ไทยประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” มาแล้วกี่ครั้ง?

"พฤษภาทมิฬ 2535" ประชาชนชุมนุมกันบริเวณสะพานผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 (Photo by FRANCIS SILVAN / AFP)

“สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร หรืออันอาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน รัฐจึงมีความจำเป็นต้องใช้ “กฎหมาย” ในการควบคุมสังคมให้สงบ

สถานการณ์ฉุกเฉินในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีอยู่ 2 สถานการณ์สำคัญคือ สงครามและการก่อจลาจล หลังสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีสถานการณ์ฉุกเฉินมากยิ่งขึ้น เช่น คอมมิวนิสต์ การก่อความไม่สงบ และการชุมนุมทางการเมือง

Advertisement

โดยนับตั้งแต่อดีต รัฐได้ใช้กฎหมายฉบับต่าง ๆ เพื่อควบคุมบ้านเมืองให้สงบในภาวะคับขับ ไล่เรียงตั้งแต่ กฎหมายตราสามดวง, กฎอัยการศึก ร.ศ. 126, พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457, พระราชบัญญัติมอบอำนาจให้รัฐบาลในภาวะคับขัน พ.ศ. 2484, พระราชบัญญัติให้อำนาจในการป้องกันประเทศในภาวะสงคราม พ.ศ. 2488 และพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 เป็นต้น

แต่คำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” พึ่งปรากฎเป็นชื่อกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2495 จากการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 ซึ่งนับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว 8 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ กิ่งอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง อำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 เนื่องจากสถานการณ์ที่มีกองโจรจีนจากสหพันธ์รัฐมลายู เดินทางเข้าออกและมาหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศไทย ได้เกลี้ยกล่อมเชิงบังคับให้ประชาชนในท้องที่สนับสนุนทางการเงิน เสบียงอาหาร และแจ้งความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐให้พวกโจรจีนทราบ

ครั้งที่ 2 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน เลย หนองคาย อุดรธานี นครพนม และอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2496 เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านมีภาวะไม่สงบและมีการรบราฆ่าฟันกันมานาน

ครั้งที่ 3 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สกลนคร และศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2496 ซึ่งเป็นประกาศพื้นที่เพิ่มเติมจากสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านมีภาวะไม่สงบก่อนหน้านี้

ครั้งที่ 4 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัด ตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2501 เนื่องจากสถานการณ์ของโจรตามจังหวัดชายแดน ทำการปล้นสดมภ์ทรัพย์สิน และทำร้ายประชาชน

ครั้งที่ 5 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 เนื่องจากสถานการณ์การก่อเหตุความไม่สงบ มีการเผาทำลายทรัพย์สินทางราชการและประชาชน ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และก่อวินาศกรรม หรือเรียกกันว่า เหตุการณ์จลาจลพลับพลาไชย

ครั้งที่ 6 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เนื่องจากปรากฏว่ามีบุคคลบางกลุ่มได้ก่อความไม่สงบขึ้นในกรุงเทพฯ หรือเหตุการณ์กบฏทหารนอกราชการ

ครั้งที่ 7 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เนื่องจากสถานการณ์ที่มีกลุ่มก่อความไม่สงบขึ้นในจังหวัดภูเก็ต กระทบสวัสดิภาพและทรัพย์สินของประชาชน

ครั้งที่ 8 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535”

ต่อมา ราว พ.ศ. 2548 รัฐบาลในสมัยนั้นเห็นว่าพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 เป็นกฎหมายเก่า ใช้มานานแล้ว เห็นสมควรปรับปรุงเสียใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัย จึงได้มีการตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขึ้นทดแทนกฎหมายเดิม ซึ่งนับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว 7 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เนื่องจากสถานการณ์กลุมบุคคลกอความไมสงบและกอการรายขึ้น

ครั้งที่ 2 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พันธมิตรฯ)

ครั้งที่ 3 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ และอําเภอบางพลี และอําเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยกลุ่มพันธมิตรฯ เข้ายึดทาอากาศยานดอนเมือง และทาอากาศยานสุวรรณภูมิ

ครั้งที่ 4 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552 เนื่องจากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บุกเข้าไปในบริเวณการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 14

ครั้งที่ 5 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอบางบอ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแกว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังนอย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.

ครั้งที่ 6 สืบเนื่องจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งก่อนหน้า ซึ่งได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง นครสวรรค์ น่าน ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา และศรีษะเกษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ต่อมารัฐออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 3 เพิ่มพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี หนองบัวลำภู มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และสกลนคร เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 4 เพิ่มพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และมุกดาหาร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ครั้งที่ 7 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

 


อ้างอิง :

วสันต์ ชมภูศรี. (2559). การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน. วิทยานิพนธ์ (น.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2563