วิถี “โฮเซ ริซัล” ฮีโร่แห่งชาติฟิลิปปินส์ ผู้นำความคิดปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม

(ซ้าย) ภาพถ่าย โฮเซ ริซัล [public domain] (ฉากหลัง) พิธีในวาระครบรอบ 106 ปี โฮเซ ริซัล ที่มะนิลา เมื่อ 30 ธ.ค. 2012 (ภาพจาก NOEL CELIS / AFP)

สำรวจวิถีแบบ “โฮเซ ริซัล” ฮีโร่แห่งชาติฟิลิปปินส์ ผู้นำความคิดปลดแอกจากสเปน เจ้าอาณานิคม ซึ่งการปกครองของสเปน กระทบต่อวิถีชีวิตชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์

ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ประเทศตะวันตกต่างล่าอาณานิคมและเข้าปกครองประเทศต่างๆ ที่พวกเขาอ้างว่า “ด้อยกว่า” สำหรับภูมิภาคเอเชียนับได้ว่าเป็นพื้นที่อาณานิคมของประเทศตะวันตกเกือบทั่วภูมิภาค ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมเต็มไปด้วยการกดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ และถูกกระทำจากเจ้าอาณานิคมเสมือนคนต่างชั้น ภายใต้สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดความไม่พอใจ โกรธแค้น จนกลายเป็นการลุกฮือต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมผู้ปกครอง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการลุกฮือของคนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านเจ้าอาณานิคมจะทำได้โดยปราศจากผู้นำขบวนการ หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ปลุกกระตุ้นให้มวลชนเกิดความรู้สึก หรือสำนึก(ชาตินิยม) ผู้นำขบวนการเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วมักจะได้รับการสรรเสริญยกย่องและกลายเป็นวีรบุรุษของชาติในเวลาต่อมา ดังปรากฏวีรบุรุษของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เป็นผู้นำต่อต้านเจ้าอาณานิคม เช่น มหาตมะ คานธี ในประเทศอินเดีย, โฮจิมินห์ ในประเทศเวียดนาม, อูอองซาน ประเทศพม่า และโฮเซ ริซัล ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น

สำหรับฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคมสเปนซึ่งปกครองนานกว่า 350 ปี การปกครองเป็นไปอย่างเข้มงวด สเปนได้ประโยชน์จากการปกครองฟิลิปปินส์อย่างมหาศาลด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของฟิลิปปินส์ที่อำนวยต่อการค้าทางขายทางทะเล นำสินค้าจากเอเชียผ่านเมืองท่ามะนิลาข้ามไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก

การปกครองของสเปนในฟิลิปปินส์แม้จะส่งผลกระทบต่อชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์อย่างมาก รูปแบบการปกครองดังกล่าวได้หล่อหลอมให้เกิดกลุ่มคนที่เป็นแกนนำทางความคิดจนเกิดการลุกฮือต่อต้านสเปนอย่าง “โฮเซ ริซัล” ขึ้นมา

“โฮเซ ริซัล” (Jose Rizal – Mercado Y Alonso) เกิดเมื่อค.ศ. 1861 เป็นคนเลือดผสม มีสายเลือดถึง 4 เชื้อสายปนอยู่ทั้งจีน สเปน ญี่ปุ่น และตากาล็อก ครอบครัวริซัล พื้นฐานทางครอบครัวมีฐานะค่อนข้างร่ำรวย และจัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของฟิลิปปินส์ซึ่งด้อยกว่ากลุ่มชาวสเปน แต่ยังถือว่าจัดอยู่ในชนชั้นที่เหนือกว่าคนพื้นเมือง ครอบครัวริซัลเช่าที่ดินพระเพื่อทำมาหากิน แต่เป็นพระที่ “รังแก” ครอบครัวเขา จับพ่อแม่ของริซัลเข้าคุก ทำให้ริซัล โกรธแค้นอย่างมาก

เนื่องจากครอบครัวริซัล ค่อนข้างร่ำรวยและอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำฟิลิปปินส์ ริซัลจึงได้รับการศึกษาที่ดี เข้าเรียนที่ Atenio de Manila ของคณะพระเยซูอิตและมหาวิทยาลัยซานโตโทมัส (Santo Thomas) ของคณะพระโดมินิกันในกรุงมนิลา นอกจากนี้ในปี 1879 เขาได้ไปศึกษาต่อในวิชาแพทย์และปรัชญาที่ประเทศสเปน

