เรื่องจริงของ “ไทฟอยด์ แมรี่” หญิงไอริชถูกกล่าวหาแพร่โรคในนิวยอร์ก โดนกักตัวกว่า 20 ปี

ไทฟอยด์ แมรี่ นอน บน เตียง ใน โรงพยาบาล
แมรี่ มัลลอน (ซ้ายสุด) บนเตียงในโรงพยาบาล (ภาพจาก Wikimedia Commons- public domain

เรื่องจริงของ “ไทฟอยด์ แมรี่” หญิงไอริชถูกกล่าวหาแพร่โรคในนิวยอร์ก โดนกักตัวกว่า 20 ปี

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นิวยอร์ก และอีกหลายเมืองทั่วโลกต่างเผชิญหน้ากับโรคไข้รากสาดน้อย หรือโรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) โรคระบาดที่มีผู้ติดเชื้อหลายพันรายต่อปี รายงานข่าวเผยอัตราส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1 ต่อ 10

ช่วงเวลานั้นบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อแบบสมบูรณ์ และต้องจ้างนักระบาดวิทยามาสืบหาที่มา ซึ่งนักสืบรายนี้เชื่อว่า แมรี่ มัลลอน (Mary Mallon) (ซึ่งภายหลังเรียกกันว่า “ไทฟอยด์ แมรี่”) ลูกจ้างที่ทำงานในบ้านและทำอาหารให้กับครอบครัวคนรวยเป็นผู้แพร่เชื้อ แต่ข้อเท็จจริงแล้ว มีข้อมูลที่พอยืนยันว่า เธอแพร่เชื้อจนผู้อื่นติดโรคและถึงแก่ความตายเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

เดิมทีนั้น มัลลอน กำเนิดในไอร์แลนด์ เมื่อปี 1869 ต่อมาเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาในช่วงวัยรุ่นราวค.ศ. 1883 หรือ 1884 เธออาศัยอยู่กับป้า และเริ่มทำงานเป็นแม่บ้านรับใช้ให้กับครอบครัวคนมีฐานะหลายแห่งในนิวยอร์กก่อนจะมาทำงานเป็นแม่ครัว ซึ่งแน่นอนว่า จ่ายค่าจ้างมากกว่างานก่อนหน้านี้ของเธอ ในปี 1906 เธอทำงานให้ครอบครัวของชาร์ลส เฮนรี่ วอร์เรน (Charles Henry Warren) นายธนาคารที่ร่ำรวยในลอง ไอส์แลนด์ (Lond Island) มีข้อมูลบันทึกว่าระหว่างวันที่ 27 สิงหาคมถึง 3 กันยายน ผู้อาศัยในบ้านพักที่เธอทำงานมีอาการโรคไข้ไทฟอยด์ 6 รายจากผู้อาศัย 11 ราย

ช่วงเวลานั้นโรคไข้ไทฟอยด์ เป็นโรคที่มีอัตราเสี่ยงถึงแก่ชีวิตในอัตราร้อยละ 10 ผู้ติดโรคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชนชั้นขาดแคลนสิ่งของยังชีพในเมืองใหญ่มากกว่า ขณะที่ครอบครัววอร์เรน เป็นคนมีฐานะร่ำรวย  พวกเขาจึงจ้างจอร์จ โซเปอร์ วิศวกรสุขาภิบาล (Sanitary Engineer) ให้มาตรวจสอบที่มาของการระบาด ภายหลังจอร์จ ยังเผยแพร่ผลการสอบสวนของเขาเมื่อปี 1907

ในเบื้องต้น เชื่อกันว่าสาเหตุของการติดโรคมาจากหอยลายอาจเป็นต้นเหตุ แต่ผู้ป่วยบางรายไม่ได้ทานหอยลายเข้าไปด้วยซ้ำ เมื่อโซเปอร์ สอบสวนผู้ติดเชื้อและผู้ที่อยู่ในบ้านทั้งหมด โซเปอร์ เชื่อว่า แมรี่ เป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง

โซเปอร์ ตรวจสอบประวัติการทำงานของแมรี่ และพบว่า ในระยะเวลา 6 ปี มีเคสผู้ป่วยโรคไข้ไทฟอยด์อีก 22 รายในบ้านที่แมรี่ เคยทำงานอยู่ รายหนึ่งมีอาการสาหัส ในช่วงเวลานั้น ยังไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับพาหะของโรคที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงอยู่มาก่อน เขาจึงยิ่งสนใจและมุ่งเป้ามาที่แมรี่ เป็นหลัก

