ผู้เขียน | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกหน่วยงาน ทุกสถาบัน ย่อมมีวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้เล็งเห็นความสำคัญในด้านการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละที่ย่อมมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะงาน บุคคลเมื่อจะปฏิบัติงานใด ๆ ย่อมสำรวจตรวจตราถึงคุณลักษณะของตนเป็นเบื้องต้นว่า มีความเหมาะสมกับตำแหน่งของงานหรือไม่
ดังข้อความที่ปรากฏในหลุนอฺวี่ หรือ “ปกิณกคดี” ซึ่งเป็นคัมภีร์พื้นฐานของสำนักปรัชญาขงจื่อ ได้รวบรวมการถาม–ตอบของเหล่าศิษย์ขงจื่อ โดยได้รวบรวมขึ้นหลังจากขงจื่อถึงแก่มรณกรรมแล้ว ในหมวดครองตนเล่มที่ 4 บทที่ 14 ขงจื่อกล่าวว่า “ไม่วิตกว่าจะไม่มีตำแหน่ง แต่วิตกว่าจะไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง”
ดังนั้น เมื่อองค์กรที่เกิดขึ้นมาใหม่จึงจำเป็นต้องสร้างหลักไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งมองเห็นการณ์ไกล เข้าใจเรื่องการบริหารคน ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพื่อสร้างกำลังใจให้แก่บุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบการกระทรวงสาธารณสุขและถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 16 เล่มที่ 59 ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 และเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หากจะนับอายุก็ 78 ปีแล้ว
โดยผู้นำท่านแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคือ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม และเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ท่านแรกด้วย ตามบันทึกมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์…ที่มาแห่ง “อตฺตานํ อุปมํ กเร“ สืบค้น บันทึก เรียบเรียงโดย นายชาญณรงค์ พุ่มบ้านเช่า กล่าวไว้ว่า
“ต่อมาคณะกรรมการมหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า บนตรามหาวิทยาลัยควรมีคำขวัญปรากฏอยู่เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของนักศึกษาและบัณฑิตทั้งหลาย พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายกสภาแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ได้ขอรับภาระเป็นผู้จัดหาคำขวัญที่เหมาะสม และได้เสนอ ‘อตฺตานํ อุปมํ กเร’ ตามคำแนะนำของพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งซึ่งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยฯเห็นพ้องด้วย“
สิ่งหนึ่งได้แสดงออกถึงภาวะผู้นำของท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขท่านแรกของประเทศไทยคือการวางหลักวางเป้าหมายให้แก่บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ซึ่งในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ได้เป็นที่ประจักษ์ในเรื่องจริยวัตรบางประการที่ได้แสดงออกมาจากการนำคำในภาษาบาลีมาแต่งเป็นคำขวัญ เพราะจากบันทึกด้วยลายมือของท่านเองที่ได้เขียนไว้ในบท “คำนำ” ความว่า
“เรื่องท่องสวดมนต์นั้นตั้งแต่อยู่วัด อาจารย์สอนหนเดียวก็จำได้ จนได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าสวดมนต์ เพราะข้าพเจ้าเคยเรียนหนังสือขอม เวลาอาจารย์ต่อสวดมนต์ได้กำชับเรื่องอักขรวิบัติและออกเสียงให้ถูกต้อง เรื่องเป็นหัวหน้าสวดมนต์นี้เป็นเรื่องแปลก เพราะตั้งแต่อยู่โรงเรียนสามัญมีการสวดนมัสการคุณานุคุณตามแบบกระทรวงธรรมการก็ดี หรือแม้เมื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยก็ดี ข้าพเจ้าถูกทำหน้าที่หัวหน้าสวดมนต์ตลอดเวลาจนออกเป็นนายทหาร”
ด้วยเหตุนี้คำขวัญดังกล่าวจึงถูกแต่งขึ้นมาใหม่ด้วยภาษาบาลีนั่นเอง
คำขวัญ “อตฺตานํ อุปมํ กเร” อ่านว่า อัด–ตา–นัง อุ–ปะ–มัง–กะ–เร เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ข้อที่ 20 ตามที่ได้มีการอ้างถึงทองย้อย แสงสินชัย (นำมาจากเว็บไซต์เสรีชน:เสรีธรรม) ความว่า ข้อความเดิมเป็นดังนี้
สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส สพฺเพ ภายนฺติ มจฺจุโน
อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา น หเนยฺย น ฆาตเย.
(สัพเพ ตะสันติ ทัณฑัสสะ สัพเพ ภายันติ มัจจุโน
อัตตานัง อุปะมัง กัตวา นะ หะเนยยะ นะ ฆาตะเย)
แปลความว่า
สรรพสัตว์ย่อมหวาดหวั่นต่อการถูกทำร้าย
สรรพสัตว์ย่อมหวาดกลัวต่อมฤตยู
บุคคลเปรียบเทียบตนกับคนอื่นแลไม่ควรทำร้ายหรือฆ่าใคร ทั้งไม่ควรให้ใครทำด้วย
และอีกบทหนึ่ง ข้อความเดิมเป็นดังนี้
สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ
อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา น หเนยฺย น ฆาตเย.
(สัพเพ ตะสันติ ทัณฑัสสะ สัพเพสัง ชีวิตัง ปิยัง
อัตตานัง อุปะมัง กัตวา นะ หะเนยยะ นะ ฆาตะเย)
แปลความว่า
สรรพสัตว์ย่อมหวาดหวั่นต่อการถูกทำร้าย
ชีวิตย่อมเป็นที่รักของสรรพสัตว์
บุคคลเปรียบเทียบตนกับคนอื่นแล้ว
ไม่ควรทำร้ายหรือฆ่าใคร ทั้งไม่ควรให้ใครทำด้วย
อธิบายขยายความ
ข้อความเดิมในวรรคที่ว่า “อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา“ ถูกนำมาดัดแปลงเป็น “อตฺตานํ อุปมํ กเร“ คือ แปลง “กตฺวา“ (แปลว่า “ทำแล้ว“) เป็น “กเร” (แปลว่า “พึงทำ“) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางไวยากรณ์
ดังนั้น “อตฺตานํ อุปมํ กเร” แปลตามศัพท์ว่า “(เขาหรือเธอ) พึงทำซึ่งตน ให้เป็นเครื่องเปรียบ“ แปลเอาความว่า “พึงทำตนให้เป็นอุปมา“ อธิบายว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น หัวอกเราอย่างไร หัวอกคนอื่นก็อย่างนั้น เมื่อจะกระทำอะไรแก่ใคร ให้ลองนึกดูเสียก่อนว่า หากมีผู้มากระทำเช่นนั้น ๆ แก่เรา เราจะมีความรู้สึกอย่างไร คิดอย่างนี้ตรงกับคำกล่าวที่กล่าวว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นเอง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว บุคลากรทางด้านสาธารณสุขทุกท่านจึงปฏิบัติตนตามแนวทางดังกล่าวอย่างห้าวหาญเป็นนักรบเสื้อกาวน์ เป็นกองทัพหน้าสู้รบกับสงครามแห่งโรคระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างหนัก จนบุคลากรทางสาธารณสุขต้องขอความร่วมมือจากคนไทยทั่วทั้งประเทศด้วยวลีที่ว่า “หมอทำงานหนักที่โรงพยาบาล…เพื่อคุณ…ขอคุณพักอยู่ที่บ้าน…เพื่อพวกเรา…”
สิ่งที่เป็นเหตุผลที่ข้อความดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะบุคลากรทางด้านสาธารณสุขมีคำขวัญกำลังใจคือ อตฺตานํ อุปมํ กเร นั่นเอง