เมื่อริซัล เข้าไปอยู่ในสเปนทำให้เขาได้พบกับนักคิดหัวก้าวหน้าหลายต่อหลายคน เช่น มาเซโล เดล พิลาร์ ปัญญาชนชั้นนำของฟิลิปปินส์ผู้ก่อตั้งขบวนการกู้อิสรภาพของฟิลิปปินส์ และได้รับอิทธิพลลัทธิเสรีนิยมจากเดล พิลาร์ อีกทั้งยังพบเห็นสภาพสังคมสเปนที่แตกต่างจากสภาพสังคมของฟิลิปปินส์อย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ริซัล ยังเดินทางไปในหลายประเทศในยุโรปทั้งเยอรมนี อังกฤษ ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลีและฝรั่งเศส เขาได้เห็นสภาพสังคมของประเทศเหล่านี้จึงเกิดการเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์บ้านเกิดซึ่งแตกต่างกันมาก และนี่ก็กลายเป็นปีศาจหลอกหลอนริซัลตลอดมา อีกแง่มุมหนึ่งมันทำให้ริซัลได้เห็นความล้าหลังและขาลงของสเปนที่เป็นอนุรักษ์นิยมเพราะเขาเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปที่พบเห็นซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าสเปนไปมากแล้ว

ริซัล ซึ่งมีความเกลียดชังสเปนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อได้เดินทางไปในยุโรปจึงเป็นการเปิดหูเปิดตาได้เห็นความคิดของชาวยุโรปสมัยใหม่ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากต่อต้านพวกสเปนในฟิลิปปินส์ เขาจึงเขียนนิยายเรื่องยาวขึ้นมาสองเรื่องเพื่อกระตุ้นให้ชาวฟิลิปปินส์เห็นถึงความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรมจากสเปนที่ปฏิบัติต่อฟิลิปปินส์ นวนิยายสองเรื่องที่ว่านั้นคือ “Noli Me Tangere” (อันล่วงละเมิดมิได้) และ “El Filibusterismo” (การกบฏ)

“Noli Me Tangere” (อันล่วงละเมิดมิได้) เขียนเป็นภาษาสเปนตีพิมพ์เมื่อปี 1887 ในนครเบอร์ลิน เยอรมนี ริซัล ฉายภาพสังคมฟิลิปปินส์ที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การหลอกลวงจากพระสเปน และความเชื่อในไสยศาสตร์อย่างหลงงมงายของชาวฟิลิปปินส์ เขาวิจารณ์สังคมฟิลิปปินส์ว่าไม่สามารถรับมือและทนทานต่ออิทธิพลเสรีนิยมได้ นับวันสภาพยิ่งแย่ลงเหมือนกับสังคมเป็นโรคมะเร็ง และยังวิจารณ์คนฟิลิปปินส์อีกว่า เชื่อศาสนามากเกินไป

นวนิยายเรื่องที่สอง “El Filibusterismo” (การกบฏ) ตีพิมพ์เมื่อปี 1891 ที่ประเทศเบลเยียม นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องต่อจากเรื่องแรก เขาเล่าเรื่องโดยชี้ให้เห็นว่าการใช้กำลังในการต่อสู้เพื่อเอกราชอาจไม่ได้ผลเสมอไป ดังในนวนิยายที่ตัวเอกของเรื่องพยายามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนถูกฆ่าตาย ทั้งนี้ ริซัลเป็นปัญญาชนเขาจึงเชื่อว่าชัยชนะจะต้องมาจากการตอบโต้ด้วยปัญญาเพื่อสร้างความเข้าใจรวมกันของทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะปฏิวัติ เขาต้องการให้คนฟิลิปปินส์ได้เรียนหนังสือกันก่อน

เมื่อนวนิยายทั้งสองเล่มถูกตีพิมพ์ออกมา พวกพระสเปนในฟิลิปปินส์พยายามปิดกั้นไม่ให้นวนิยายสองเรื่องนี้เข้ามายังฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะมันเล็ดลอดเข้ามาจนได้ อย่างไรก็ตาม นวนิยายดังกล่าวก็ไม่ได้แพร่หลายมากนัก กลุ่มที่เข้าถึงส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนซึ่งมีจำนวนไม่มาก ดังนั้น ความเข้าใจว่าริซัล มีสถานะเป็นวีรชนของคนฟิลิปปินส์ทั้งประเทศในช่วงเวลานั้นอาจไม่ได้เป็นไปตามสภาพนั้น แต่ริซัล ยังเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการกระตุ้นความคิดให้กับปัญญาชนเหล่านี้ให้มีความสำนึกคิดทางสังคมและการเมืองขึ้น

