พระไภษัชยคุรุ-พระหมอยา ที่มาพระกริ่งทั้งหลาย และพระกริ่งปวเรศ

พระพุทธเจ้า 3 องค์ พระประธานในอุโบสถวัดมังกรกมลาวาส (ซ้าย) พระอมิตาภะ, (กลาง)พระศากยมุนี (ขวา) พระไภษัชยคุรุ (ภาพจากหนังสือประวัติมังกรกมลาวาส และประวัติคณะสงฆ์จีนนิกาย)

พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ตามคติที่ว่า “พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีจำนวนมากมายดุจเมล็ดทรายในคงคา นที  และในจักรวาลอันเวิ้งว้างนี้ ก็มีโลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติแสดงพระสัทธรรมเทศนาอยู่ทั่วไปนับประมาณมิได้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เช่น ปัจจุบันโลกธาตุของเราว่างจากพระพุทธเจ้ามา 2 พันกว่าปี แต่ในขณะนี้ ณ โลกธาตุอื่นก็มีพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ทรงดำรงพระชนม์อยู่ และกำลังสั่งสอนสรรพสัตว์  โลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัตินั้น บางทีเรียกว่า พุทธเกษตร” [1]

ซึ่งพระพุทธเจ้าหลายพระองค์นั้นมี “พระไภษัชยคุรุ” พระพุทธเจ้าที่เป็นที่มาพระกริ่งทั้งหลาย

พระไภษัชยคุรุ เมื่อยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งปณิธาน 12 ประการ ที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกายและใจ ทั้งให้มีชีวิตยืนยาว บางครั้งจึงเรียกพระองค์ว่า พระหมอยา หรือ เอี๊ยะซือฮุก ฯลฯ

ในประเทศจีนราว พ.ศ. 1158 พระถังซำจั๋งนำคัมภีร์ “ไภสัชยาคุรุไวฑูรยประภาคตสูตร” ที่ว่าการบูชาพระไภษัชยคุรุเพื่อให้หายป่วยจากโรคต่างๆ เพื่อแปลเป็นภาษาจีน ต่อมาสมัยราชวงศ์ถัง พระไภษัชยคุรุได้รับการยกย่องเทียบเท่าพระศากยมุนี และมีการสร้างประติกรรมรูปเคารพทั้งแบบยืนและนั่ง หากส่วนใหญที่มีในเมืองไทยมักเป็นแบบนั่ง คือ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ บนพระหัตถ์ถือหม้อน้ำมนต์ [2] หรือเจดีย์เก็บตำรายา  (แบบหลังพบมากในวัดจีนเมืองไทย)

ความเชื่อเรื่องพระไภษัชยคุรุแรกเข้ามาในเขมร ดังในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยทรงสร้างโรงพยาบาล หรือ อโรคยศาลาในอาณาจักรของพระองค์ ซึ่งปัจจุบันอโรคยศาลาบางแห่งนั้นอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อุทิศถวายพระไภษัชยคุรุ เพื่อรักษาคนทั่วไป[3]  ความเชื่อดังกล่าวแผ่ขยายเข้ามาในประเทศไทยภายหลัง

พระกริ่งปวเรศ (ภาพจาก wikimedia.org)

นั่นคือประวัติพระไภษัชยคุรุอันเป็นที่มาการสร้างพระกริ่งปวเรศ พระกริ่งสำคัญของประเทศไทย ที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2425  มีพุทธลักษณะดังนี้
“องค์พระขนาดเล็ก 2 นิ้ว พระองค์มีสีเหลืองอ่อนเพรียวบางได้สัดส่วน แต่งกายอย่างนักบวชไม่สวมเครื่องประดับ พระศอไม่คล้องลูกประคำ ครองจีวรห่มเฉียงเปิดอังสาขวา ขอบจีวรเรียบไม่มีตุ่มไข่ปลา พระหัตถ์ขวาแสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำมนต์…” [2] และทุกองค์มีจารึกอักษร “ปวร”

โดยเชื่อในพุทธคุณเช่นเดียวกับพระไภษัชยคุรุ เพราะพระกริ่งคือพระไภษัชยคุรุที่มีขนาดเล็กลง  พระกริ่งปวเรศจึงมีอํานาจพุทธคุณด้านบําบัดโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด แคล้วคลาด เมตตามหานิยม นอกจากนี้พระหัตถ์ซ้ายพระกริ่งปวเรศถือหม้อน้ำมนต์ จึงทําให้มีอํานาจพุทธคุณในการทําน้ำพุทธมนต์โดยการนําพระกริ่ง แช่ในน้ำเพื่อให้น้ำนั้นเป็นน้ำพุทธมนต์ ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระกริ่งปวเรศนี้ทําน้ำพุทธมนต์ที่ใช้ในพิธีมุรธาภิเษก [2]

เชิงอรรถ

[1] เว็บไซต์ วัดโพธิ์แมนคุณาราม ค้นหาเมื่อ 18 มีนาคม 2563

[2] ธนุตม์ ธรรมพิทักษ์. รูปแบบความเชื่อของพระกริ่งที่พบในประเทศไทย, สารนิพนธ์ศิลปศาสตรมาหบัณฑิต มหาวิทยาศิลปากร พ.ศ. 2547

[3] เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป. ลัทธิของเพื่อน, ที่ระลึกในงานฌษปนกิจศพ นางสางศรี อมาตยกุล 21 มกราคม 2503


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 18 มีนาคม 2563