000 ฉิ่ง, โรงรับจำนำ 75 แห่ง, บริษัทการเงิน 42 แห่ง, ร้านขายของลายคราม 13 แห่ง สวนดอกไม้ตึกสูง 106 แห่ง นอกจากนี้ยังมีเงินทองของมีค่า เสื้อผ้าเครื่องตกแต่ง ภาชนะใส่ของ เครื่องเคลือบลายครามหา ยากจำนวนมาก หากคำนวณเป็นจำนวนเงิน มีมูลค่าถึงกว่า 8 ร้อยล้านตำลึง พอๆ กับรายได้ครึ่งหนึ่งของการคลังของประเทศจีน

แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าเขาคดโกงจนร่ำรวยมาก แต่เมื่อเห็นรายการทรัพย์สินที่ยึดก็ต้องตะลึงกับความร่ำรวยผิดปกติของข้าราชการรายนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่เฉวียน (เขียน) เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย (แปล). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2563