ริซัล กลับมาฟิลิปปินส์ในปี 1892 เขาได้ตั้งสมาคม “Liga Filipina” ขึ้นมาเพื่อรวมหน่วยงานต่างๆ ในฟิลิปปินส์ให้เป็นหนึ่งเดียวโดยจะส่งเสริมการเกษตร การค้าขาย และการศึกษา สมาชิกส่วนใหญ่ในสมาคมนี้เป็นปัญญาชน เมื่อสมาคมนี้ตั้งขึ้นเพียง 4 วัน ริซัล ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะดาปิตาเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ตั้งสมาคมต่อต้านสเปนและมีหนังสือนวนิยายของตนเองไว้ในครอบครอง สมาคมดังกล่าวต้องยุบลง

ขณะเดียวกันที่คิวบาซึ่งเป็นอาณานิคมที่สร้างความร่ำรวยให้กับสเปนเกิดการกบฏลุกฮือขึ้นซึ่งสเปนเป็นกังวลอย่างมากว่าจะลุกลามมาในฟิลิปปินส์ ด้านริซัล ผู้มีความรู้ทางการแพทย์ เหล่าพรรคพวกของเขาวิ่งเต้นให้ริซัลได้ออกจากเกาะไปทำงานการแพทย์ในคิวบา ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1896 ริซัลได้รับการอนุมัติให้เดินทางโดยเรือไปคิวบา แต่เขาพลาดไปไม่ทันเพราะเรือลำดังกล่าวออกไปก่อนเพียงหนึ่งวัน

ในเวลานี้สมาชิกเก่าในสมาคม Liga Filipina อย่าง “อันเดรส โบนิฟัสซิโอ” ได้ก่อตั้งสมาคม “คาติปูนัน” โดยตั้งเป็นสมาคมลับ มีแผนใช้อาวุธลุกฮือต่อต้านสเปนเหมือนกับคิวบา โบนิฟัสซิโอ ผู้นี้เป็นชาวพื้นเมือง ถือกำเนิดในถิ่นคนยากจน เขาทำงานเดินเก็บกระดาษ กระป๋อง และขวดต่างๆ เพื่อขายเลี้ยงชีพ ไม่ได้ศึกษาระดับสูง แต่ยังมีความสนใจเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิวัติ ทำให้เขาอ่านหนังสือจำนวนมาก เขาเป็นคนพื้นเมืองจึงใช้ประโยชน์จากจุดเด่นเป็นเครื่องมือรวมพลและปลุกระดมชาวฟิลิปปินส์

แต่ริซัลไม่เห็นชอบกับวิธีนี้ ริซาล ปฏิเสธคำขอความร่วมมือในการปฏิวัติสเปนที่โบนิฟัสซิโอ ส่งผ่านคนมาทาบทาม เพราะไม่เห็นด้วยในการใช้กำลังกบฏต่อสเปน ทั้งนี้ริซัลเดินทางจากเกาะดาปิตาถึงมะนิลาเมื่อ 6 สิงหาคม 1896 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากเรือ เขาจึงถูกกักตัวไว้บนเรือรบสเปนเป็นเวลาหนึ่งเดือน

30 สิงหาคม กองกำลังของโบนิฟัสซิโอ บุกเข้าโจมตีคลังอาวุธของสเปนในกรุงมะนิลา การปฏิวัติได้แพร่ไปทั่ว พวกบาทหลวงเกิดความตื่นตระหนกและได้หาแพะรับบาปในการปฏิวัติลุกฮือครั้งนี้ซึ่งก็คือริซัล

ในวันที่ 3 กันยายน ริซัลเดินทางโดยเรือออกจากมะนิลาและถึงบาเซโลนาของสเปนในวันที่ 3 ตุลาคม ช่วงนี้การปฏิวัติได้กระจายไปทั่วฟิลิปปินส์แล้ว และมีคำสั่งทางโทรเลขจากฟิลิปปินส์ไปยังสเปนให้จับตัวริซัลไว้ ทำให้เขาต้องถูกจำคุกในสเปนถึงสองเดือน และถูกส่งกลับฟิลิปปินส์ในวันที่ 3 ธันวาคม

ริซัลถูกขังไว้ที่ Fort Santiago ในกรุงมะนิลา วันที่ 12 ธันวาคม ถูกสั่งให้ขึ้นศาลไต่สวนดำเนินคดี การไต่สวนมีขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม และริซัลถูกตัดสินประหารชีวิต อีกสี่วันต่อมาคือวันที่ 30 ธันวาคม ช่วงเช้าตรู่วีรบุรุษปัญญาชนแห่งฟิลิปปินส์ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า