โซเปอร์ มาที่บ้านพักของเธอและลูกจ้างรายอื่น เขาขอเก็บตัวอย่างปัสสาวะ อุจจาระ และเลือด เพื่อตรวจสอบสมมติฐานของเขา บันทึกที่โซเปอร์ เล่าอธิบายว่า เธอตกใจกับคำสั่งที่ได้ยินและปฏิเสธคำขอของโซเปอร์ จากนั้นแมรี่ ถือส้อมและปรี่เข้ามาไล่เขาออกไป หลังจากร้องขอไปหลายครั้งและต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์ก มัลลอน ถูกควบคุมตัวเพื่อไปตรวจสอบ ผลการตรวจออกมาเป็นบวก เธอเป็นพาหะของไข้ไทฟอยด์ และถูกเคลื่อนย้ายไปกักตัวในกระท่อมเล็กๆ ในพื้นที่ของโรงพยาบาลแถบนอร์ธ บรอเธอร์ ไอส์แลนด์ ( North Brother Island)

แมรี่ ใช้เวลากับการกักตัวถึง 2 ปีก่อนที่เธอจะตกเป็นข่าวในหน้าสื่อ นามที่เรียกขานกันในหน้าสื่อเกี่ยวกับเธอคือ “ไทฟอยด์ แมรี่” แน่นอนว่าเป็นชื่อที่ทำให้เธอโกรธเคืองอย่างมาก เธอปฏิเสธเรื่องที่ว่าเธอจะเป็นพาหะในขณะที่ร่างกายเธอเองยังแข็งแรงและปฏิเสธข้อเสนอตัดถุงน้ำดีของเธอเพื่อให้ถูกปล่อยตัวและกลับไปทำงานเดิมได้

กว่าที่เธอจะได้รับอิสระ เวลาก็ล่วงเลยไปถึงปี 1910 เธอถูกปล่อยภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่ทำงานแม่ครัวและเกี่ยวข้องกับงานด้านอาหารอีก และจะปฏิบัติตามคำสั่งด้านสุขอนามัย มีรายงานว่า ไม่กี่เดือนต่อมา แมรี่ ทำงานด้านซักรีด แต่ด้วยค่าจ้างอันน้อยนิด เธอจึงต้องเปลี่ยนชื่อและกลับมาทำงานอาหารอีก

หลังจากนั้นเธอถูกพบว่าทำงานในห้องครัวของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่มีโรคไข้ไทฟอยด์ระบาด ในปี 1912 ทีมตรวจสอบเคสการระบาดของไข้ไทฟอยด์ ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 25 ราย ทีมพบว่า แม่ครัวก็คือแมรี่ มัลลอน ซึ่งใช้ชื่อใหม่ว่า “แมรี่ บราวน์” หลังจากนั้นเป็นต้นมาเธอจึงถูกตีตราว่าเป็น “ไทฟอยด์ แมรี่” วลีนี้ไปปรากฏในหน้าสื่อ การ์ตูน หรือแม้แต่พจนานุกรมการแพทย์

แมรี่ ถูกนำตัวกลับที่กักกันเดิมและถูกกักตัวจนกระทั่งเสียชีวิต ในช่วงคริสต์มาส ของปี 1932 ผู้ที่รับหน้าที่นำอาหารไปมอบให้เธอ พบร่างของเธอนอนหมดสติอยู่ เธอมีอาการชัก หมดสติเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก นั่นทำให้เธอไม่สามารถลุกเดินได้อีก เธออยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลริเวอร์ไซด์ อีก 6 ปีหลังจากนั้น และเสียชีวิตลงในปี 1938 ศพของเธอถูกนำไปฝังในสุสานย่านบรองซ์ (Bronx)

มีรายงานในภายหลังว่า ทางการพบพาหะที่มีสุขภาพสมบูรณ์รายอื่นที่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นอีกหลายราย แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่ากับชื่อ “ไทฟอยด์ แมรี่”