แม้ริซัล จะเลือกต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างปัญญาชนแต่มันก็ไม่ได้หยุดยั้งความตายที่เขาไม่ได้กำหนดเองได้ ความตายของเขากลายเป็นตำนานที่คนฟิลิปปินส์จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ ก่อนตายเขาสารภาพบาปอย่างคาทอลิกโดยบาทหลวงเยซูอิตทำพิธีให้ แม้จะผิดวิสัยของเขาที่ไม่ค่อยนับถือศาสนาสักเท่าไหร่และต่อต้านศาสนจักร แต่นี่คงเป็นเพราะริซัล ห่วงถึงคนข้างหลังเขาที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งพี่น้องร่วมท้อง และพ่อแม่ที่แก่ชราให้ปลอดภัยจากการทำร้ายโดยศาสนจักรที่มีอำนาจล้นฟ้า

อีกเรื่องหนึ่งในช่วงสุดท้ายของชีวิตริซัลคือเขาทำการแต่งงานทางศาสนาอย่างรวบรัดภายในคุกกับหญิงสาวชาวไอริช ชื่อ “โจเซฟีน แบร็กเคน” (Josephine Bracken) ซึ่งพบและอยู่ด้วยกันในช่วงที่ริซัล ถูกเนรเทศไปอยู่บนเกาะ เรื่องนี้ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าผิดวิสัยของริซัล ที่ไม่ยอบรับอำนาจรัฐและศาสนาจักรมาก่อน แต่ครั้งนี้กลับยอมรับ หลายฝ่ายคาดกันว่าคงเป็นการสละเกียรติภูมิของนักปฏิวัติเพื่อหญิงสาวที่รักของเขา พิธีแต่งงานจึงเกิดขึ้นก่อนการถูกประหารชีวิตไม่กี่ชั่วโมง

วาระสุดท้ายแห่งชีวิตของนักปฏิวัติ วีรบุรุษ หรือบิดาแห่งเอกราชฟิลิปปินส์ “โฮเซ ริซัล” ได้เขียนบทกวีสุดท้ายด้วยภาษาสเปน ขนาดความยาว 14 บาท เป็น “บทกวีอำลาตาย” ชื่อ “mi ultimo adios” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “My Last Farewell” เขาซ่อนไว้ในตะเกียงและส่งมอบให้น้องสาวชื่อ “ทรินิแดน” นำออกไปจากคุก ตัวอย่างบทกวีที่แปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “การอำลาครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้า” (แปลโดย ตวงพร สมสมัย, ขนิษฐา สุวรรณรุจิ, รัชฎา ตั้งตระกูล และประวิตร โรจนพฤกษ์) ความว่า

“ลาก่อนปิตุภูมที่แสนรัก   ถิ่นพำนักอ้อมกอดสุริย์ฉาย

ดุจไขมุกส่องแสงเจิดประกาย   ขจรจายทั่วแคว้นแดนไกล

ด้วยความยินดีระคนเศร้า   ข้าพเจ้าขอน้อมยอมถวาย

ชีวิตนี้เพื่อชาติทั้งใจกาย   สุขสบายทั่วกันนิรันดร

ท่ามกลางสนามรบที่เข่นฆ่า   ปวงประชาพลีชีพเป็นอนุสรณ์

แม้อยู่ถิ่นฐานใดไม่อาวรณ์   ยอมม้วยมรณ์เพื่อแผ่นดินถิ่นบิดา

ปรารถนาดวงวิญญาณขอลาก่อน   เมืองบิดรจรจาดไกลในไม่ช้า

แสนปราโมทย์ยินดีเอ่ยคำลา   เพื่อนำมาซึ่งผาสุกของแผ่นดิน

ชีวิตนี้อุทิศมอบตอบแทนชาติ   แม้วายวาดม้วยมลายไม่ถวิน

ใต้ผืรทิฆัมพรและธรณินทร์   ดวงชีวินสู่สงบพบนิรันดร์”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

โฮเซ ริซัล. อันล่วงละเมิดมิได้. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548. แปลโดย จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. ฟิลิปปินส์ ริซัล, บอนนิฟาซิโอ, อากินาลโด ใตรคือวีรชนของฟิลิปปินส์?. ใน สุชาติ สวัสดิ์ศรี และชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. วิรชนเอเชีย : ASIAN HEROES. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบรเวณศึกษา 5 ภูมิภาค. หน้า 149 – 175.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2563