จูดิธ วอลเซอร์ เลวิตต์ นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ “Typhoid Mary: Captive to the Public’s Health” ระบุว่า ในช่วงเวลาที่เธอถูกกักตัวรอบสอง เธอไม่ใช่พาหะรายเดียวซึ่งเป็นที่รู้จัก แต่ความจริงแล้วยังมีคนแบบเธออีกนับพันรายทั่วประเทศ ในนิวยอร์กน่าจะมีหลักร้อยราย แม้แต่ในปัจจุบันก็พบว่า การเป็นพาหะโรคเฉพาะเจาะจงตระกูลนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาด เดนิส โมแน็ค (Denis Monack) นักจุลชีววิทยาจากแสตนฟอร์ด กล่าวว่า ประมาณร้อยละ 6 ของผู้มีอาการไทฟอยด์ สามารถแพร่โรคนี้ได้แม้กระทั่งพวกเขาไม่มีอาการบ่งชี้โรค

ข้อมูลบางแห่งระบุว่า เคสที่พอตรวจสอบและยืนยันได้ว่าติดเชื้อมาจากมัลลอน น่าจะมีราว 51 เคส และในจำนวนนั้นมีผู้เสียชีวิต 3 ราย หากเทียบกับเคสของ โทนี่ ลาเบลลา (Tony Labella) แรงงานเกี่ยวกับอาหารอีกรายในนิวยอร์ก ก็เป็นอีกรายที่ถูกรายงานว่าแพร่เชื้อ 2 ครั้งใหญ่ซึ่งมีผู้ป่วยรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ราย เสียชีวิต 5 ศพ

กรณีของแมรี่ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ยังเป็นหัวข้อถกเถียงอีกหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อผู้ป่วย กระบวนการรักษา หรือแม้แต่การปฏิบัติกับเธอราวกับหนูทดลอง เธอถูกทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า

บทเรียนจากกรณีแมรี่ มัลลอน ไม่เพียงมีขอบเขตอยู่ในหัวข้อเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ป่วยเท่านั้น แต่ในอีกด้าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โรคระบาดในยุคใหม่อีกร้อยปีต่อมาว่า การไม่ปรากฏอาการ ไม่ได้หมายถึงผู้นั้นปราศจากการติดเชื้อ

อีกประการหนึ่งคือ การแพร่เชื้อของแมรี่ สู่นายจ้างหรือครอบครัวที่เธอทำงานด้วย เบื้องต้นแพทย์ตั้งข้อสังเกตว่า เธอแพร่เชื้อลงในอาหารเนื่องจากล้างมือไม่สะอาดก่อนมาทำอาหาร แต่ในอาหารที่ถูกปรุงด้วยความร้อน เชื้อก็น่าจะถูกฆ่าตายหมดแล้ว โซเปอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีอาหารจานหนึ่งที่ไม่ได้ถูกปรุงสุกด้วยความร้อน นั่นคือไอศกรีม แมรี่ทำไอศกรีมที่มีพีชสดและแช่แข็งเอาไว้ บันทึกของโซเปอร์ เขียนไว้ว่า

“ผมคิดว่าไม่มีวิธีไหนที่จะเกินไปว่าแม่ครัวไม่ได้ล้างมือให้สะอาดและนำเชื้อไปติดสู่ครอบครัว” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

CHRISTOPHER KLEIN. “10 Things You May Not Know About ‘Typhoid Mary'”. History. Online. Published 27 MAR 2015. Access 25 MAR 2020. <https://www.history.com/news/10-things-you-may-not-know-about-typhoid-mary>

Nathan Mannion. “Typhoid Mary: The Irishwoman blamed for bringing a deadly disease to New York”. Irish Times. Online. Published 25 MAR 2020. Access 25 MAR 2020. <https://www.irishtimes.com/life-and-style/abroad/typhoid-mary-the-irishwoman-blamed-for-bringing-a-deadly-disease-to-new-york-1.4210229>

“Mary Mallon (1869-1938) and the history of typhoid fever”. NCBI. Online. Access 25 MAR 2020. <https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3959940/>

Veronique Greenwood. “The Frightening Legacy of Typhoid Mary”. Smithsonian. Online. Published MAR 2015. Access 25 MAR 2020. <https://www.smithsonianmag.com/history/the-frightening-legacy-of-typhoid-mary-180954324/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2563